xs
xsm
sm
md
lg

ขันธ์ห้า (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิบากขันธ์

การปฏิบัติในสติปัฏฐาน ตั้งสติกำหนดพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ตามดูกาย เวทนาจิต ธรรม ให้เป็นที่ตั้งของสติ จึงเป็นการปฏิบัติชำระเครื่องทางใจ เปลื้องเครื่องทรงใจเหล่านี้ให้ลดลงไปโดยลำดับ จนถึงเมื่อปฏิบัติระงับนิวรณ์ เปลื้องนิวรณ์ออกจากจิต จิตสงบจากนิวรณ์ ก็เป็นอันว่าเป็นการปฏิบัติเปลื้องเครื่องทรงใจจากอารมณ์ที่เข้ามาทางทวารทั้งหกนั้นมาก่อนิวรณ์ขึ้นในจิต เมื่อปฏิบัติเปลื้องนิวรณ์ได้ สงบนิวรณ์ได้ ก็เป็นอันว่าทำจิตให้สงบจากเครื่องทรงใจคืออารมณ์ทั้งหลายที่เข้ามาทางทวารทั้งหกอยู่เป็นประจำ เมื่อเป็นดั่งนี้ ความเป็นไปของขันธ์ห้า หรือของนามรูปก็ปรากฏ เพราะอันที่จริงขันธ์ห้า หรือนามรูปนี้เป็นวิบากขันธ์ คือขันธ์ที่เป็นวิบาก คือเป็นผลของกิเลสกรรม เป็นสิ่งที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล แต่ว่าเป็นอัพยากตธรรม ธรรมที่เป็นอัพยากฤต คือเป็นกลางๆ ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป เพราะเป็นวิบากคือเป็นผล และเมื่อเกิดมาก็มีวิบากขันธ์อันนี้มาตั้งแต่เกิด ความเกิดพร้อมทั้งความแก่ความเจ็บความตาย ก็รวมอยู่ที่วิบากขันธ์อันนี้ วิบากขันธ์อันนี้เองเป็นตัวเกิด เป็นตัวแก่ เป็นตัวเจ็บ เป็นตัวตาย และวิบากขันธ์อันนี้เองเป็น เครื่องมือสำหรับที่จะทำกรรมทั้งหลาย ทั้งกรรมดี กรรมชั่ว ทั้งกุศล ทั้งอกุศล ก็วิบากขันธ์อันนี้แหละเป็นเครื่องมือที่ทำ ตลอดจนถึงในการปฏิบัติทำสติปัฏฐาน หรือกล่าวรวมว่าในการปฏิบัติธรรมก็วิบากขันธ์อันนี้แหละเป็นเครื่องมือสำหรับปฏิบัติในการทำสติ ในการอบรมสมาธิ ในการอบรมปัญญา ก็วิบากขันธ์อันนี้แหละเป็นเครื่องมือที่จะกระทำ เพราะฉะนั้นจึงเป็นอัพยากตธรรม ธรรมที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่บุญ ไม่ใช่บาป

รู้ขันธ์ห้าในปัจจุบันธรรม

เมื่อสงบนิวรณ์และจิตสงบ ก็พิจารณาดูให้รู้จักรูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ พิจารณาดูอย่างกว้างๆ หรือว่าโดยสรุปใช้วิธีดูทั่วๆไปดังที่ได้อธิบายมาแล้ว และเมื่อรู้จักขันธ์ห้าทั่วๆไปแล้ว ก็หัดดูให้รู้จักขันธ์ห้าที่เป็นปัจจุบันธรรมอันเป็นอย่างละเอียด ดูขันธ์ห้าที่เกิดขึ้นและที่ดับไปในอารมณ์ทั้งหลายทุกขณะจิต ดังเช่นในบัดนี้เสียงที่แสดงธรรมเป็นอารมณ์ของผู้ที่ตั้งใจฟังทั้งหลาย หูกับเสียงนี่เป็นรูป รูปขันธ์ กองรูป หูกับเสียงประจวบกัน รูปขันธ์ก็ปรากฏขึ้นก่อน เกิดขึ้นก่อน รู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขในเสียงนี้ก็เป็นเวทนา จำเสียงนี้ก็เป็นสัญญา คิดไปตามเสียงนี้ก็เป็นสังขาร รู้สึกได้ยินเสียงนี้ก็เป็นวิญญาณ เสียงที่แสดงธรรมนี้คำหนึ่งๆ ผู้ที่ตั้งใจฟังทุกคนก็จะเกิดรูปขันธ์ เกิดเวทนาขันธ์ เกิดสัญญาขันธ์ เกิดสังขารขันธ์ เกิดวิญญาณขันธ์ หรือว่าเกิดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณในเสียงคำหนึ่งๆ นี้ทุกคำไป เสียงคำที่หนึ่งก็เกิด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณในเสียงคำที่หนึ่ง แล้วก็ดับ เสียงคำที่สองมาก็เกิดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมาในเสียงคำที่สอง เกิดแล้วก็ดับไป เสียงคำที่สาม ขันธ์ห้าเกิดดับไป เสียงคำที่สี่ ขันธ์ห้าเกิดดับไป ดั่งนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นขันธ์ห้าที่เป็นปัจจุบันธรรมนี้จึงเกิดดับไปในเสียงที่ได้ยินนี้ทุกคำ แต่ว่าเป็นสันตติสืบต่อกันไป

ฉะนั้นก็หัดทำสติกำหนดให้รู้จักขันธ์ห้าในเสียงคำหนึ่งๆดั่งนี้ เรียกว่าให้รู้จักขันธ์ห้าที่เกิดดับๆ ทุกขณะจิตเป็นปัจจุบันธรรม ก็เป็นอันว่าได้ทำสติให้รู้จักขันธ์ห้าด้วย ให้รู้จักความเกิดของขันธ์ห้าด้วย ให้รู้จักความดับของขันธ์ห้าด้วย

รู้สมุทัย

คราวนี้ก็หัดศึกษาปฏิบัติทำสติให้รู้จักสมุทัยอีกส่วนหนึ่ง คือให้รู้จักตัณหากับอุปาทานที่อยากยึดอยู่ในสิ่งที่รู้ อาศัยความรู้อยากยึดอยู่ในสิ่งที่รู้นั้น เมื่อสิ่งที่รู้คือรูปปรากฏขึ้น ความรู้ในรูปปรากฏขึ้น ตัณหาอุปาทานก็วิ่งเข้าจับสิ่งที่รู้คือรูป อาศัยตัวรู้นั้นแหละวิ่งเข้าไปจับสิ่งที่รู้คือรูป ดั่งนี้ก็เกิดเป็นสมุทัยขึ้น ถ้าหากว่ามีสติกำหนดกับปัญญาซึ่งเป็นตัวรู้สัจจะอีกขั้นหนึ่ง คอยกั้นคอยจับอยู่ไม่ให้ตัณหาอุปาทานวิ่งเข้าจับได้ หรือถ้าวิ่งเข้าจับก็ต้องปล่อยดั่งนี้แล้ว ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัตินิโรธคือความดับสมุทัยไปในขณะนั้นด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยอบรมสติปัญญาให้ว่องไว และให้บังเกิดขึ้นอย่างฉับพลันจึงจะกันจึงจะตัดจึงจะดับได้ ถ้าไม่เช่นนั้น ตัณหาอุปาทานก็วิ่งเข้าจับ จับสิ่งที่รู้นี่แหละยึดเอาไว้ ก็ก่ออุปธิ ก่อทุกข์ขึ้น ดั่งนี้เป็น ความเกิดที่เป็นสมุทัย และเมื่อมีสติกับปัญญากำหนดก็จะพบนิโรธคือความดับที่เป็นตัวนิโรธ และทั้งนี้ก็ต้องอาศัยการปฏิบัติอบรมให้เห็นไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อเห็นไตรลักษณ์อยู่ในสิ่งที่รู้กับตัวรู้ ก็จะเป็นสติเป็นปัญญาที่เป็น เครื่องกั้นเป็นเครื่องตัดเป็นเครื่องดับ เป็นนิโรธคือความดับได้

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 92 ก.ค. 51 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น