จากอนุสนธิการปาฐกถาของนายจักรภพ เพ็ญแข เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2550 ณ ชมรมนักข่าวต่างประเทศในประเทศไทย ซึ่งมี Clip VDO พร้อม Sub-Title เป็นภาษาไทย รวมทั้งมีคำแปลเป็นภาษาไทยครบถ้วนที่สามารถอ่านได้ใน Internet อย่างไรก็ดี นายจักรภพยืนยันที่จะแปลคำกล่าวของตัวเองต่อสาธารณชนคนไทยว่า เขามีความคิดอย่างไรกับระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นหัวใจของเรื่องนี้ว่า “ประชาธิปไตยกับระบบอุปถัมภ์ของไทย”
คำบรรยายของนายจักรภพนั้น ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปยอมรับในการตั้งประเด็นของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็น “ทัศนคติที่เป็นอันตราย”
ทัศนคติคือ แนวความคิดเห็นและท่าทีคือความเป็นไปของบุคคล เพราะถ้าคนไทยได้เห็น Clip ของนายจักรภพ เพ็ญแข แล้วก็จะได้เห็นความลึกในตัวตนของเขาที่มีความลุ่มหลงในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก็ไม่น่าจะเสียหายอะไรเพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล
ความหลงใหลคือความสำคัญผิด เข้าใจผิด คลั่งไคล้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างไม่ลืมหูลืมตา เลอะเลือนถึงขนาดสติเฟือน รวมถึงคนบางคนอาจจะมีลักษณะหลงใหลได้ปลื้มซึ่งหมายถึงว่า คนบางคนได้ดิบได้ดี หลงตัวเองจนลืมความเป็นคนไทย ชาติตระกูล และสิ่งที่เลี้ยงดูตนมาหรือความอยู่เย็นเป็นสุขโคตรเหง้าของตัวเองว่าเกิดจากพลังอะไร
ในประวัติศาสตร์โลกที่มิอาจจะลืมเลือนได้ และยังไม่เคยมีความหลงใหลใดที่นำความชั่วร้ายมาสู่มนุษยชาติ นั่นคือ เมื่อมีอมนุษย์กลุ่มหนึ่งเกิดหลงใหลอมนุษย์คนหนึ่งก็คือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จอมโหดที่ได้อำนาจรัฐจากระบอบประชาธิปไตย เพราะชนะการเลือกตั้งใน ค.ศ. 1933 ที่ใช้ทุกวิถีทาง เช่น ลัทธิอันธพาล และระบบประชานิยมจนเข้าครอบครองอำนาจรัฐ แต่รอให้จอมพลไฮเดนเบิร์ก ประธานาธิบดีเยอรมนีระหว่าง 1925-1934 สิ้นชีวิตเสียก่อน จึงรวบอำนาจ ฮิตเลอร์ที่ไฮเดนเบิร์ก จำยอมแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีหรือ Chancellor ในระบบฝ่ายบริหารของเยอรมนีและออสเตรีย ทั้งที่รู้ว่าเป็นตัวอันตราย
ฮิตเลอร์เป็นนักพูดที่สร้างสีสันด้วยอากัปกิริยาใส่อารมณ์แบบถึงแก่นแท้ตัวตนในระหว่างพูดตามแบบฉบับเยอรมนี มีสำนวนที่รุนแรงมุ่งสร้างประชานิยมในเชิงรักชาติแบบก้าวร้าวจึงถูกอัธยาศัยกับจอมพลอากาศเกอริง ไฮลิช ฮิมม์เลอร์ และ ดร.โจเซฟ เกบเบลส์ ผู้ซึ่งเป็นคนมีปมด้อย เป็นคนที่น้อยใจ เป็นคนที่มีความใฝ่สูง เป็นคนที่ต่อต้านสนธิสัญญาแวร์ซาย และเป็นคนที่โง่เขลาเบาปัญญา ขาดความรู้เท่าทันการณ์
เกอริง อดีตนักบินขับไล่ระดับเสืออากาศที่บังคับบัญชาฝูงบินละครสัตว์ของริชโธเฟน น้อยใจที่คนเยอรมันดูแคลนทหารซึ่งทำการรบอย่างทรหดแต่พ่ายแพ้จึงผันความน้อยใจเป็นความแค้นที่ต้องการให้เยอรมนีชนะใหม่ ฮิตเลอร์จอมโหดเป็นคนชั้นกลางจากบาวาเรียมีปมด้อยเพราะรักสาวแล้วสาวไม่มีเยื่อใย จึงหวังเอาชนะด้วยอำนาจและอำนาจพัฒนาเป็นยาเสพติดถึงขั้นมีจิตใจโหดผิดมนุษย์ และ ดร.โจเซฟ เกบเบลส์ นักรบสงครามสารสนเทศสร้างข้อมูลข่าวสารแบบโฆษณาชวนเชื่อให้ฮิตเลอร์ มีหลงใหลในความเป็นเยอรมันที่ต้องการอยู่เหนือชนชาติอื่น และความหลงใหลนี้พัฒนาเป็นความโหดร้ายร่วมฆ่าคนยิว คอมมิวนิสต์ และใครก็ได้ที่ขัดขวางระบบนาซี ทั้งฮิตเลอร์และดร.เกบเบลส์ ร่วมทำรัฐประหารแบบ Putsch ที่บาร์แห่งหนึ่งในเมืองมิวนิค เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1923 ไม่สำเร็จถูกจับเข้าคุก ทั้ง 2 คนเป็นสาวกที่ฮิตเลอร์ไว้ใจมากที่สุดในหมู่สาวกทั้งปวง
รูปแบบการเข้าสู่อำนาจของฮิตเลอร์จึงเป็นสูตรสำเร็จของคนที่ต้องการมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ แต่จะต้องให้มีประชาชนที่หลงใหลหรือหิวโหยกิเลสที่เกินความเพียงพอเอื้ออำนวยสนับสนุนตน ซึ่งนัยสำคัญนี้เป็นช่องว่างระหว่างประชาชนที่ยากไร้จริงๆ กับคนที่ไม่รู้จักความพอเพียง และไม่ดำรงตนในฐานะที่ควรจะเป็น เช่น พวกติดการพนัน ติดความฟุ้งเฟ้อในสิ่งที่เกินฐานะของตัวเองจนกลายเป็นลัทธิบริโภคนิยม
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โชคดีที่มีจักรภพและผู้หลงใหลอื่นๆ ให้การสนับสนุนเพราะคนที่หิวโหยเหล่านั้นได้สิ่งที่อยากได้คือ เงินในอนาคตหรือสิ่งของที่มีต้นทุนสูงจึงต้องผ่อนระยะยาว และวิธีการสร้างประชานิยมให้เห็นว่ารัฐบาลของตนเป็นสังคมนิยมให้ความเจริญทางรูปธรรม และเอาใจใส่ต่อรากหญ้ามากกว่าชนชั้นกลางในเมือง และที่น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่เกิดประชานิยมในระดับรากหญ้าซึ่งในอดีตทั้งรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ใช้นโยบายผันเงิน และรัฐบาลคุณชวน หลีกภัย ใช้นโยบายสร้างงานในชนบทเพื่อให้เกิดอำนาจซื้อจากงบประมาณเงินกู้มิยาซาว่า แต่ไม่คิดว่าทั้งสองท่านจะสร้างประชานิยมเพื่อกรุยทางไปสู่อำนาจเบ็ดเสร็จ
จากความหลงใหลของจักรภพ สามารถวิเคราะห์ได้จากคำกล่าวของเขาที่ชมรมนักข่าวต่างประเทศในประเทศไทย คือวันที่ 29 สิงหาคม 2550 ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนที่คิดว่าจะกลับมาเย็นยาก เพราะคำกล่าวมีความลึกซึ้ง และสำนวนภาษาอังกฤษให้ต่างชาติฟังมีนัยสำคัญคือ การลดศรัทธาระบบชาติของไทยในสายตาของคนต่างชาติโพ้นทะเลที่อาจจะเข้าใจผิดอย่างมหันต์ได้ จึงขอนำเสนอหัวข้อน่าสนใจซึ่งต้องวิเคราะห์ความคิดของทัศนคติที่เป็นอันตรายนี้
1. มีคำกล่าวเหน็บแนมพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ “ผมออกจากคุกคุณเปรมไม่ใช่คุกทั่วไป แต่เป็นคุกคุณเปรม”
2. มีคำกล่าวชี้นำเพื่อการแสดงจุดยืนของตัวตนเอง “คุณเปรมเป็นใคร เขาเป็นตัวแทนของใคร”
3. มีคำกล่าวเชิงโฆษณาชวนเชื่อ “ผมเชื่อว่าเราจะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ภายในชั่วชีวิตของเรา การเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิงซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในขณะนี้” (เมื่อ 29 สิงหาคม 2550)
จึงเกิดคำถามว่า การเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิงนั้นคืออะไรในทัศนคติของจักรภพ
4. ล้อเลียนแนวคิดเชิงรัฐศาสตร์สุโขทัยที่นักวิชาการเรียกทฤษฎีนี้ว่าเป็นการปกครองแบบพ่อกับลูก แต่นายจักรภพพูดว่า “พ่อขุนรามคำแหงเป็นพี่ชายที่ยิ่งใหญ่ ขอโทษ พ่อขุนรามคำแหงที่ยิ่งใหญ่”
5. ส่อเจตนาที่ขาดความศรัทธา ความจงรักภักดีและชื่นชมในพระบารมีอันหมายถึงความเมตตา โดยเฉพาะนายจักรภพเป็นคนที่เข้าใจภาษาอังกฤษได้ดี ลึกซึ้งเหมือนฝรั่งเลยก็ว่าได้ แต่เมื่อนายจักรภพกล่าวพาดพิงเมื่ออ้างถึงพระมหากษัตริย์ไทย เช่น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เขาใช้คำว่า “HE” เป็นประธานประโยค เขาแสดงให้เห็นว่า ความศรัทธา เคารพ จงรักภักดี และชื่นชมหายไปไหนในเมื่อตนเคยเป็นโฆษกรัฐบาล การใช้คำสรรพนามราชาศัพท์ในภาษาอังกฤษก็ควรจะต้องรู้ว่าใช้คำอะไรจึงจะเหมาะสมในเชิงนิเทศศาสตร์ที่ให้สังคมยอมรับในทัศนคติที่ดีของตน
6. การบ่งบอกถึงความก้าวร้าวตามแบบฉบับอนาธิปไตย เขาพูดว่า “เราวางแผนที่จะจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น แต่โทรศัพท์จากกรุงเทพฯ ได้เปลี่ยนแผนทั้งหมด ผมคิดว่าเราพลาด เราควรทำตามแผน เราควรทำให้คณะปฏิรูป รัฐบาลสุรยุทธ์ และพรรคพวกของเขากลายเป็นพวกนอกกฎหมาย โทรศัพท์ในกรุงเทพฯ ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป เราจะทำอะไรได้ ผมเป็นเพียงคนเล็กๆ ในคณะผู้ติดตาม ตอนนั้นผมเป็นผู้ช่วยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผมควรยืนกรานในเรื่องรัฐบาลพลัดถิ่น และถ้าจะเกิดการเผชิญหน้าการปะทะกันก็ปล่อยให้เกิดไป”
นี่คือตัวตนของนายจักรภพ เพ็ญแข ที่ประกาศตนเป็นกลุ่มทมิฬในอนาธิปไตยคตินิยม และแนวคิดเชิงก้าวร้าวของเขาคือความคาดหวังให้เกิดสงครามกลางเมืองย่อย โดยที่เขาเฉลยว่ามีประมาณ 10 ประเทศ พร้อมที่จะรับรองรัฐบาลพลัดถิ่นของ พ.ต.ท.ทักษิณ สงครามกลางเมืองคือกลุ่มสังคมในชาติเดียวกัน อ้างความชอบธรรมในอำนาจรัฐ และมีทุนเพียงพอในการแย่งชิงอำนาจด้วยการทำสงครามกัน แต่ตัวเองอยู่พลัดถิ่น แต่ใครเดือดร้อน อะไรพินาศฉิบหาย และใครจะเสียใจ เขาไม่เคยคิด
เพื่อให้เห็นว่าระบบอุปถัมภ์ตามนัยสำคัญของนายจักรภพ เพ็ญแข คืออะไรนั้น จำเป็นต้องศึกษาบทความของ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ใน พ.ศ. 2544 ซึ่งสรุปง่ายๆ ระบบอุปถัมภ์คือ “มีผู้อุปถัมภ์คอยให้คุณให้โทษกับคนที่ติดตามให้การสนับสนุนตน โดยต่างคนได้ประโยชน์จากกันและกัน” แบบก็อดฟาเธอร์หรือแบบกำนันเป๊าะ คุณปลื้มก็ว่าได้
บทความ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เมื่อกรกฎาคม พ.ศ. 2549 พูดถึงระบบอุปถัมภ์เป็นเหตุให้นักการเมืองสามารถคอร์รัปชันได้มากเกี่ยวข้องโดยตรงกับการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งในระบบราชการ และในรัฐวิสาหกิจและ Gillespile and Okruhik (2000) เห็นว่านักการเมืองมักจะใช้การคอร์รัปชันเป็นเครื่องมือในการซื้อความภักดีทางการเมือง
แต่เมื่อฟังนายจักรภพพูดถึงระบบอุปถัมภ์แล้ว เขาเน้นว่าระบบพระมหากษัตริย์ที่มีการให้การอุปถัมภ์โดยเริ่มต้นยกตัวอย่างจากพ่อขุนรามคำแหง และระบบกษัตริย์เชิงเทพสมมติในสมัยอยุธยาจนสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งนายจักรภพละเว้นที่จะพูดถึงยุทธศาสตร์ปกครองของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงคลายหรือเปลี่ยนจากเทวราชาเป็นธรรมราชา ซึ่งมีคติธรรมการปกครองอิงหลักศาสนาพุทธได้แก่ทศพิธราชธรรม ราชจรรยานุวัตรและจักรวรรดิวัตรอันเป็นหัวใจของจักรีวงศ์ที่นักข่าวต่างชาติทั้งที่เป็นมืออาชีพหรือจารชน หรือกลุ่มอนาธิปไตยนิยมสากลไม่ได้รับรู้ถึงหลักสำคัญนี้
ทำไมเขาละเว้นที่จะพูดถึงหลัก 3 ประการในการดำรงวิถีการปกครองของพระมหากษัตริย์ไทย ไม่ว่าจะเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือภายใต้รัฐธรรมนูญและเขาทำไมต้องสรุปว่า ระบบอุปถัมภ์เป็นตัวต้าน (Friction) ประชาธิปไตย และทำไมเขาต้องสรุปว่า “เราอาจจำเป็นต้องมีผู้นำใหม่” เป็นคำถามที่คนไทยต้องการคำตอบ