xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยกินหวานเกินมาตรฐาน 3 เท่า สธ.เตรียมคลอดสูตรขนมไร้น้ำตาลมิ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โฆษก สธ.ชี้ คนไทยกินน้ำตาลฟุ่มเฟือย เกินมาตราฐาน 3 เท่า เฉลี่ยคนละ 29.6 กก./ปี หรือวันละ 20 ช้อนชา น้ำตาลขึ้นราคาถือเป็นโอกาสดีทำให้คนไทยบริโภคน้ำตาลน้อยลง พร้อมคิดสูตรขนมปราศจากน้ำตาล เกลือ ไขมัน เตรียมขึ้นทะเบียนอาหาร อย.ผลิตออกขายท้องตลาด มิ.ย.นี้ รวมถึงสูตรขนมไทย 10 ชนิด ลดน้ำตาล 20-25% กินอิ่ม ได้แคลอรี่ไม่เกิน 50

นายสง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการ กรมอนามัย และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงปัญหาน้ำตาลขึ้นราคาว่า การที่น้ำตาลขึ้นราคาส่งผลกระทบ ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ปรับราคาสูงขึ้นตามไปด้วย แต่อยากให้มองในเชิงบวกมากกว่า ว่า เป็นเรื่องที่ดีที่คนไทยจะได้ลดการบริโภคน้ำตาลลง เพราะจากข้อมูล พบว่า ปัจจุบันคนไทยบริโภคน้ำตาลเกินกว่ามาตรการกำหนด 3 เท่า คือบริโภคน้ำตาลสูง คนละ 29.6 กิโลกรัมต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 20 ช้อนชา ขณะที่ค่ามาตรฐานกำหนดให้บริโภคได้ไม่เกิน คนละ 10 กิโลกรัมต่อปี หรือเฉลี่ย วันละ 6-8 ช้อนชา ซึ่งส่วนใหญ่คนไทยบริโภคน้ำตาลทางตรง โดยการเติมน้ำตาลลงในเครื่องดื่ม กาแฟ โกโก้ และก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น ขณะเดียวกันการบริโภคน้ำตาลทางอ้อมก็เป็นปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะน้ำตาลที่อยู่ในเครื่องดื่มสำเร็จรูป เช่นน้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำสมุนไพรรสหวานจัด รวมถึงขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ และอาหารอื่นๆ ด้วย

“ขณะนี้คนไทยบริโภคน้ำตาลแบบฟุ่มเฟือย ซึ่งน้ำตาลเป็นอาหารที่ไม่มีคุณประโยชน์ ให้เฉพาะพลังงานสูงเท่านั้น ไม่มีสารอาหารที่ร่างกายต้องการ ที่สำคัญร่างกายไม่จำเป็นต้องได้พลังงานจากน้ำตาลเพราะมีอาหารอื่นๆ สามารถให้พลังงานทดแทนได้ เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน เป็นต้น ดังนั้น ปริมาณน้ำตาลที่บริโภคเกินความต้องการของร่างกาย เมื่อใช้พลังงานไม่หมดจะเป็นพลังงานส่วนเกินที่ร่ายการสะสมให้เป็นไขมัน ทำให้เกิดภาวะอ้วน ลงพุงได้ ซึ่งขณะนี้มีคนไทยอ้วนลงพุงแล้ว 10 ล้านคน ที่สำคัญยังเป็นตัวการทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรควิถีชีวิต เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเส้นเลือดอุดตัน เป็นต้น โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ขณะนี้มีคนไทยป่วยสูงถึง 10 ล้านคนเช่นกัน นอกจากนี้น้ำตาลยังเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้ฟันผุในเด็กเล็กด้วย” นายสง่า กล่าว

นายสง่า กล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมอนามัยได้ร่วมมือกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโรงงานอุตสาหกรรมผลิตขนมกรุบกรอบ จำนวน 4 แห่ง คิดค้นสูตรขนมที่ปราศจาก น้ำตาล ไขมัน และเกลือ เพื่อสุขภาพของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มเด็กในวันเรียน ซึ่งสามารถผลิตขนมได้ความสำเร็จ โดยขนมยังมีความอร่อยแม้จะไม่มีน้ำตาล โดยทีมวิจัยอยู่ระหว่างการยื่นขอขึ้นทะเบียนอาหารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คาดว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้ จะสามารถผลิตขนมออกจำหน่ายสู่ตลาดทันที” นายสง่า กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีโครงการศึกษานำร่องผลิตสูตรขนมไทยอ่อนหวาน 10 ชนิด เช่น ถั่วแปป ขนมชั้น ข้าวตู ทองเอก เป็นต้น โดยลดน้ำตาลลงร้อยละ 20-25 เพื่อให้เวลารับประทานในหนึ่งอิ่ม หรือ 1 ครั้ง ร่างกายจะได้มีแคลอรี่ไม่เกิน 50 แคลอรี่ ซึ่งผลการศึกษาเป็นที่น่าพอใจ ทางกรมอนามัยจะมีการเปิดตัวสูตรขนมไทยนี้ภายในเดือนมิถุนายนเช่นกัน และโครงการประชุมได้ผล คนได้สุขภาพ (Healthy Meeting) โดยจัดอาหารว่างระหว่างการประชุมให้เป็นเมนูสุขภาพ ลดอาหารรสหวาน มัน เค็ม ลง เช่น น้ำผลไม้สด นม น้ำเปล่า ผลไม้สดตามฤดูกาล และขนมไทย แทนการดื่มกาแฟ โอวัลติน น้ำผลไม้รสหวานจัด เบเกอรี เป็นต้น

“การรณรงค์เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ควรจะมีมาตรการเชิงรุกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาสธ. ได้พยายามแก้ปัญหาการบริโภคน้ำตาลสูงมากโดยตลอด โดยกรมอนามัยได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการรณรงค์ต่างๆ เช่น โครงการคนไทยไร้พุง โครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เน้นการอบรมการบริโภคอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ซึ่งได้รับความสนใจและความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยทราบว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้มีหนังสือเวียนแจ้งไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ กำหนดให้โรงเรียนในสังกัด ศธ.ห้ามจำหน่ายน้ำอัดลมภายในโรงเรียนโดยเด็ดขาด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก” นายสง่า กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น