อริยสัจจ์
อันธรรมหรือธรรมมะนั้นโดยตรงก็ได้แก่สัจจะ คือความจริง ของจริง ดังที่เรียกคู่กันว่า “สัจจธรรม” ธรรมะคือสัจจะ แต่อันความจริงหรือของจริงนี้ที่เป็นอริยสัจจะ คือความเป็นจริงหรือของจริงที่ทำผู้รู้ให้เป็นอริยะ คือผู้ประเสริฐผู้เจริญ ก็ได้แก่อริยสัจจ์ ทั้งสี่ คือทุกขสัจจะ ความจริงของจริงคือทุกข์ สมุทัยสัจจะ ความจริงของจริงคือสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ นิโรธสัจจะ ความจริงของจริงคือนิโรธ ความดับทุกข์ มรรคสัจจะ ความจริงของจริงคือมรรค ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
สัจจะทั้งสี่นี้เป็นหลักแห่งพุทธศาสนา และทุกขสัจจะ สัจจะคือทุกข์ข้อแรกนั้นก็ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า กล่าวโดยย่ออุปาทานขันธ์ คือขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้งห้าเป็นทุกข์ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นขันธ์ห้าจึงเป็นข้อสำคัญที่ผู้ปฏิบัติธรรมทางปัญญาจะพึงศึกษาสำเหนียกให้มีความรู้ความเข้าใจ และขันธ์ทั้งห้านี้ก็มิได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่บุคคลทุกๆคนนี้เอง การศึกษาสำเหนียก ก็ศึกษาสำเหนียกตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสแสดงชี้ และก็ศึกษาสำเหนียกที่ตนเอง ให้รู้จักขันธ์ทั้งห้าที่ตัวเอง
คำว่า “ขันธ์” นั้นก็แปลว่า “กอง” แปลว่า “ประชุม” ดังที่ทราบกัน ก็เพราะมีหลายๆ สิ่งมารวมกันเข้าเป็นกอง หรือมาประชุมกันเข้า คำว่าขันธ์แปลว่ากองหรือประชุมด้วยมีความหมายอย่างนี้ เพราะขันธ์ทั้งห้า แต่ละขันธ์นั้นก็มีหลายอย่างมาประชุมรวมกันเข้าเป็น กอง เหมือนอย่างผลไม้หลายๆผล มารวมกองกันอยู่เป็นกอง
รูปขันธ์
รูปขันธ์ กองรูป เมื่อกล่าวโดยย่อก็ได้แก่ มหาภูตรูป รูปที่เป็นใหญ่ อันหมายถึงธาตุทั้งสี่ที่มาประชุมกันอยู่คือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เดโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม อีกอย่างหนึ่งธาตุห้าก็เติมอากาศธาตุคือช่องว่างเข้าอีกหนึ่ง แต่โดยมากแสดงธาตุสี่ ก็หมายถึงบรรดาส่วนทั้งหลายในร่างกายอันนี้ ซึ่งส่วนที่แข็งก็รวมเรียกว่าธาตุดิน ส่วนที่เอิบอาบก็รวมเรียกว่าธาตุน้ำ ส่วนที่อบอุ่นก็รวมเรียกว่าธาตุไฟ ส่วนที่พัดไหวก็รวมเรียกว่าธาตุลม ดั่งนี้คือมหาภูตรูป แปลว่ารูปที่เป็นใหญ่หรือเป็นส่วนใหญ่ อีกอย่างหนึ่ง อุปาทายรูป รูปอาศัย ได้แก่รูปพิเศษที่อาศัยอยู่ในมหาภูตรูปทั้งสี่นี้ เป็นต้นว่าจักษุประสาท ประสาทตา โสตประสาท ประสาทหู ฆานประสาท ประสาทจมูก ชิวหาประสาท ประสาทลิ้น กายประสาท ประสาทกาย และอื่นๆ อีกหลายอย่างหลายประการ บรรดารูปที่อาศัยอยู่อันมีลักษณะพิเศษเหล่านี้รวมเรียกว่า อุปาทายรูป แปลว่ารูปอาศัย และอันที่จริงอุปาทายรูปนี้ก็สรุปเข้าในมหาภูตรูปทั้งสี่นั้นแหละ คือเป็นธาตุดินบ้าง ธาตุน้ำบ้าง ธาตุไฟบ้าง ธาตุลมบ้าง ประกอบกันอยู่ นี้คือรูปขันธ์ กองรูป
เวทนาขันธ์
เวทนาขันธ์ กองเวทนา คือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ก็จำแนกได้ออกเป็นหก คือเวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัส สัมผัสทางตา เวทนาที่เกิดจากโสตสัมผัส สัมผัสทางหู ฆานสัมผัส เวทนาที่เกิดจากฆาน สัมผัสทางจมูก เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัส สัมผัสทางลิ้น เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัส สัมผัสทางกาย และเวทนาที่เกิดจากมโนสัมผัส สัมผัสทางใจ นี้คือเวทนาขันธ์ กองเวทนา
สัญญาขันธ์
สัญญาขันธ์ กองสัญญา ความจำหมายก็แบ่งได้เป็นหก คือจำหมายรูป จำหมายเสียง จำหมายกลิ่น จำหมายรส จำหมายสิ่งถูกต้องทางกาย จำหมายธรรมซึ่งในที่นี้หมายถึงเรื่องราวที่รู้ที่คิดทางใจ นี้คือสัญญาขันธ์ กองสัญญา
สังขารขันธ์
สังขารขันธ์ กองสังขาร คือความคิดปรุง หรือความปรุงคิด ซึ่งสังขารในที่นี้หมายถึงสังขารทางจิต คือความคิดปรุงหรือความปรุงคิดต่างๆ คิดดีบ้าง คิดไม่ ดีบ้าง คิดเป็นกลางๆบ้าง ซึ่งก็อาจแบ่งได้หกเหมือนกัน คือความคิดปรุงรูป ความคิดปรุงเสียง ความคิดปรุงกลิ่น ความคิดปรุงรส ความคิดปรุงสิ่งที่ถูกต้องทางกาย และความคิดปรุงธรรมคือเรื่องราวทั้งหมดของรูปเสียงเป็นต้น นี้ก็คือสังขารขันธ์ กองสังขาร
วิญญาณขันธ์
วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ วิญญาณก็ได้แก่ความรู้สึก ก็แบ่งได้เป็นหกเหมือนกัน จักษุวิญญาณ ความรู้สึกเห็นรูปทางตา โสตวิญญาณ ความรู้สึกได้ยิน เสียงทางหู ฆานวิญญาณ ความรู้สึกทราบกลิ่นทางจมูก ชิวหาวิญญาณ ความรู้สึกทราบรสทางลิ้น กายวิญญาณ ความรู้สึกทราบสิ่งถูกต้องทางกาย มโนวิญญาณ ความรู้สึกรู้เรื่องทางใจ นี้คือวิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ
(อ่านต่อฉบับหน้า)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 90 พ.ค. 51 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
อันธรรมหรือธรรมมะนั้นโดยตรงก็ได้แก่สัจจะ คือความจริง ของจริง ดังที่เรียกคู่กันว่า “สัจจธรรม” ธรรมะคือสัจจะ แต่อันความจริงหรือของจริงนี้ที่เป็นอริยสัจจะ คือความเป็นจริงหรือของจริงที่ทำผู้รู้ให้เป็นอริยะ คือผู้ประเสริฐผู้เจริญ ก็ได้แก่อริยสัจจ์ ทั้งสี่ คือทุกขสัจจะ ความจริงของจริงคือทุกข์ สมุทัยสัจจะ ความจริงของจริงคือสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ นิโรธสัจจะ ความจริงของจริงคือนิโรธ ความดับทุกข์ มรรคสัจจะ ความจริงของจริงคือมรรค ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
สัจจะทั้งสี่นี้เป็นหลักแห่งพุทธศาสนา และทุกขสัจจะ สัจจะคือทุกข์ข้อแรกนั้นก็ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า กล่าวโดยย่ออุปาทานขันธ์ คือขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้งห้าเป็นทุกข์ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นขันธ์ห้าจึงเป็นข้อสำคัญที่ผู้ปฏิบัติธรรมทางปัญญาจะพึงศึกษาสำเหนียกให้มีความรู้ความเข้าใจ และขันธ์ทั้งห้านี้ก็มิได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่บุคคลทุกๆคนนี้เอง การศึกษาสำเหนียก ก็ศึกษาสำเหนียกตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสแสดงชี้ และก็ศึกษาสำเหนียกที่ตนเอง ให้รู้จักขันธ์ทั้งห้าที่ตัวเอง
คำว่า “ขันธ์” นั้นก็แปลว่า “กอง” แปลว่า “ประชุม” ดังที่ทราบกัน ก็เพราะมีหลายๆ สิ่งมารวมกันเข้าเป็นกอง หรือมาประชุมกันเข้า คำว่าขันธ์แปลว่ากองหรือประชุมด้วยมีความหมายอย่างนี้ เพราะขันธ์ทั้งห้า แต่ละขันธ์นั้นก็มีหลายอย่างมาประชุมรวมกันเข้าเป็น กอง เหมือนอย่างผลไม้หลายๆผล มารวมกองกันอยู่เป็นกอง
รูปขันธ์
รูปขันธ์ กองรูป เมื่อกล่าวโดยย่อก็ได้แก่ มหาภูตรูป รูปที่เป็นใหญ่ อันหมายถึงธาตุทั้งสี่ที่มาประชุมกันอยู่คือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เดโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม อีกอย่างหนึ่งธาตุห้าก็เติมอากาศธาตุคือช่องว่างเข้าอีกหนึ่ง แต่โดยมากแสดงธาตุสี่ ก็หมายถึงบรรดาส่วนทั้งหลายในร่างกายอันนี้ ซึ่งส่วนที่แข็งก็รวมเรียกว่าธาตุดิน ส่วนที่เอิบอาบก็รวมเรียกว่าธาตุน้ำ ส่วนที่อบอุ่นก็รวมเรียกว่าธาตุไฟ ส่วนที่พัดไหวก็รวมเรียกว่าธาตุลม ดั่งนี้คือมหาภูตรูป แปลว่ารูปที่เป็นใหญ่หรือเป็นส่วนใหญ่ อีกอย่างหนึ่ง อุปาทายรูป รูปอาศัย ได้แก่รูปพิเศษที่อาศัยอยู่ในมหาภูตรูปทั้งสี่นี้ เป็นต้นว่าจักษุประสาท ประสาทตา โสตประสาท ประสาทหู ฆานประสาท ประสาทจมูก ชิวหาประสาท ประสาทลิ้น กายประสาท ประสาทกาย และอื่นๆ อีกหลายอย่างหลายประการ บรรดารูปที่อาศัยอยู่อันมีลักษณะพิเศษเหล่านี้รวมเรียกว่า อุปาทายรูป แปลว่ารูปอาศัย และอันที่จริงอุปาทายรูปนี้ก็สรุปเข้าในมหาภูตรูปทั้งสี่นั้นแหละ คือเป็นธาตุดินบ้าง ธาตุน้ำบ้าง ธาตุไฟบ้าง ธาตุลมบ้าง ประกอบกันอยู่ นี้คือรูปขันธ์ กองรูป
เวทนาขันธ์
เวทนาขันธ์ กองเวทนา คือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ก็จำแนกได้ออกเป็นหก คือเวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัส สัมผัสทางตา เวทนาที่เกิดจากโสตสัมผัส สัมผัสทางหู ฆานสัมผัส เวทนาที่เกิดจากฆาน สัมผัสทางจมูก เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัส สัมผัสทางลิ้น เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัส สัมผัสทางกาย และเวทนาที่เกิดจากมโนสัมผัส สัมผัสทางใจ นี้คือเวทนาขันธ์ กองเวทนา
สัญญาขันธ์
สัญญาขันธ์ กองสัญญา ความจำหมายก็แบ่งได้เป็นหก คือจำหมายรูป จำหมายเสียง จำหมายกลิ่น จำหมายรส จำหมายสิ่งถูกต้องทางกาย จำหมายธรรมซึ่งในที่นี้หมายถึงเรื่องราวที่รู้ที่คิดทางใจ นี้คือสัญญาขันธ์ กองสัญญา
สังขารขันธ์
สังขารขันธ์ กองสังขาร คือความคิดปรุง หรือความปรุงคิด ซึ่งสังขารในที่นี้หมายถึงสังขารทางจิต คือความคิดปรุงหรือความปรุงคิดต่างๆ คิดดีบ้าง คิดไม่ ดีบ้าง คิดเป็นกลางๆบ้าง ซึ่งก็อาจแบ่งได้หกเหมือนกัน คือความคิดปรุงรูป ความคิดปรุงเสียง ความคิดปรุงกลิ่น ความคิดปรุงรส ความคิดปรุงสิ่งที่ถูกต้องทางกาย และความคิดปรุงธรรมคือเรื่องราวทั้งหมดของรูปเสียงเป็นต้น นี้ก็คือสังขารขันธ์ กองสังขาร
วิญญาณขันธ์
วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ วิญญาณก็ได้แก่ความรู้สึก ก็แบ่งได้เป็นหกเหมือนกัน จักษุวิญญาณ ความรู้สึกเห็นรูปทางตา โสตวิญญาณ ความรู้สึกได้ยิน เสียงทางหู ฆานวิญญาณ ความรู้สึกทราบกลิ่นทางจมูก ชิวหาวิญญาณ ความรู้สึกทราบรสทางลิ้น กายวิญญาณ ความรู้สึกทราบสิ่งถูกต้องทางกาย มโนวิญญาณ ความรู้สึกรู้เรื่องทางใจ นี้คือวิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ
(อ่านต่อฉบับหน้า)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 90 พ.ค. 51 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)