xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การมีปัญญารู้ลักษณะของขันธ์จนสิ้นตัณหา
เป็นวิธีแตกต่างจากการพยายามควบคุมตนเอง
ไม่ให้ทำตามคำบงการของตัณหา


ครั้งที่ 102 บทที่ 8.ของฝาก
ตอน การคิดใช้เหตุผลเพื่อข่มตัณหา

ถาม หลวงพ่อช่วยอธิบายเรื่องการคิดใช้เหตุผลเพื่อข่มตัณหาด้วยเถอะครับ

ตอบนี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่ขอฝากให้คุณลองไปสังเกตการปฏิบัติของตนเอง ว่ามีการคิดใช้เหตุผลเพื่อข่มตัณหา แทนการรู้ลักษณะของรูปนามจนสิ้นตัณหาหรือเปล่า

การที่คุณเฝ้าดูอิริยาบถ 4 จนเกิดทุกขเวทนาและเกิดความอยากเปลี่ยนอิริยาบถนั้นเป็นประเด็นเรื่องความจงใจปฏิบัติดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ก่อนจะเปลี่ยนอิริยาบถคุณใช้ความคิดพิจารณาว่า "ทำไมจึงต้องเปลี่ยนอิริยาบถ" และ "เมื่อเห็นความจำเป็นต้องเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อแก้ทุกข์จึงค่อยเปลี่ยนอิริยาบถ" นั้น เป็นการรู้อารมณ์-ปรมัตถ์แล้วเจือด้วยความคิดลงไปอีกทีหนึ่งหรือไม่ ตรงจุดนี้ดูไปก็คล้ายกับผู้ปฏิบัติแนวพองยุบนั่นเอง เพียงแต่ต่างกันตรงที่ว่า แทนที่จะบริกรรมถึงอาการทางกายเช่นพองหนอยุบหนอ หรือบริกรรมถึงความรู้สึกทางใจเช่นโกรธหนอ อย่างที่เพื่อนนักปฏิบัติแนวพองยุบทำอยู่ ก็เปลี่ยนจากการบริกรรมเป็นการคิดถึงเหตุผลในการเปลี่ยนอิริยาบถ วิธีการเช่นนี้อาตมาไม่ถนัด สิ่งที่ถนัดก็คือ หากจะรู้รูปก็รู้สภาวะและลักษณะของรูปตามอาการที่ปรากฏไปเลย หากจะรู้เวทนาก็รู้สภาวะและลักษณะของเวทนาตามอาการที่ปรากฏไปเลย หากจะรู้ความอยากเปลี่ยนอิริยาบถก็รู้สภาวะและลักษณะของตัณหาตามอาการที่ปรากฏไปเลย เมื่อใดรู้สภาวะของรูปนามตามความเป็นจริงได้แล้ว เมื่อนั้นจะเห็นไตรลักษณ์แสดงตัวอยู่แล้ว และเพียงเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ 5 ก็น่าจะเพียงพอแก่การละตัณหา โดยไม่จำเป็นต้องเอาความคิดมาใช้สอนจิตให้มีเหตุผลในการเปลี่ยนอิริยาบถ อันเป็นการควบคุมตนเองด้วยเหตุผลเพื่อจะไม่ทำตามอำนาจบงการของตัณหา ทั้งนี้ การมีปัญญารู้ลักษณะของขันธ์จนสิ้นตัณหาเป็นวิธีการอย่างหนึ่ง แตกต่าง จากการพยายามควบคุมตนเองไม่ให้ทำตามคำบงการของตัณหา ซึ่งเป็นวิธีการอีกอย่างหนึ่ง

ถาม
แล้วเรื่องการเอาสติเข้าไปตั้งไว้ในอารมณ์รูปนามล่ะครับ ตรงนี้เป็นวิธีการที่ระบุไว้ในพระไตรปิฎกไม่ใช่หรือครับ ทำไมหลวงพ่อจึงหยิบยกมาเป็นประเด็นตั้งข้อสังเกตด้วย

ตอบนักปฏิบัติจำนวนมากในแทบทุกสำนักนิยมเอาสติเข้าไปตั้งไว้ในอารมณ์ เพราะได้ศึกษาพระไตรปิฎกซึ่งกล่าวไว้ว่า "อุปัฏฐานัฏเฐนะ สติปัฏฐานา อภิญเญยยา" (ขุ.ปฏิ. 31/28) แปลว่า "ชื่อว่าสติปัฏฐานโดยความหมายว่า เข้าไปตั้งไว้ที่อารมณ์ เป็นของควรรู้ยิ่ง" เช่นเมื่อตาเห็นรูป บางท่านก็จงใจเอาสติกำหนดเข้าไปตั้งไว้ที่จิตซึ่งรู้รูป บางท่านเอาสติกำหนด เข้าไปตั้งไว้ที่ประสาทตา บางท่านเอาสติกำหนดเข้าไปตั้งไว้ที่รูป แต่ตามแนวทางของคุณถือว่าต้องเอาสติกำหนดที่จิตซึ่งรู้รูปจึงจะถูกต้อง

อาตมามีความเห็นตรงกับพระไตรปิฎก ที่ว่า หากจะเจริญสติปัฏฐานก็ต้องมีสติ ตั้งไว้ที่อารมณ์ แต่การเจริญสติปัฏฐานนั้นมีทั้งส่วนที่เป็นสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ในส่วนของสมถกรรมฐานนั้นสติจะต้องจดจ่อแนบเคล้าหรือตั้งไว้ที่อารมณ์กรรมฐานอย่างต่อเนื่อง อันเป็นลักษณะของการเพ่งอารมณ์หรืออารัมมณูปนิชฌาน และมีแต่การทำฌานจิตเท่านั้นที่สติจะเกิดซ้ำๆ ต่อเนื่องกันได้ยาวนานพร้อมๆ กับการเกิดฌานจิตจำนวนมาก นี้คือความหมายของคำว่า "สติเข้าไปตั้งไว้ที่อารมณ์" ในเวลา ที่เจริญสมถกรรมฐาน

แต่ถ้าเป็นการเจริญวิปัสสนาแล้ว คำว่า "สติเข้าไปตั้งไว้ที่อารมณ์" น่าจะเป็นคำอธิบายถึงสภาวธรรม 2 ลักษณะ คือ (1) ไม่เผลอ หมายความว่าสติจะต้องระลึกรู้อารมณ์รูปนามโดยไม่หลงคลาดเคลื่อนไปสู่อารมณ์บัญญัติ ไม่เช่นนั้นจิตก็จะตกจากการเจริญวิปัสสนาทันที และ (2) ไม่เพ่ง หมายความว่าสติจะทำหน้าที่จับหรือระลึกรู้อารมณ์รูปนามโดยไม่ได้จงใจ คือไม่มีตัณหาหรือความอยากจะปฏิบัติธรรมนำหน้า และเมื่อจับหรือระลึกรู้รูปนามแล้ว สติก็จะดับไปอย่างรวดเร็วเป็นขณะๆ ตามการเกิดดับของชวนจิตอันเป็นกามาวจรกุศล สติไม่สามารถจะตั้งแช่อยู่กับอารมณ์รูปนามได้นานๆ เพราะเราไม่ได้ทำฌานจิต

แท้จริงแล้วอย่าว่าแต่จะสั่งสติให้ตั้งอยู่กับอารมณ์รูปนามได้นานๆ เลย แม้แต่จะสั่งให้สติเกิดสักเพียงขณะเดียวก็ทำไม่ได้ เพราะสติก็เป็นอนัตตา ต่อเมื่อมีเหตุคือมีสภาวธรรมที่จิตรู้จักจดจำได้ดีแล้วเกิดขึ้น สติจึงจะเกิดขึ้น และเกิดขึ้นเพียง 7 ขณะหรือวับเดียว ชวนจิตและสติที่เกิดร่วมกันนั้นก็จะดับไปด้วยกัน เมื่อจิตจะเกิดขึ้นในวิถีอันใหม่ เราเลือกไม่ได้เสียด้วยซ้ำไปว่าจะให้เกิดทางทวารเดิมที่เราใช้ทำวิปัสสนาอยู่ เพราะปัญจทวาราวัชชนจิตจะกำหนดให้ว่าจิตจะขึ้นสู่วิถีทางทวารตา หู จมูก ลิ้น หรือกาย และแม้จะเกิดทางทวารเดิม แต่จิตจะเกิดสติหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนอีก ต้องแล้วแต่โวฏฐัพพนจิตจะกำหนดให้ ดังนั้นในการเจริญวิปัสสนา เราจึงจงใจเอาสติจับอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่องไม่ได้ ได้แต่รู้ไปตามความเป็นจริงเท่านั้น ไม่เหมือนกับการทำฌานจิตที่จิตจะเกิดทางทวารเดิมและรู้อารมณ์เดิมติดต่อกันได้เป็นเวลานานๆ สติที่เกิดร่วมกับฌานจิตจึงมีลักษณะเหมือนตั้งแช่ไว้ในอารมณ์อย่างเดิมได้นานๆ (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง "หัวใจ กรรมฐาน" ข้อ 6.1.1)

นอกจากนี้ การจงใจเอาสติจดจ่อ แช่ไว้ หรือแนบไว้กับอารมณ์ รูปนามด้วยอำนาจบงการของตัณหา ยังเท่ากับว่าเราใช้อารมณ์นั้นเป็นคุกขังจิต หรือเป็นเครื่องกีดกันไม่ให้จิตทำงานไปตามธรรมชาติ

ธรรมดา แท้จริงแล้วการเจริญวิปัสสนาจะต้องใช้อารมณ์รูปนามเป็นบ้านพักของจิต เรียกว่าเป็นเครื่องอยู่สบายหรือเป็นวิหารธรรม จิตจึงจะสามารถทำงานไปตามธรรมชาติธรรมดาได้ แล้วสติก็มีหน้าที่ระลึกรู้รูปนามอย่างสบายๆ อยู่เนืองๆ

ถาม ผมยังไม่ค่อยเข้าใจครับ

ตอบคุณต้องลองสังเกตดูว่า การที่สติของคุณเข้าไปตั้งในอารมณ์รูปนามนั้นเป็นไปด้วยอำนาจของโลภะ หรือเป็นเพียงแค่สติมีเหตุก็เกิดขึ้นระลึกรู้อารมณ์รูปนามได้โดยไม่ได้จงใจ สองอย่างนี้ไม่เหมือนกันและมีผลไม่เหมือนกันด้วย อันหนึ่งจิตถูกขังไว้ด้วยอารมณ์ อีกอันหนึ่งจิตสักว่ารู้อารมณ์ด้วยความปลอดโปร่งโล่งเบา ไม่มีการควบคุมบังคับทั้งจิตและอารมณ์

ความจริงคุณจะพยายามทำความเข้าใจด้วยการฟังหรือการคิดยังไม่ได้หรอก คุณต้องลองสังเกตสภาวะจริงๆ ดู ลองจงใจเอาสติเข้าไปตั้งไว้ที่อารมณ์ดูสิ คุณจะพบว่านั่นคุณกำลังเกิดการทำงานบางอย่างทางใจด้วยอำนาจของความจงใจหรือความอยากขึ้นแล้ว จิตของคุณก็จะเกิดอาการหนักๆ แน่นๆ แข็งๆ ซึมๆ ทื่อๆ และผิดธรรมดา แต่ถ้าเมื่อใดคุณรู้อารมณ์อย่างคนวงนอก จิตของคุณจะรู้ ตื่น เบิกบาน เบา อ่อน ควรแก่การงาน คล่องแคล่วและรู้อารมณ์ไปอย่างซื่อตรงโดยไม่มีการเข้าไปดัดแปลงจิตและอารมณ์ ถ้าจะกล่าวโดยเปรียบเทียบก็ต้องกล่าวว่า การจงใจเอาสติเข้าไปตั้งไว้ที่อารมณ์ เปรียบเหมือนคุณขึ้นไปดูละครอยู่กลางเวที แต่การสักว่ารู้อารมณ์ เปรียบเหมือนคุณดูละครอยู่นอกเวที ถ้าคุณมองความแตกต่างของสภาวะ 2 อย่างนี้ได้ คุณจึงจะเข้าใจในสิ่งที่อาตมากล่าวได้

ฝากให้คุณไปลองพิจารณาดูก็แล้วกัน อาตมาอาจจะเข้าใจจิตใจของคุณผิดก็ได้

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/
การปฏิบัติตามแนวหลวงพ่อเทียน)
กำลังโหลดความคิดเห็น