xs
xsm
sm
md
lg

ขันธ์ห้า (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รูป - นาม

ขันธ์ห้านี้ย่อลงได้เป็นสอง คือรูปขันธ์ ก็ย่อลงเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ย่อลงเป็นนาม คำว่านามนั้นตามศัพท์แปลว่าน้อมไป โดยทั่วไปคำว่านามก็คือชื่อ เมื่อแปลว่าชื่อก็คือสักแต่ว่าเป็นชื่อเรียก ไม่มีรูปร่างปรากฏ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็สักแต่ว่าเป็นชื่อเรียก ไม่มีรูปร่างปรากฏ และสิ่งที่ไม่มีรูปร่างปรากฏอย่างนี้ ก็มักจะพูดว่าเป็นนามธรรม ส่วนที่มีรูปร่างปรากฏก็มักจะพูดว่าเป็นรูปธรรม นี้เป็นอธิบายง่ายๆว่าเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อลงเป็นนาม ก็คือหมายความว่าทั้งสี่นี้ไม่มีรูปร่างปรากฏ สักแต่ว่า เป็นชื่อเรียกคือเป็นนามธรรมเท่านั้น

อีกอย่างหนึ่ง คำว่านาม ที่แปลว่าน้อมไปนั้น ก็คือหมายความว่าเป็นอาการของจิตที่อาศัยอยู่กับกายอันเป็นส่วนรูปนี้ น้อมออกรู้อารมณ์คือเรื่องทั้งหลายที่ประสบทางกาย คือทางอายตนะทั้งหกหรือทางทวารทั้งหก อายตนะทั้งหกหรือทวารทั้งหกนั้นก็ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ เป็นที่ต่อหรือเป็นทวาร คือเป็นประตูสำหรับที่จิตจะน้อมออกรู้อารมณ์คือเรื่องทั้งหลายมีเรื่องรูปเป็นต้น และอาการที่จิตน้อมออกรู้นั้นมี 4 อย่าง คือ

1.น้อมออกรู้เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ก็เรียกว่าเวทนา ซึ่งเป็นความรู้ของจิตอย่างหนึ่ง คือรู้เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข

2.น้อมออกรู้จำ จำรูป จำเสียง เป็นต้น ก็เรียก ว่าสัญญา ซึ่งเป็นความรู้ของจิตอีกอย่างหนึ่ง

3.น้อมออกรู้คิดปรุงหรือปรุงคิด เรียกว่า สังขาร ก็เป็นความรู้ของจิตอีกอย่างหนึ่ง

4.น้อมออกรู้สึกเห็น รู้สึกได้ยิน เป็นต้น ก็เป็นอาการของจิตอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า วิญญาณ


เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง 4 นี้เป็นความรู้ของจิตที่แสดงออก คือที่น้อมออกรู้อารมณ์ มีรูปเป็นต้น ที่เข้ามาทางทวารทั้งหกนั้น ฉะนั้น เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงเรียกว่าเป็นนาม คือเป็นอาการของจิตที่น้อมออกรู้อารมณ์ ซึ่งเป็นตัวความรู้ของจิตขั้นหนึ่งๆ จึงเรียกว่านามธรรม เมื่อย่อเป็นสองดังนี้ รูปก็เป็นรูปขันธ์ กองรูป นามก็เป็นนามขันธ์ กองนาม

อุปาทานขันธ์

คราวนี้ขันธ์ห้าหรือนามรูปดังกล่าว โดยปกติของสามัญชนย่อมเป็นอุปาทานขันธ์ คือขันธ์เป็นที่ยึดถือ เพราะว่าสามัญชนทุกคนนั้นย่อมมีอุปาทานคือความยึดถือในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ว่า

เอตํ มมนี่เป็นของเรา
เอโส หมัสมิ เราเป็นนี่
เอโส เม อัตตานี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา


คือ มีความยึดถือว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของเรา เราเป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอัตตาตัวตนของเรา โดยปกติย่อมมีความยึดถืออยู่ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าอุปาทานขันธ์ เมื่อเป็นอุปาทานขันธ์ ก็เป็นขันธูปธิ อุปธิคือขันธ์ อุปธินั้นแปลว่า เครื่องเข้าไปทรงใจเอาไว้ เข้าไปจับใจเอาไว้ เข้าไปสิงใจเอาไว้ เหมือนอย่างที่พูดกันว่าผีเข้าสิง เจ้าเข้าทรง ก็คือว่าเจ้าหรือ ผีนั้นเข้าไปทรงใจเอาไว้ของบุคคล แต่ใจของบุคคล ที่ถูกเจ้าหรือถูกผีเข้านั้นก็กลายเป็นสื่อของเจ้าหรือของผีที่สิงหรือที่เข้าทรงนั้น ฉันใดก็ดี เมื่อขันธ์ทั้งห้าเป็นอุปธิ คือเข้าไปทรง เข้าไปสิงใจของบุคคล บุคคลก็กลายเป็นสื่อของขันธ์ทั้งห้า ขันธ์ทั้งห้านี้ก็กลายเป็นสิ่งที่มีอำนาจครอบงำใจของบุคคล ดังจะพึงเห็นได้ว่า บุคคลทั่วไปนั้นย่อมอยู่ ในอำนาจของขันธ์ห้าเป็นอันมาก ในอำนาจของรูป ของเวทนา ของสัญญา ของสังขาร ของวิญญาณ ย่อเข้าก็คือของรูป ของนาม หรือพูดอีกคำหนึ่งก็คือว่า ของกายของใจอันนี้ รูปนามหรือว่าขันธ์ห้าหรือว่ากายใจอันนี้ก็กลายเป็นสิ่งที่ครอบงำกายใจของบุคคล ก็เป็นขันธูปธิ อุปธิคือขันธ์

และเมื่อเป็นดั่งนี้ เมื่อกล่าวอีกอย่างหนึ่ง บุคคลก็อยู่ในอำนาจของกิเลส คือ อุปาทาน ความยึดถือ พร้อมทั้งตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มาจากอวิชชา คือ ความที่ไม่รู้จักสัจจะคือความจริง จึงทำให้เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน แล้วก็ก่อกรรมต่างๆทั้งติดอยู่ในอารมณ์ต่างๆ มีรูปเป็นต้น เมื่อเป็นดั่งนี้ บรรดากิเลสทั้งปวงก็ดี บรรดาที่กระทำก็ดี บรรดาอารมณ์ต่างๆที่ผ่านเข้ามาทางทวารหกก็ดี ก็กลายเป็นอุปธิ คือ เครื่องที่เข้าไปทรงใจของบุคคลต่อเนื่องกันไปทั้งหมด บุคคลจึงไม่มีอิสระ ไม่มีเสรี ต้องอยู่ในอำนาจของเครื่องทรงใจเหล่านี้ วุ่นวายอยู่กับเครื่องทรงใจเหล่านี้ ดังจะพึงเห็นได้ว่า บุคคลเป็นอันมากนั้นกระสับกระส่ายวุ่นวายอยู่ด้วยเรื่องของขันธ์ห้า เรื่องของกิเลส เรื่องของกรรม และเรื่องของอารมณ์ทั้งหลายที่ผ่านเข้ามาทางทวารทั้งหก เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นทุกข์เดือดร้อน และก็ไม่สามารถที่จะเปลื้องทุกข์ได้ ทั้งบรรดาเครื่องทรงใจเหล่านี้ก็ปกปิดไม่ให้ได้ปัญญาเห็นสัจจะคือความจริง จึงพอกพูนอวิชชา คือความไม่รู้ พร้อมทั้งโมหะคือความหลงให้ทวีมากยิ่งขึ้น

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 91 มิ.ย. 51 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น