xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การรู้ว่าจิตนึกคิดนั้น ต้องเป็นการตามรู้
ระวังอย่าให้เป็นการดักรู้หรือรอที่จะรู้
และอย่าให้เป็นการเพ่งจิต
เพราะการดักรู้เป็นไปด้วยอำนาจของตัณหา


ครั้งที่ 104 บทที่ 8. ของฝาก
ตอน ใจคิดนึกก็ให้รู้สึก

ถาม แล้วที่ว่าใจคิดนึกก็ให้รู้สึกล่ะครับ เป็นอย่างไร
ตอบเมื่อจิตเกิดอาการคิด คุณต้องรู้หรือรู้สึกว่าจิตกำลังคิดอยู่ ไม่ต้องสนใจว่าจิตคิด เรื่องอะไร การรู้จิตที่คิดเป็นการรู้อารมณ์ปรมัตถ์ แต่เรื่องที่จิตคิดเป็นอารมณ์บัญญัติ

ช่วงหลังมานี้เริ่มมีผู้มาเล่าให้อาตมาฟังว่า หลวงพ่อเทียนสอนให้ดูความคิด ตรงนี้อาตมาเห็นว่าน่าจะเข้าใจผิดเสียแล้ว ความจริงท่านให้รู้ว่าจิตคิดต่างหาก การไปดูความคิดจะทำให้จิตสงบเพราะเป็นการทำสมถกรรมฐานอย่างหนึ่งโดยมีความคิดซึ่งเป็นบัญญัติเป็นอารมณ์ แต่การรู้อาการที่จิตคิดจะทำให้เกิดปัญญาเห็นความจริงว่า จิตเป็นอนัตตา คือเขาทำงานของเขาได้เอง โดยไม่อยู่ในอำนาจบังคับของใคร

ทันทีที่รู้ว่าจิตคิด จิตจะหยุดคิด เกิดความตื่น รู้สึกตัว หลุดออกจากโลกของความ คิดมาอยู่ในโลกของความจริง และสามารถรู้ กายรู้ใจอันเป็นของจริงหรือเป็นปรมัตถธรรม ได้ หลวงพ่อเทียนท่านจึงกล่าวว่า ต้นทางของ การปฏิบัติอยู่ตรงที่เห็นจิตใจตนเองที่กำลังคิด เพราะตรงจุดนี้แหละเป็นจุดที่เริ่มเห็นรูปนาม อันเป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นต้นทางของการเจริญปัญญาหรือการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง

อีกอย่างหนึ่ง การรู้ว่าจิตนึกคิดนั้น ต้องเป็นการตามรู้ ระวังอย่าให้เป็นการดักรู้หรือรอที่จะรู้ และอย่าให้เป็นการเพ่งจิต เพราะการ ดักรู้เป็นไปด้วยอำนาจของตัณหา จิตในขณะนั้นจะไม่มีสติแต่มีตัณหาครอบงำอยู่ ส่วนการเพ่งก็เป็นไปด้วยอำนาจของตัณหาเช่นกัน เมื่อเพ่งแล้วก็เกิดความนิ่ง จิตไม่สามารถจะแสดงไตรลักษณ์ให้เห็นได้ตามธรรมชาติธรรมดาของเขา

ถาม แล้วที่ว่ารู้สึกแล้วให้ปล่อยวางนั้น เป็นอย่างไรครับ
ตอบคำว่าปล่อยวางน่าจะมีความหมายได้ 2 ลักษณะ คือ ประการแรก เป็นการปล่อยวาง ในขั้นของการเจริญวิปัสสนา ท่านหมายความ ว่าให้สักว่ารู้รูปนาม คือเมื่อสติระลึกรู้รูปนาม แล้วก็อย่าไปจงใจจับรูปนามไว้ แต่ให้ปล่อยคือให้สักว่ารู้ แต่พวกเรามักจะชอบส่งจิตเข้าไปจมแช่อยู่กับอารมณ์ เช่นแช่อยู่กับมือ หรือแช่อยู่กับความคิด หลายคนคิดว่าจะต้อง แช่ไว้นานๆ จึงจะเกิดปัญญา อาตมาเพิ่งตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปเมื่อกี้นี้เองในเรื่องเกี่ยวกับการเอาสติเข้าไปตั้งไว้ในอารมณ์รูปนาม คุณลองทบทวนดูก็แล้วกัน

อีกประการหนึ่ง เป็นการปล่อยวางรูปนามอันเป็นผลของการเจริญวิปัสสนา คือเมื่อเราสักว่ารู้รูปนาม รูปนามก็จะแสดงความจริงคือไตรลักษณ์ให้ดู เมื่อจิตเกิดปัญญารู้ถ่องแท้ในความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนามแล้ว จิตจะปล่อยวางความถือมั่นในรูปนาม อันนี้จิตเขาปล่อยของเขาเอง เป็นการปล่อยเพราะเกิดปัญญาอันเป็นผลจากการเจริญวิปัสสนานั่นเอง

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/ความรู้สึกตัว)
กำลังโหลดความคิดเห็น