xs
xsm
sm
md
lg

จากต้นสายถึงปลายทาง (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยังมีสมาธิอีกอย่างหนึ่งคือ สัมมาสมาธิ ซึ่งเป็นสมาธิในองค์มรรค สมาธิประเภทนี้แหละที่เราต้องสนใจศึกษาและพัฒนาขึ้นมาให้ได้ ลักษณะสำคัญของสัมมาสมาธิก็คือ

(๑) ต้องเกิดร่วมกับจิตในฝ่ายกุศลเท่านั้น จะเกิดร่วมกับอกุศลจิตไม่ได้เลย เรื่องของจิตที่เป็นกุศลและอกุศลนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ผู้ใดศึกษาลักษณะของจิตจนจำแนกได้ว่า จิตในขณะใดเป็น กุศลหรืออกุศล จะพบความจริงที่น่าตกใจว่า ในแต่ละวันกุศลจิตเกิดได้น้อย เหลือเกิน แม้แต่ในเวลาที่เราทำบุญ ตักบาตร กระทั่งทำสมาธิและ “วิปัสสนา” จิตก็ยังมักจะมีอกุศลแทรกอยู่ด้วยซ้ำไป ทั้งนี้จิตที่เป็นกุศลจะมีลักษณะรู้ ตื่น เบิกบาน สงบ สะอาด สว่าง เบา อ่อนโยน ไม่ถูกนิวรณ์ครอบงำ คล่องแคล่วว่องไว และรู้อารมณ์อย่างซื่อตรง

(๒)ต้องเกิดร่วมกับองค์มรรคที่ เหลืออื่นๆทั้งหมด จะเกิดโดดๆไม่ได้ เช่น ถ้าขาดสติก็มีสัมมาสมาธิไม่ได้ หรือถ้าขาดสัมปชัญญะหรือสัมมาทิฏฐิก็มีสัมมาสมาธิไม่ได้ เป็นต้น ในขณะที่สมาธิ โดยทั่วไปไม่ต้องเกิดร่วมกับองค์มรรคอื่นๆ เช่นคนที่จดจ่อจะจ้องยิงคนอื่นให้ตาย เขาย่อมมีสมาธิในการยิง แต่ไม่มีสติ ปัญญารู้ทันจิตที่เป็นอกุศลของตน เป็นต้น

(๓) ต้องเป็นความตั้งมั่นของจิตในระหว่างที่รู้อารมณ์ปรมัตถ์เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืออารมณ์รูปนาม จะไปตั้งมั่นในการรู้อารมณ์บัญญัติไม่ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง จิตจะต้องไม่ฟุ้งซ่านคลาด จากอารมณ์รูปนามไปหลงอารมณ์บัญญัติ

และ (๔) ความตั้งมั่นนั้น เป็นความตั้งมั่นอย่างเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่ถลำเข้าไปตั้งจมแช่อยู่กับอารมณ์ที่สติไประลึกรู้เข้า เพราะถ้าถลำก็เป็นการเพ่งอารมณ์หรืออารัมมณูปนิชฌานอันเป็นเรื่องของการทำสมถะ แต่ถ้าไม่ถลำ จิตจะมีลักษณะสักว่ารู้อารมณ์ และสติจะมี ลักษณะสักว่าระลึกรู้อารมณ์ อันเป็นการทำลักขณูปนิชฌานหรือการรู้ลักษณะอันเป็นไตรลักษณ์ของอารมณ์รูปนาม ซึ่งเป็นวิธีของการเจริญวิปัสสนา จิตจะมีสภาพเปรียบเหมือนคนที่ยืนดูละครอยู่นอกเวทีละคร หรือเหมือนคนที่ยืนอยู่ขอบบ่อแล้วมองดูสิ่งของก้นบ่อ

ขอให้เพื่อนนักปฏิบัติสังเกตถ้อยคำสองประโยคต่อไปนี้ให้ดี คือ (๑) “การที่จิตถลำเข้าไปตั้งมั่นเกาะรวมหรือนิ่งแช่อยู่กับอารมณ์” กับ (๒) “การที่จิตมีความตั้งมั่นในขณะที่สติสักว่าระลึกรู้อารมณ์รูปนาม” ถ้าเข้าใจความแตกต่าง ระหว่างถ้อยคำสองประโยคนี้ได้ ก็จะจำแนกมิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิออกจากกันได้

มิจฉาสมาธินั้นจะมีลักษณะที่จิตจดจ่อและถลำเข้าไปรวมอยู่กับอารมณ์อย่างลืมเนื้อลืมตัว โดยไม่คลาดเคลื่อนไปสู่อารมณ์อื่น ส่วนสัมมาสมาธิมีลักษณะที่ทำให้จิตเป็นอิสระจากอารมณ์ อยู่ต่างหากจากอารมณ์ ในระหว่างที่สติสักว่าระลึกรู้อารมณ์รูปนามโดยไม่ต้องจงใจรู้ โดยจิตไม่ถลำเข้าไปเกาะเกี่ยวกับอารมณ์อันเป็นการกระทำด้วยอำนาจ ของตัณหาและทิฏฐิ จิตจึงเป็นมหากุศลจิต และมีลักษณะสักว่ารู้ ไม่หลงรู้และไม่หลงเข้าไปแทรกแซงอารมณ์ และสามารถรู้อารมณ์รูปนามตามความเป็นจริง อันเป็นการเจริญวิปัสสนาได้

สัมมาสมาธิเป็นตัวเปิดทางให้เกิดปัญญารู้ลักษณะของรูปนาม ตามความเป็นจริงได้ พูดง่ายๆ ก็คือสัมมาสมาธิทำให้จิตไม่ถลำเข้าไปรู้ หรือเข้าไปจมแช่ หรือวิ่งตามอารมณ์ที่สติไประลึกรู้เข้า จนไม่สามารถเกิดปัญญาเข้าใจลักษณะอันเป็นไตรลักษณ์ของอารมณ์รูปนามได้ ในขณะที่สมาธิโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นการส่งจิตเข้าไปเพ่งอารมณ์ ซึ่งมักจะเป็นอารมณ์บัญญัติ โดยจิตจะถลำเข้า ไปแช่นิ่งอยู่กับอารมณ์ด้วยแรงผลักดันของตัณหาและทิฏฐิ เช่น เมื่อเกิดความอยากจะอ่านหนังสือ ก็มีสมาธิจดจ่ออยู่กับการอ่านและคิดเรื่องหนังสือนั้น เมื่อเกิดความอยากจะฟังดนตรี ก็มีสมาธิจดจ่ออยู่กับการฟังนั้น เมื่อเกิดความอยากคิด จิตก็จดจ่อและหลงเข้าไปในโลกของความคิด และเมื่อเกิดความอยากจะปฏิบัติธรรม ก็เกิดการส่งจิตไปจดจ่อเพ่งจ้องอารมณ์อันใดอันหนึ่งที่เชื่อว่า การรู้อารมณ์อันนั้น หรือรู้ด้วยวิธีการอย่างนั้นคือการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง เป็นต้น และไม่เพียงแต่เพ่งอารมณ์ บัญญัติเท่านั้น แม้กระทั่งอารมณ์ รูปนาม ก็ยังอุตส่าห์นำมาเพ่งกันจนได้เช่น พอความโกรธเกิดขึ้นในใจก็เอาจิตเพ่งใส่ความโกรธ จิตในขณะนั้นจึงเป็นอกุศลคือมีโมหะ ได้แก่การที่ไม่รู้ทันสภาวธรรม ว่ากำลังหลงเพ่ง และมีโทสะหรือไม่พอใจความโกรธ อยากให้ความโกรธดับไป เป็นต้น หรือบางท่านก็เพ่งกาย คือตรึงความรู้สึกนิ่งไว้กับกายที่เคลื่อน ไหวไปมา สภาวะขณะนั้นจะมีลักษณะกายไหวแต่ใจนิ่งสนิทอยู่ได้นานๆ เป็นต้น

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 91 มิ.ย. 51 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)

กำลังโหลดความคิดเห็น