xs
xsm
sm
md
lg

กรมอนามัยเตือนเด็กดื่ม “น้ำอัดลม” มาก เสี่ยงฟันกร่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมอนามัยเผยน้ำอัดลมเป็นตัวการทำร้ายฟัน ระบุก่อให้เกิดฟันผุมากที่สุดเมื่อเทียบกับของหวานประเภทอื่นๆ พร้อมแนะผู้ปกครองควรใส่ใจและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่เด็กในการบริโภคอาหาร

นพ.ณรงศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงอันตรายที่เกิดจากการบริโภคขนมหวาน และดื่มน้ำอัดลมซึ่งมีน้ำตาลเป็นส่วนผสมหลักเป็นประจำว่า ปัจจุบันเด็กไทยหันมาบริโภคขนมที่มักมีส่วนผสมของน้ำตาล และแป้งเป็นส่วนผสมหลักแทนการบริโภคผักและผลไม้ ซึ่งการบริโภคขนมดังกล่าวล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคฟันผุทั้งสิ้น เพราะน้ำตาลที่มีอยู่ในน้ำอัดลมส่วนใหญ่เป็นน้ำตาลทราย หรือซูโครส ซึ่งเป็นน้ำตาลที่ก่อให้เกิดฟันผุมากที่สุด เนื่องจากเชื้อโรคฟันผุสามารถเปลี่ยนน้ำตาลซูโครสให้เป็นกลูแคนที่มีลักษณะเหนียวคล้ายกาวทำให้เชื้อจุลินทรีย์เกาะกลุ่มติดแน่นกับผิวฟัน เกิดคราบจุลินทรีย์อย่างสมบูรณ์บนผิวเคลือบฟัน ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดฟันผุได้มากขึ้นหากไม่มีการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีพอ

ทั้งนี้ หากเด็กมีการบริโภคขนมหวานหรือน้ำอัดลมในปริมาณที่มากเกินไปในแต่ละวันจะทำให้เด็กไม่รู้สึกหิวตลอดทั้งวันและไม่ถือว่าสิ่งที่บริโภคเข้าไปนั้นเป็นอาหาร เพราะร่างกายไม่ได้รับสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่และหลากหลายตามที่ร่างการต้องการ เนื่องจากขนม ทอฟฟี่ เยลลี่ น้ำหวาน หรือน้ำอัดลมที่บริโภคนั้นล้วนมีน้ำตาลประกอบในปริมาณมากแทบทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาขนมและเครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดโรคดังกล่าวนั้น น้ำอัดลมนับเป็นเครื่องดื่มที่น่าห่วงมากที่สุด เพราะส่วนประกอบหลักของน้ำอัดลมส่วนใหญ่คือน้ำตาลและน้ำ ดังนั้น เมื่อเด็กดื่มน้ำอัดลม 1 กระป๋อง (ขนาด 325 ซีซี) จึงเท่ากับได้รับน้ำตาลในปริมาณที่เทียบเท่ากับการอมท็อฟฟี่ 17 เม็ดเลยทีเดียว และการดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำยังส่งผลให้เกิดฟันกร่อนตามมาอีกด้วย

ส่วนเด็กที่นิยมบริโภคเยลลี่ขนาด 1 ถ้วยเล็ก ซึ่งมีปริมาณน้ำตาล 26 กรัม ครั้งละ 4-5 ถ้วย ตามด้วยน้ำอัดลม 1 กระป๋องก็จะทำให้เด็กได้รับปริมาณน้ำตาลที่มากเกินความต้องการของร่างกายและเกินกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้บริโภคน้ำตาล ซึ่งรวมถึงน้ำตาลจากทุกแหล่งอาหารไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณพลังงานที่ควรได้รับใน 1 วันคือเด็กเล็กควรบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลไม่เกิน 160 กิโลแคลอรี่ หรือน้อยกว่า 40 กรัมต่อวัน หรือไม่ควรเกิน 8-10 ช้อนชา

“การบริโภคขนมหวานและดื่มน้ำอัดลมยังคงเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงสำหรับเด็ก เพราะเนื่องจากเป็นวัยที่สมควรจะได้รับสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ไม่ใช่เพียงแค่สารอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ผู้ปกครองและครูจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ความรู้แก่เด็กเกี่ยวกับการบริโภคที่ถูกหลักโภชนาการและการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยให้เด็กมีสุขภาพช่องปากที่ดี อันจะเป็นการป้องกันการเกิดโรคฟันผุตามมา” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น