โลกใบโตกำลังเปลี่ยนไปด้วยน้ำมือคนตัวเล็กๆ แต่พูดไปก็ไม่เห็นภาพ “ญานน์ อารฺตุส-แบรฺทรองด์” ช่างภาพนักอนุรักษ์ชาวฝรั่งเศสจึงขน 120 ภาพถ่ายทางอากาศ ที่กลั่นจากกล้องคู่ใจมาจัดนิทรรศการที่เมืองไทย เพื่อเผยมุมมองที่ต่างออกไปของธรรมชาติ ซึ่งเปี่ยมล้นด้วยเรื่องราวและความสวยงาม
แม้เจ้าตัวจะไม่ได้มาร่วมงานแถลงข่าวด้วย ทว่านิทรรศการขนาดย่อมก็ถูกเนรมิตมาเรียกน้ำย่อยในงานแถลงข่าว โดยความร่วมมือของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย ห้างสรรพสินค้าเซน และบริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 21 พ.ค.51 ณ ศูนย์สรรพสินค้าเซน กรุงเทพฯ
ไฮไลต์ของนิทรรศการคือ ภาพ “หัวใจแห่งเมืองโวห์ นิวคาลีโดเนีย” เกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิก อันเป็นเขตปกครองของฝรั่งเศส พร้อมคำเล่าเรื่องซึ่งเผยให้ทราบว่าแนวป่าโกงกางรูปหัวใจกลางแผ่นดินที่ดูเผินๆ น่าพิสมัย ทว่าความเป็นจริงกลับไม่สวยหรูนัก เพราะคือบริเวณที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง ทำให้ป่าโกงกางไม่อาจงอกเงยได้ จึงหลงเหลือเพียงความแห้งแล้งและผืนดินที่เต็มไปด้วยเกลือ
ขณะที่ภาพถ่ายอื่นๆ ที่นำมาจัดแสดงก่อนถึงวันจริง อาทิ ภาพมหัศจรรย์ของน้ำพุแกรนด์ พริสมาติก สปริงก์ (Grand Prismatic Spring) ในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน รัฐไวโอมิง สหรัฐอเมริกา แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งรองรับนักท่องเที่ยวปีละนับล้านๆ ชีวิต
นอกจากนั้น ยังมีภาพถ่ายชาวนากลางทุ่งนาระหว่างจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายของประเทศไทย ประเทศที่ได้ชื่อว่าส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก ทว่าพันธุ์ข้าวธรรมชาติกำลังถูกคุกคาม ด้วยการปลูกพืชเชิงเดี่ยว นำมาซึ่งความเปราะบางของพันธุ์ข้าวที่มีอยู่ โดยภาพนี้เป็นหนึ่งใน 6 ภาพที่บันทึกที่ประเทศไทย นอกเหนือจากกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ
สำหรับ “ญานน์ อารฺตุส-แบรฺทรองด์” (Yann Arthus-Bertrand) นักข่าวและช่างภาพซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากความหลงใหลในความงามของธรรมชาติ ได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านถ่ายภาพทางอากาศ และนักอนุรักษ์มาตั้งแต่ปี 2533
ช่างภาพอาวุโสชาวฝรั่งเศสได้ตระเวนเก็บภาพถ่ายทางอากาศจากทุกมุมโลกด้วยเฮลิคอปเตอร์ที่ระดับความสูง 30 – 3,000 เมตร รวมชั่วโมงบินทั้งสิ้น 4,000 ชั่วโมง ซึ่งกว่าที่ภาพถ่ายแต่ละภาพจะถูกบันทึก อารฺตุส-แบรฺทรองด์ เผยเบื้องหลังภาพผ่านวีดิโอว่าเขาจะวางแผนและศึกษาข้อมูลของสถานที่นั้นๆ อย่างถ่องแท้ก่อนกดชัตเตอร์
นายอลัน นามชัยศิริ กรรมการผู้จัดการห้างสรรพสินค้าเซน เผยว่า นิทรรศการของอารฺตุส-แบรฺทรองด์ได้รับการนำออกแสดงแล้วกว่า 110 เมืองใน 40 ประเทศทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา อาทิ ฝรั่งเศส สเปน อังกฤษ อิตาลี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์
จนถึงปัจจุบันมีผู้ชมผลงานภาพถ่ายทางอากาศที่กลั่นมาจากมุมมองของช่างภาพวัย 62 ปีรายนี้แล้วไม่ต่ำกว่า 120 ล้านคน และหนังสือภาพถ่ายพร้อมคำบรรยายของเขายังได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึง 24 ภาษา และมียอดขายกว่า 3 ล้านเล่ม
“ภาพถ่ายทางอากาศของอารฺตุส-แบรฺทรองด์ไม่ใช่เพียงภาพถ่ายเฉยๆ แต่ยังเป็นภาพชุดในลักษณะโฟโตเอสเสย์ (photo essay) ที่เผยมุมมองในด้านต่างๆ เช่น ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และบอกเล่าความเป็นไปในโลกนี้ที่ได้รวบรวมจากสถานที่ต่างๆ ผ่านมุมมองผู้ถ่ายได้อย่างน่าทึ่ง” น.ส.บุรณี รัชไชยบุญ ผู้ควบคุมการผลิตจาก โอเวชั่น สูติดิโอ จำกัด กล่าวถึงนิทรรศการ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายกว่า 20 ล้านบาท
ทั้งนี้ นิทรรศการดังกล่าวจะมีตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย.-9 ก.ย.51 รวม 99 วัน บนพื้นที่กว่า 2,500 ตารางเมตรของเซนเอาท์ดอร์อารีนา และลานน้ำพุศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในชื่องาน “Earth From Above: สาส์นสำรวจสภาวะโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”
ผู้สนใจสามารถร่วมชมนิทรรศการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในเวลา 10.00-22.00 น.ระหว่างวันจันทร์-วันพฤหัสบดี และ 10.00-23.00 น.ระหว่างวันศุกร์-วันอาทิตย์ คาดว่าจะมีผู้ชมงานไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน
“นอกจากความสวยงามแล้ว อยากให้มองในแง่ของการอนุรักษ์ด้วย ซึ่งการเปิดเป็นนิทรรศการที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายก็อยากให้ (ผู้ชม) ได้ใช้เวลานานๆ ดูภาพถ่ายเพื่อซึมซับรายละเอียดของภาพได้อย่างเต็มที่” นายสเตฟาน เนแกร็ง ผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย อีกหนึ่งผู้จัดงานปิดท้าย โดยในวันแรกของงาน อารฺตุส-แบรฺทรองด์จะเดินทางมาร่วมเปิดนิทรรศการของเขาด้วยตัวเอง.