ภาวะโภชนาการเกินในประชากรวัยเด็กถือเป็นภัยคุกคามอนาคตของชาติหนึ่ง ปัจจุบันเด็กไทยร้อยละ 30 จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคอ้วนเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่อ้วนก็ย่อมมีโอกาสป่วยด้วยสารพัดโรค โดยเฉพาะโรคเบาหวานและโรคแทรกซ้อนต่างๆ นานา นำมาซึ่งภาระต่อครอบครัวและประเทศ
ปราการด่านแรกที่จะช่วยป้องกันโรคอ้วนในเด็กได้ก็คือ “โรงเรียน” ซึ่งมีความใกล้ชิดกับเด็ก โดยครูต้องเป็นผู้จัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่เหมาะสม ทั้งการออกกำลังกาย การกินอาหาร และการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในโรงเรียน เพื่อให้เด็กไทยได้มีสุขภาพดี ห่างไกลจากโรคอ้วน และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายวิจัยสุขภาพ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้จัดกิจกรรมให้ชุมชน ผู้ปกครอง ครู และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาภาวะโภชนาการเกินในเด็กร่วมกัน จนก่อเกิดกิจกรรมต่างๆ ขึ้น ดังเช่นโรงเรียนนำร่อง “ลดพุง” ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่สร้างสรรค์และสามารถนำไปขยายผลต่อไปได้
โรงเรียนเทศบาล 5 อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2550 เริ่มต้นโครงการ “หุ่นสวยด้วยมือเรา” และโครงการ “วัดรอบเอว” เบื้องต้นมีการเปิดรับสมัครนักเรียนเข้าร่วมโครงการตามความสมัครใจทำให้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทุกสัปดาห์จะมีการวัดน้ำหนักและส่วนสูงเพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันก็มีกิจกรรมกายบริหารทุกเช้า
นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้เรื่องโภชนาการและการควบคุมอาหาร โดยเน้นให้เด็กทานผัก ผลไม้ ลดขนมหวาน และงดน้ำอัดลมภายในโรงเรียนมาได้ 2-3 ปีแล้ว ตลอดจนเชิญเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาให้ความรู้และชี้ประโยชน์ของการออกกำลังกาย ทำให้เด็กโตที่เริ่มรักสวยรักงามเกิดแรงจูงใจอยากมีหุ่นสวยและสุขภาพดี
โรงเรียนเทศบาล 1 (ห้วยมุด) เทศบาลเมืองนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี เริ่มต้นโครงการ “วิ่งสะสมไมล์” เมื่อปี 2542 และโครงการ ” โภชนาการสำหรับเด็กน้ำหนักเกิน” เมื่อ 2549 แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก แต่สามารถจัดกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพอย่างต่อเนื่องถึง 8 ปี
โครงการวิ่งสะสมไมล์เกิดขึ้นเพื่อให้เด็กได้ออกกำลังกายนอกเหนือจากชั่วโมงพลศึกษาซึ่งมีเพียงสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง โดยหลังเคารพธงชาติจะให้นักเรียนตั้งแถวตอนเรียงหนึ่งต่อกันไป
ทุกชั้นปีแล้ววิ่งวนรอบสนาม 2 รอบ ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีเท่านั้น เฉลี่ยแล้วนักเรียนจะได้วิ่งเป็นระยะทางประมาณ 400 เมตรทุกเช้า เมื่อเฉลี่ยทั้งภาคการศึกษานักเรียนจะได้วิ่งคนละ 35-40 กิโลเมตรต่อเทอม
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมนี้ไม่มีการให้รางวัลเป็นแรงจูงใจ หากแต่มุ่งให้ความรู้ถึงประโยชน์ของการออกกำลังกาย ผลที่ได้คือ นักเรียนมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น กระฉับกระเฉงมากขึ้น แม้กระทั่งนักเรียนที่เป็นโรคหอบหืดหรือโรคหัวใจก็แข็งแรงขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ปกครองของเด็กที่มีโรคประจำตัวไม่ค่อยเห็นด้วยนัก แต่เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันทั้งโรงเรียนทำให้นักเรียนทุกคนอยากร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ และท้ายสุดก็สามารถวิ่งได้เหมือนนักเรียนปกติทั่วไป
โรงเรียนเทศบาล 2 วัดกระพังสุรินทร์ เทศบาลนครตรัง จ.ตรัง ปี 2549 หลักเกิดเหตุการณ์สูญเสียเด็กนักเรียนรายหนึ่งที่รับประทานมากเกินปริมาณ จนหายใจติดขัดและขาดอากาศในที่สุด ทำให้ครูและผู้ปกครองเริ่มตระหนักถึงภัยของโรคอ้วน จึงเป็นที่มาของโครงการจัดการภาวะโภชนาการเกินในเด็ก โดยทางโรงเรียนได้กำหนดมาตรการ 10 ข้อ เพื่อเป็นระเบียบปฏิบัติสำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของหน้าโรงเรียน อาทิ การกำหนดพื้นที่การขาย อาหารและขนมต่างๆ ต้องมีประโยชน์สะอาด ปราศจากสีและสารเคมี ห้ามขายน้ำอัดลม ชา กาแฟ และขนมที่ไม่มีประโยชน์ ใช้น้ำมันที่มีคุณภาพ ใช้ภาชนะที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ฯลฯ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะไม่อนุญาตให้ขายอีกต่อไป
นอกจากนี้ ผู้ค้าต้องเข้าร่วมประชุมกับโรงเรียนภาคเรียนละ 2 ครั้ง เพื่อรับทราบข้อตกลงร่วมกันในการจำหน่ายอาหารและขนมอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ ความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากผู้บริหารโรงเรียนวางมาตรการควบคุมอย่างจริงจัง และบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ค้าที่มีปฏิบัติตามระเบียบมีจำนวนลดลง
โรงเรียนเทศบาล 3 (นาตาล่วง) เทศบาลนครตรัง จ.ตรัง มีโครงการเด่นคือ “เรียนรู้คู่วิจัย-อาหารกับฟันผุ” และโครงการ “ครูกินผัก เด็กก็กินผัก” โดยทางโรงเรียนมีแนวคิดมุ่งแก้ปัญหาที่จุดตั้งต้น คือ ตัวเด็กเอง ด้วยการสร้างนิสัยให้เด็กรักการกินผัก พร้อมกับการชี้ให้เห็นโทษของอาหารหวานและน้ำอัดลมที่มีผลต่อร่างกายและทำให้ฟันผุ โดยมีการจัดอบรมผู้ปกครองเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้แก่เด็กนักเรียน มีการประกวดเล่านิทาน วาดภาพ จัดละครเวที
ส่วนโครงการครูกินผัก เด็กก็กินผัก เป็นการรณรงค์ให้เด็กรักการกินผักและฝึกนิสัยการบริโภคที่ดี โดยขอความร่วมมือจากโรงอาหารและผู้ปกครองของเด็กให้เปลี่ยนเมนูอาหารที่มีผักมากขึ้น และมีกิจกรรมให้ครูกินผักกับเด็กทุกมื้อกลางวันเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจ
โรงเรียนเทศบาล 6 (วัดตันตยาภิรม) เทศบาลนครตรัง จ.ตรัง จ ัดขึ้นมานานกว่า 6 ปี และกวาดรางวัลจากการประกวดเต้นมาแล้วมากมาย เริ่มด้วยการออกกำลังกายทุกเช้าหลังเคารพธงชาติ สำหรับเด็กระดับอนุบาลให้เต้นแอโรบิก 15 นาที แต่สิ่งที่เป็นเสน่ห์และดึงดูดให้เด็กสนใจคือการผสมผสานการออกกำลังกายกับการละเล่นแบบไทยๆ เช่น รีรีข้าวสาร มอญซ่อนผ้า เสือกินวัว ทำให้เด็กสนุกสนานและให้ความร่วมมืออย่างดี
ส่วนเด็กประถมและมัธยมที่มีภาวะโภชนาการเกินให้เดินสลับวิ่ง 5 รอบต่อวัน โดยให้ยืนเป็นวงกลม เด็กผู้หญิงอยู่วงใน เด็กผู้ชายอยู่วงนอก จากนั้นจึงเริ่มเดิน 5 รอบ แล้วค่อยๆ ลดจำนวนเดินเป็น 4 รอบวิ่งเพิ่มอีก 1 รอบ ทำเช่นนี้เรื่อยๆ จนกระทั่งวิ่งได้ทั้ง 5 รอบ ผลก็คือเด็กๆ รู้สึกสนุกสนาน ส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจ และยังทำให้เด็กสามรถเข้าสังคมได้เป็นอย่างดี
โรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา เทศบาลนครภูเก็ต จ.ภูเก็ต นักเรียน 3,000 กว่าคนของโรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญาเป็นเด็กอ้วนมากถึง 14 เปอร์เซ็นต์ ทางโรงเรียนจึงจัดกิจกรรมสร้างสรรค์หลายรูปแบบ โดยเฉพาะการจัดการสภาพแวดล้อมนอกรั้วโรงเรียนที่เต็มไปด้วยร้านค้าสารพัด แต่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังเช่นโครงการ “โรงเรียนอ่อนหวาน” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เน้นให้นักเรียนกินอาหารที่มีรสหวานน้อยลง โดยมีสารวัตรนักเรียนเป็นผู้ตรวจตรากระเป่านักเรียนทุกคนว่านำขนมกรุบกรอบมาโรงเรียนหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาเด็กๆ จะให้ความร่วมมือด้วยดี
ที่น่าสนใจคือ ผู้ปกครองยังได้เข้ามามีบทบาทจัดการโภชนาการของเด็ก โดยชมรมผู้ปกครอง ได้สนับสนุนงบประมาณให้ตั้งสหกรณ์ร้านค้าขึ้นภายในโรงเรียน โดยจะไม่ขายอาหารที่เสี่ยงต่อโรคอ้วนซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทำให้โครงการต่างๆ มีพลังขับเคลื่อนมากขึ้น
โรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว จ.ภูเก็ต กิจกรรมเด่นในการส่งเสริมสุขภาพของโรงเรียนเทศบาลบ้านบางเหนียว นอกจากมุ่งเน้นการออกกำ ลังกายและการดูแลด้านอาหารภายในโรงเรียนแล้ว ยังมีการจัด “เสียงตามสาย” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ โดยจะจัดรายการทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี ตั้งแต่ 16.00 น.เป็นต้นไป มีครูและนักเรียนเป็นผู้จัดรายการ ซึ่งจะนำสาระน่ารู้ด้านสุขภาพหรือข่าวสารจากหนังสือพิมพ์มาบอกเล่าให้นักเรียนฟังระหว่างรอผู้ปกครองมารับกลับบ้าน
ข้อดีของกิจกรรมดังกล่าวทำให้เด็กนักเรียนได้ฝึกฝนการค้นหาเรื่องราวดีๆ มาเล่าสู่เพื่อนนักเรียนด้วยกัน เพิ่มความมั่นใจในการกล้าแสดงออก และได้รับข่าวสารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพอย่างถูกวิธี
โรงเรียนเทศบาลเมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต โครงการเด่นของโรงเรียนนี้มุ่งเน้นเรื่องการลดน้ำตาล ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอ้วน ได้แก่ โครงการ “เปลี่ยนน้ำหวานเป็นน้ำเปล่า” และโครงการ “น้ำตาลไม่เกิน 5% ” โดยหัวใจหลักในการกำหนดมาตรการต่างๆ อยู่ที่เครื่องดื่มในโรงเรียนจะต้องมีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 5% และส่งเสริมให้เด็กดื่มนมจืดหรือดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องกรองน้ำและตู้น้ำดื่มฟรีให้เพียงพอ
นอกจากนี้ยังมีการติดตาม ตรวจตรา และตักเตือนนักเรียนที่ซื้อน้ำอัดลมหลังเลิกเรียนทุกๆ เดือน จะมีน ักเรียนกลุ่ม อย.น้อยเข้าไปตรวจสอบการใช้น้ำตาลของร้านอาหารต่างๆ ซึ่ง พบว่าแต่ละร้านใช้ปริมาณน้ำตาลลดลงเฉลี่ยประมาณเดือนละ 1 กิโลกรัม และผู้ค้าอาหารในโรงอาหารยินดีปฏิบัติตามด้วยเหตุผลว่าสามารถลดต้นทุนในการใช้น้ำตาลลงได้
จะเห็นได้ว่า หากโรงเรียนมีมาตรการกระตุ้นการเสริมสร้างสุขภาพและสามารถประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองและร้านค้าต่างๆ จะช่วยให้ความเสี่ยงต่อโรคอ้วนของเด็กนักเรียนลดลงได้อย่างเป็นรูปธรรม