xs
xsm
sm
md
lg

อย.คุมเข้มโฆษณาอาหารก่อนออกสื่อ สกัดโฆษณาเวอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อย.เข้ม! ออกประกาศหลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร แจงรายละเอียดหลักการและข้อควรปฏิบัติการโฆษณาอาหารก่อนออกสื่อ ระบุคำต้องห้ามโฆษณาอาหาร เน้นย้ำ ห้ามโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณอาหารเป็นเท็จหรือหลอกลวง หากจะโฆษณาสรรพคุณอาหารทางสื่อต่างๆ ต้องขออนุญาต อย.ก่อน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคสกัดโฆษณาเกินจริง อุดช่องโหว่การโฆษณาที่ทำให้เข้าใจผิด

นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร แต่หากประสงค์จะโฆษณาทางสื่อต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่น หรือด้วยวิธีอื่นใด เพื่อประโยชน์ทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ ภาพยนตร์ หรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวให้ อย.พิจารณาอนุญาตก่อน โดยการโฆษณานั้น ต้องไม่เป็นเท็จ หลอกลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญหรือหลงเชื่อโดยไม่สมควร และโฆษณาสรรพคุณเฉพาะตามที่ได้รับอนุญาตในฉลากเท่านั้น หากกล่าวอ้างสรรพคุณนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต จะต้องนำผลการศึกษาวิจัย บทความรู้ หรือข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ มาประกอบการขออนุญาต อีกทั้งแสดงข้อความเลขที่ใบอนุญาตโฆษณาในสื่อที่ได้รับอนุญาตด้วย

รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า อย.ได้กำหนดหลักเกณฑ์ทั่วไปและหลักเกณฑ์เฉพาะ เพื่อควบคุมการโฆษณาให้รัดกุมยิ่งขึ้น สำหรับหลักเกณฑ์ทั่วไปนั้น การใช้ชื่ออาหาร การแสดงภาพประกอบข้อความต้องไม่ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ และต้องถูกต้องตามกฎหมาย โดยข้อความคำโฆษณา หากใช้ คำว่า “ใหม่” “สด” “ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์” “ธรรมชาติ” “ปลอดภัย” ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น การใช้คำว่าใหม่ ต้องเป็นสินค้าใหม่ หรือเริ่มวางจำหน่ายเป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี การโฆษณาที่ทำให้เข้าใจว่าอาหารนั้นมีจำหน่ายทั่วโลก ต้องมีหลักฐานแสดงว่าอาหารนั้นๆ มีจำหน่ายไม่น้อยกว่า 15 ประเทศ ใน 3 ทวีป การนำข้อความรับรองระบบประกันคุณภาพต่างๆ มาประกอบการโฆษณา จะต้องมีหลักฐานว่าได้มีการรับรองระบบประกันคุณภาพจริง และการรับรองนั้นยังมีผลอยู่ขณะทำการเผยแพร่โฆษณา ผลิตภัณฑ์ที่กำหนดให้แสดงคำเตือนบนฉลาก ให้แสดงคำเตือน “อ่านคำเตือนในฉลากก่อนบริโภค” เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหลักเกณฑ์เฉพาะ เช่น ห้ามโฆษณาอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ได้แก่ นมดัดแปลงสำหรับทารก อาหารทารก นมดัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก เป็นต้น เว้นแต่การให้ข้อมูลทางวิชาการเฉพาะแก่แพทย์ พยาบาล ผดุงครรภ์ นักโภชนาการเท่านั้น การให้ข้อมูลต้องไม่แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ใดก็ตามดีกว่า เท่าเทียม หรือคล้ายนมแม่ อาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก ต้องมีข้อความที่แสดงถึงการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือ “อย่าใช้เลี้ยงทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุด” ส่วนนมและผลิตภัณฑ์นมต้องไม่สื่อให้เข้าใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่ม เนื่องจากใช้สำหรับบุคคลทุกเพศทุกวัยและเด็กอายุเกิน 3 ปีขึ้นไป

สำหรับวุ้นสำเร็จรูปและขนมเยลลี่ ให้แสดงข้อความ “เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ไม่ควรบริโภค” ผลิตภัณฑ์เสริม-อาหาร ต้องแสดงข้อความหรือเสียงทางสื่อโฆษณาว่า “ไม่มีผลในการป้องกัน หรือรักษาโรค” รวมไปถึงอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที ระบุ “บริโภคแต่น้อย และออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” เป็นต้น

รองเลขาธิการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหารดังกล่าว ยังระบุข้อห้ามในการ-โฆษณา เพื่อมิให้มีการโฆษณาเกินจริง หรือทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดอีกด้วย ได้แก่ ห้ามนำบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หรือทำให้เข้าใจว่าบุคคลดังกล่าวมาแนะนำ รับรอง หรือเป็นผู้แสดงแบบ ห้ามใช้ข้อความที่เป็นการเปรียบเทียบหรือทับถมผลิตภัณฑ์ของผู้อื่น สำหรับคำที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร เช่น ยอด วิเศษ ดีเลิศ เด็ดขาด มหัศจรรย์ ที่สุดหรือคำอื่นที่มีความหมายเทียบเท่าคำข้างต้น

รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ขอให้ผู้ประกอบการ ผู้โฆษณา ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การโฆษณาอาหารอย่างเคร่งครัด ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.fda.moph.go.th กองควบคุมอาหาร หากมีข้อสงสัยประการใด ติดต่อสอบถามได้ที่ กองควบคุม-อาหาร อย. หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-7206, 0-2590-7098 และ 0-2590-7257 ในวันและเวลาราชการ
กำลังโหลดความคิดเห็น