xs
xsm
sm
md
lg

ชาร์ลี กับ โรงงานช็อกโกแลต Charlie and the Chocolate Factory ช็อกโกแลตไม่ใช่สิ่งที่หอมหวานเสมอไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในสังคมตะวันตกนั้น เด็กๆกับขนมหวานอย่างช็อกโกแลต เป็นของคู่กัน เพราะยามที่ได้ลิ้มรสช็อกโกแลตอันหวานหอม นั่นคือช่วงเวลาแห่งความสุขของเด็กๆ

แต่สำหรับในภาพยนตร์เรื่องชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต หนังแนวแฟนตาซี สุดพิสดารเรื่องนี้ เด็กน้อย ‘ชาร์ลี’ ที่เกิดมาในครอบครัวบั๊กเก็ต อาศัยอยู่ในบ้านไม้โกโรโกโส มีอาหารประจำคือซุปใสๆที่ต้มกับผักกะหล่ำทุกมื้อนั้น ช็อกโกแลตกลับมิใช่ความสุขและความปรารถนาอันแท้จริง แม้ว่าทุกคืนชาร์ลีจะมองลอดหน้าต่างห้องนอนใต้หลังคา ดูโรงงานช็อกโกแลตขนาดใหญ่ในหมู่บ้าน และฝันว่าสักวันหนึ่งเขาจะได้เข้าไปเยือนโรงงานแห่งนี้ก็ตาม

ปู่ของชาร์ลีซึ่งเคยเป็นพนักงานอยู่ในโรงงานแห่งนี้เล่าว่า ‘วิลลี วองก้า’ เจ้าของโรงงานช็อกโกแลตแห่งนี้เป็นอัจฉริยะในการคิดค้นสูตรช็อกโกแลตที่มีรสชาติแปลกใหม่ไม่เหมือนใครออกมาอยู่ตลอดเวลา รสชาติอันแสนอร่อยของช็อกโกแลตวองก้าได้รับการต้อนรับจากบรรดาผู้นิยมชมชอบช็อกโกแล็ตทั่วโลก จนสามารถขยายเป็นโรงงานผลิตใหญ่โต แต่หลังจากที่โดนขโมยสูตรลับไปผลิตแข่ง วิลลีจึงปิดโรงงาน และไม่เคยมีใครเห็นเขาอีกเลย รวมทั้งไม่เคยมีใครในหมู่บ้าน มีโอกาสเข้าไปทำงานที่นั่นอีก แต่ช็อกโกแลตวองก้าอันแสน อร่อยลิ้นก็ยังคงวางขายอยู่ในท้องตลาด เพราะวิลลีใช้ ‘อูมปา ลูมป้าส์’ ชาวป่าตัวเล็กๆนับพันมาผลิตช็อกโกแลตนั่นเอง

วันหนึ่งวิลลีได้ออกประกาศเชื้อเชิญเด็กโชคดี 5 คนที่พบบัตรทองซ่อนอยู่ในห่อช็อกโกแลต ให้มาชมโรงงานอันสุดแสนมหัศจรรย์ของเขา และในจำนวน 5 คนนี้จะมีเพียงคน เดียวที่จะได้รับรางวัลชนะเลิศ

‘ออกัสตัส กลู๊ป’ เด็กชายอ้วนฉุ ที่กินมูมมามและปากไม่เคยว่างจากอาหารเลยตลอดวัน ตั้งหน้าตั้งตากินช็อกโกแลตวองก้าจนได้เป็นคนแรกที่เจอบัตรทอง คนต่อมาคือ ‘เวรูก้า ซอลท์’ เด็กสาวผมทองลูกสาวคนเดียวของมหาเศรษฐีที่เอาแต่ใจตัวเอง เพราะถูกตามใจจนเคยตัว ส่วนเด็กหญิง ‘ไอโอเล็ด โบรีการ์ต’ ผู้ถูกสอนให้เป็นคนเก่งที่ชอบเอาชนะ เป็นคนที่ 3 ที่เจอบัตรทอง และเธอตั้งเป้าหมายว่าจะต้องชนะในการทัวร์โรงงานช็อกโกแลตครั้งนี้ด้วย ส่วนคนที่ 4 เป็นเด็กสุดไฮเปอร์สติเฟื่อง ‘ไมค์ ทีวี’ ที่เล่นเกมทั้งวันจนกลายเป็นเด็กก้าวร้าว

ขณะที่ชาร์ลีก็ใฝ่ฝันอยากจะเข้าไปเยี่ยมชมโรงงานแห่งนี้ด้วย แต่เขามีโอกาสกินช็อกโกแลตเพียงปีละหนึ่งแท่งในวันเกิดเท่านั้น โอกาสพบบัตรทองจึงไกลเกินเอื้อม แต่ในที่สุด ชาร์ลีก็กลายเป็นเด็กโชคดีคนสุดท้าย เมื่อเขาเจอเงินที่ตกอยู่ข้างถนนและนำไปซื้อช็อกโกแลตวองก้าและเจอบัตรทองใบสุดท้าย ทุกคนในครอบครัวดีใจเมื่อรู้ว่าความฝันของชาร์ลีเป็นจริงแล้ว แต่เมื่อมีคนเสนอขอซื้อบัตรใบนี้ในราคาสูงถึง 500 ดอลลาร์ ทำให้ชาร์ลีตัดสินใจไม่ไป เพราะเขาอยากได้เงินนี้ไปช่วยเหลือครอบครัว ทั้งนี้ก็ด้วยความรักคนอื่นและปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุขนั่นเอง จนคุณตาซึ่งรักและเข้าใจความฝันของหลาน ได้บอกว่า “ทุกๆวันจะมีคนพิมพ์เงินขึ้นมากมาย แค่เดินออกจากบ้านก็สามารถหาเงินได้แล้ว แต่ตั๋วมีเพียง 5 ใบเท่านั้น คนโง่จึงจะยอมแลก” ชาร์ลีจึงตัดสินใจไป

ประตูโรงงานที่เคยปิดตายมานานถึง 15 ปี ได้เปิดขึ้น เพื่อต้อนรับเด็กทั้ง 5 คน พร้อมผู้ปกครองที่ก้าวเดินเข้าไปอย่างตื่นเต้น วิลลีเจ้าของโรงงานนำทุกคนเข้าไปสู่ดินแดน มหัศจรรย์ดั่งเทพนิยาย สภาพในโรงงานเป็นป่าที่มีทุ่งหญ้าเขียวขจี ต้นไม้ออกผลเป็นลูกกวาดหลากสีสัน มีน้ำตกที่เป็นช็อกโกแลตไหลเรื่อยลงมายังลำธารช็อกโกแลต และทุกคนก็ได้พบความลับสุดยอดของโรงงานนี้คือ ‘อูมปา ลูมป้าส์’ ชาวป่าตัวเล็กๆนับพันที่สนุกสนานไปกับการผลิตช็อกโกแลต

ยิ่งเดินลึกเข้าไปความมหัศจรรย์พิสดารของโรงงานก็ยิ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่มาเยือนทุกคน ในขณะเดียวกันเด็กแต่ละคนที่มีนิสัยไม่ดีก็จะได้รับบทเรียน และต้องออกจากโรงงานไปทีละคน เหลือเพียงชาร์ลีซึ่งมีกิริยามารยาทเรียบร้อยกว่าทุกคน ในที่สุดวิลลีได้บอกว่าชาร์ลีคือ ผู้ชนะ และรางวัลที่ได้รับคือการเป็นเจ้าของโรงงานช็อกโกแลตแห่งนี้สืบต่อจากวิลลี

ชาร์ลียิ้มด้วยความดีใจพร้อมกับบอกว่าจะนำครอบครัวของเขามาอยู่ด้วย แต่กลับถูกวิลลีปฏิเสธว่า “คุณไม่อาจดูแลโรงงานช็อกโกแลตได้ โดยมีภาระต้องดูแลญาติแก่ๆ เพราะเจ้าของโรงงานจะต้องทำตามความฝันของเขา โดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์”

“ผมไม่ยอมแลกครอบครัวผมกับอะไรทั้งนั้น แม้แต่ช็อกโกแลตทั้งโลกก็ตาม” แล้วชาร์ลีก็จบความฝันของเขา และกลับไปอยู่กับครอบครัวด้วยความอบอุ่น แต่คำพูดของชาร์ลีได้ไปกระตุ้นความรู้สึกลึกๆบางอย่างของวิลลี อันเป็นผลลัพธ์ที่เขาไม่ได้คำนึงถึง แต่ได้มาพร้อมกับโรงงานช็อกโกแลต และฝังอยู่ในใจเรื่อยมา

เพราะวันหนึ่งชาร์ลีได้มีโอกาสเจอกับวิลลี ซึ่งบอกว่า “ผมทำขนมด้วยความรู้สึก แต่ตอนนี้ผมรู้สึกแย่มากเลยทำให้ขนมแย่ไปด้วย ผลก็คือช็อกโกแลตขายไม่ดี” พร้อมกับถาม ชาร์ลีว่าอะไรที่ทำให้ชาร์ลีมีความรู้สึกที่ดีขึ้น เด็กน้อยตอบทันทีโดยไม่ต้องคิดว่า “ครอบครัวของผม”

เพราะครอบครัวของชาร์ลีนั้น แม้จะยากจน แต่ทั้งปู่ย่าตายายและพ่อแม่ รวมทั้งชาร์ลีเด็กชายตัวน้อย ก็มีความสุข เมื่อได้นั่งกินอาหารพร้อมหน้า พูดคุยเรื่องราวต่างๆ ท่าม กลางบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความรัก

ตรงข้ามกับวิลลี ซึ่งมีชีวิตในวัยเด็กที่ขาดความอบอุ่น เนื่องจากมีพ่อเป็นหมอฟัน จึงบังคับไม่ให้เขากินของหวานโดยเฉพาะช็อกโกแลตที่จะทำให้ฟันผุ เขาจึงกลายเป็นเด็กเก็บกด แม้จะถูกห้ามกินช็อกโกแลต แต่ด้วยความหลงใหล ในรสชาติที่หวานมันอร่อย เขาจึงแอบกินและหาประสบการณ์ใหม่ๆ จากช็อกโกแลตแท่งใหม่ๆเสมอ จนในที่สุดเขาก็ออกจากบ้านเพื่อไปตามหาฝันของตัวเอง ที่อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านช็อกโกแลต และจากวันนั้นเป็นต้นมา เขาก็ไม่เคยพบหน้าพ่ออีกเลย

เรื่องมาจบลงที่ชาร์ลีชวนวิลลีกลับไปบ้านเก่า ณ ที่นั่นพ่อของเขายังคงเป็นหมอฟันที่รอคอยการกลับมาของลูกชาย ในอ้อมกอดของพ่อนั้น วิลลีรู้สึกอบอุ่นอย่างประหลาด เพราะเขาไม่เคยได้รับสัมผัสเช่นนี้มาก่อน ส่วนชาร์ลีผู้ที่มีจิตใจดีงามก็ได้เป็นเจ้าของโรงงานช็อกโกแลตวองก้า ขณะที่วิลลีได้รับสิ่งที่วิเศษกว่านั้น นั่นคือความรักความอบอุ่นในครอบครัว ที่หวานหอมยิ่งกว่าช็อกโกแลตวองก้า

ความสุขในครอบครัว มิใช่ขึ้นอยู่กับการมีีเงินทอง เกียรติยศชื่อเสียงใดๆ แต่ความสุขที่แท้จริงนั้นคือความรักความอบอุ่น ความห่วงใยเอื้ออาทร ความปรารถนาดี และความเข้าใจซึ่งกันและกัน ที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวมีให้แก่กัน

ครอบครัวเปรียบเสมือนเบ้าหลอม หากเบ้าหลอมบิดเบี้ยว ผลที่ออกมาจากเบ้าหลอมนั้น ก็จะผิดรูปร่างไม่สวยงาม ต่างจากเบ้าหลอมสภาพดีที่จะให้ผลออกมาสวยงามดังใจปรารถนา เด็กๆจะเติบโตขึ้นมาอย่างสวยสดงดงามเพียงใด นั้นก็ขึ้นอยู่กับครอบครัวเป็นสำคัญ

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 91 มิ.ย. 51 โดย ปาณี)






กำลังโหลดความคิดเห็น