xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะเพื่อชีวิตคนวัยทอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก่อนที่จะนำท่านผู้อ่านเข้าสู่ประเด็นแห่งบทความนี้ ผู้เขียนใคร่ขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านในส่วนที่เกี่ยวกับคำ 3 คำ อันเป็นหัวใจของเรื่องนี้คือ “ธรรมะ” “ชีวิต” และ“วัยทอง” ตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า
คำว่า “ธรรมะ” ในภาษาสันสกฤต และคำว่า“ธัมมะ” ในภาษามคธ หรือที่เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าภาษาบาลีนั้น มีความหมายอย่างเดียวกันว่า “สภาวะที่ดำรงอยู่ตามธรรมชาติ”
โดยนัยแห่งความหมายดังกล่าวข้างต้น พระพุทธเจ้า
ได้ทรงตรัสไว้ในธรรมนิยามสูตรมีใจความสรุปได้ว่า ตถาคตทั้งหลายเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น (ในโลก) ก็ตาม สภาวะอันเป็นปกติธรรมดาที่ว่านี้มีอยู่ และสภาวะนี้ก็คือสภาวะที่ว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลาย เป็นทุกข์ และสังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ตถาคตทั้งหลายรู้แจ้งและเห็นจริงซึ่งสภาวะนี้จึงได้บอกแสดงและบัญญัติ
จากนัยแห่งเนื้อหาและสาระในธรรมนิยามสูตรจะเห็นได้ว่าธรรมะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในโลก แต่ที่ไม่ปรากฏให้คนได้รับรู้ก่อนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และนำมาเปิดเผยก็เพราะขาดผู้ค้นพบเท่านั้น พระพุทธองค์จึงเป็นศาสดาในฐานะผู้ค้นพบสัจธรรม มิใช่เป็นศาสดา ในฐานะผู้สร้าง ดังเช่นในศาสนาประเภทเทวนิยม ซึ่งมีความเชื่อในเรื่องของการสร้างโลก ด้วยเหตุนี้จึงได้มีคำเปรียบเทียบพระพุทธเจ้าว่าเป็นเหมือนกับผู้หงาย ภาชนะที่คว่ำให้คนเห็นสิ่งที่ถูกครอบไว้
อีกประการหนึ่งจากคำว่า“ตถาคตทั้งหลาย”ในธรรมนิยามสูตรเป็นการยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทุกองค์ที่อุบัติขึ้นในโลกนี้ก่อนพระพุทธเจ้าองค์นี้ เช่น พระโกมนาคม และพระกัสสปะ เป็นต้น และที่จะอุบัติขึ้นในโลกต่อจากพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ คือ พระศรีอริยเมตไตร หรือที่เรียกกันในนามว่า “พระศรีอารย์” ก็ค้น พบสัจธรรมอันเดียวกันนี้ สรุปง่ายๆ ก็คือพระพุทธเจ้าทุกองค์ทั้งที่อุบัติมาแล้วในอดีต และจะอุบัติขึ้นในอนาคตตรัสรู้ธรรมะอันเดียวกัน
คำว่า “ชีวิต” เป็นคำที่มาจากภาษามคธ มีความหมายว่า “ความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิต เริ่มต้นจากการเกิด และจบลงด้วยการตาย” การมีชีวิตอยู่กำหนดด้วย การมีลมหมายใจเข้าออกสืบต่อกัน หรือที่ภาษาธรรมะเรียกว่า มี “สันตติ” คือ ความต่อเนื่องกันไปไม่หยุด การมีลมหายใจในลักษณะนี้ทางพุทธศาสนาเรียกว่ามี “ลมปราณ”
ดังนี้ คำว่า “ปราณ” ในภาษาสันสกฤต และคำว่า “ปาณะ” ในภาษาบาลี จึงเป็นเครื่องบ่งชี้การมีชีวิต จะเห็นได้จากองค์ประกอบของการกระทำผิดศีลข้อปาณาติบาต หรือศีล 5 ข้อที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยองค์ 4 คือ
1. ปาโณ สัตว์นั้นมีชีวิต
2. ปาณสัญญิตา ผู้ฆ่ารู้อยู่ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
3. วะธะกัง มีความพยายามที่จะฆ่า
4. เตนะ มะระณัง สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
เมื่อครบ 4 ประการนี้ จึงถือว่าผิดศีลข้อที่ 1 และจากคำว่า “ปาโณ” ในองค์ประกอบข้อที่ 1 จะเห็นได้ว่าการมีชีวิตกำหนดด้วยการมีลมหายใจเข้าและออก

• ความแตกต่างระหว่างคนกับสัตว์
ในทางพุทธศาสนาถือว่าคนเป็นสัตว์ แต่เป็นสัตว์ที่ ประเสริฐกว่าสัตว์ชนิดอื่น จึงได้เรียกสัตว์อื่นว่า“ดิรัจฉาน” หรือ “เดรัจฉาน” และเรียกสัตว์ประเสริฐว่า“มนุษย์” แปลว่า ผู้มีใจสูง (มนะ=ใจ+อุษยะ=สูง) และแม้กระทั่งในบรรดามนุษย์ด้วยกันก็ยังมีความแตกต่าง ระหว่างผู้ที่มีการฝึกจิตและไม่มีการฝึกจิต จะเห็นในคำสอนที่ว่า ในบรรดามนุษย์ทั้งหลายผู้ที่ฝึกฝนจิตของ ตนได้ชื่อว่าผู้ประเสริฐที่สุด (ทันโต เสฏโฐ มนุสเสสุ)
การยกย่องมนุษย์ว่ามีความดีเหนือสัตว์มีปรากฏแม้กระทั่งในศาสตร์อื่น เช่น จริยศาสตร์ เป็นต้น ก็เปรียบเทียบมนุษย์กับสัตว์ให้เห็นความแตกต่างทั้งด้าน ร่างกายและจิตใจ ดังต่อไปนี้
1. ด้านร่างกาย
คนมีโครงสร้างร่างกายสูงขึ้นในแนวดิ่งกับพื้นโลก แต่สัตว์เดรัจฉานมีโครงสร้างร่างกายยาวไปตามแนวนอนของพื้นโลก จึงเรียกว่า “ดิรัจฉาน” แปลว่า มีร่างกายไปทางขวาง และนี่เองน่าจะเป็นที่มาของคำด่า คนพาลว่าพวกขวางโลก หมายถึง เป็นพวกสัตว์นั่นเอง
2. ด้านจิตใจ
คนใช้เหตุผลในการทำและไม่ทำอะไร แต่สัตว์มีเพียงสัญชาตญาณเท่านั้น ดังนั้น ทางจริยศาสตร์ถือว่า คนมีเหตุผลควบคุมความต้องการ แต่สัตว์มีเพียงสัญชาตญาณบงการหรือผลักดันให้ทำ และนี่เองคือที่มาของการแสวงหาที่พึ่งยามมีภัยแตกต่างกันระหว่างคนกับสัตว์เมื่อเกิดความกลัวขึ้นมา

• การแบ่งวัยหรือการแบ่งช่วงชีวิตของคน
ในทางพุทธศาสนามีการแบ่งวัยของคนจากเกิดถึง ตาย ออกเป็น 3 วัย คือ
1. ปฐมวัย ได้แก่ การนับช่วงชีวิตตั้งแต่แรกเกิดเป็นทารก ไปจนถึงเป็นหนุ่มเป็นสาว ถ้าคิดเป็นปีก็จะเริ่มตั้งแต่ 1-25 ปี
2. มัชฌิมาวัย วัยกลางคนอันเป็นวัยที่คนเจริญเติบโตเต็มที่และค่อยเสื่อมลงเรื่อยๆ ถ้าคนเจริญเติบโตเต็มที่และค่อยเสื่อมลงเรื่อยๆ ถ้าคิดเป็นจำนวนปีก็จะเริ่มตั้งแต่ 26-50 ปี
3. ปัจฉิมวัย วัยสุดท้ายหรือที่เรียกกันว่าวัยชรา อันเป็นวัยเสื่อมโทรมและจะเป็นวัยที่ทั้งร่างกายและจิตใจเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายจบลงด้วยการตาย
ถ้าดูจากการแบ่งวัยแล้ว จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เกิดจน ถึงตาย คนก็เหมือนสิ่งมีชีวิต 2 ประเภท ที่เหลืออันได้แก่ สัตว์และพืช คือจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอด เวลา ไม่มีอะไรคงที่ และการมีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง เช่นนี้ก็เป็นไปตามกฎแห่งอนิจตา และการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้เกิดสิ่งที่เป็นสุขและเป็นทุกข์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทหรือชนิดของความเปลี่ยนแปลง เช่น ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายจากเด็กทารกกลายเป็นหนุ่ม เป็นสาว ทำให้เจ้าของชีวิตที่ถูกเปลี่ยนแปลงรวมไปถึง ผู้ที่เกี่ยวข้องทางสังคมในฐานะเป็นพ่อแม่และพี่น้อง เป็นต้น เกิดความพอใจ และความพอใจนี้เองก่อให้เกิด ความสุข ในทางกลับกันความเปลี่ยนแปลงจากความเป็นหนุ่มเป็นสาวกลายเป็นคนกลางคนและเข้าสู่วัยเสื่อม ผู้ถูกเปลี่ยนแปลงไม่พอใจและความไม่พอใจก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
แต่ไม่ว่าเจ้าของชีวิตพอใจหรือไม่พอใจกับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ทุกชีวิตก็ต้องเปลี่ยนแปลงและสุดท้ายก็แตกดับ ไม่มีใครบังคับบัญชาชีวิตของตัวเองให้เป็นหรือมิให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้ได้ดังใจปรารถนา และการที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะทุกชีวิตเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนที่แท้จริง จึงไม่อยู่ภายใต้การสั่งการของใคร เพราะแท้จริงการเกิดขึ้นก็เป็นการรวมตัวอย่างถูกส่วน ของธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น เมื่อใดธาตุที่ว่านี้ แยกจากกันเมื่อนั้นก็คือการตาย

• วัยทองคืออะไร
วัยทอง โดยนัยแห่งคำจำกัดความที่ผู้เขียนได้ศึกษา และทำความเข้าใจจากบทความเรื่อง “จะทำให้สุขภาพ ดีได้อย่างไรในชาย-หญิงวัยทอง”ของ ศ.กิตติคุณ นพ.หทัย เทพพิสัย ประธานชมรมชาย-หญิงวัยทองแห่งประเทศไทย และ ศ.เกียรติคุณ พญ.อุรุษา เทพพิสัย ประธานฝ่ายวิชาการชมรมชาย-หญิงวัยทองแห่ง ประเทศไทย หมายถึง วัยแห่งความสำเร็จในชีวิตและการงานและเพียบพร้อมด้วยทรัพย์สิน แต่สุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจถูกบั่นทอนจากพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นอันมีเหตุมาจากความบกพร่องของฮอร์โมนเพศ ซึ่งมีอิทธิพลต่อบทบาทในการทำหน้าที่ ของอวัยวะบางอย่างในร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ และภาวะผิดปกติบางชนิดอาจมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต เช่น โรคหัวใจ และหลอดเลือด เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 40-50 ปี ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ก็คือ “วัยทอง”
จากคำจำกัดความของคำว่า “วัยทอง” ดังกล่าวข้างต้น ถ้ามองในแง่ของธรรมะแล้วพูดได้ว่าที่แท้แล้ว วัยทองก็คือ ผลของการที่ร่างกายของคนมีอันต้องเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติตามกฎของอนิจตานั่นเอง ส่วนผลกระทบทั้งด้านร่างกายและจิตใจของคนวัยนี้ ก็คือความทุกข์อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยน แปลง และการที่คนต้องรับทุกข์ทั้งๆ ที่รู้ว่าเมื่อถึงวัยนี้ แล้วทุกคนจะต้องได้รับภาวะเดือดร้อนในทำนองเดียวกันโดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็เป็นไปตามกฎแห่งอนัตตา คือความไม่มีตัวตนของเรา จึงบังคับและ สั่งการให้ร่างกายเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้นั่นเอง
เมื่อคนในวัยนี้ต้องพบกับภาวะเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจดังกล่าวแล้วข้างต้น จะมีวิธีการใดให้ คนวัยนี้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น หรืออย่างน้อยให้ได้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงน้อยลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านจิตใจ?
เกี่ยวกับประเด็นปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านเข้าใจส่วนประกอบของความเป็น“คน” ตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าก่อน เพื่อจะได้นำมาเป็นแนวทางในการป้องกันผลกระทบอันจะเกิดขึ้นกับคนวัยทองอย่างถูกต้องเหมาะสม
ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า “คน” ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
1. ส่วนที่เป็นร่างกาย
2. ส่วนที่เป็นจิตใจ
ใน 2 ส่วนนี้ ถ้าว่ากันในหลักพุทธศาสนาแล้ว ส่วนที่เป็นจิตใจสำคัญกว่าส่วนที่เป็นร่างกาย ดังจะเห็นได้จากพุทธพจน์ที่ว่า “ธรรมะทั้งหลายมีจิตใจเป็นใหญ่ ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ บุคคลจะพูดก็ตาม จะทำก็ ตาม ถ้าใจถูกความชั่วครอบงำแล้วก็ย่อมจะพูดชั่วและทำชั่ว” จากนัยแห่งพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ ว่า จิตใจอยู่เหนือร่างกายหรือเป็นผู้บงการร่างกายได้ ดังนั้นถ้าจะแก้ไขป้องกันความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นจากการ เปลี่ยนแปลงของคนในวัยทองหรือแม้กระทั่งในวัยอื่น ก็จะต้องเริ่มด้วยการฝึกจิตให้รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงและยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ด้วยความ สงบเยือกเย็น และอยู่กับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างรู้เท่าทัน ก็จะทำให้จิตที่กังวลและเป็นทุกข์เดือดร้อน น้อยลงได้ในระดับหนึ่ง และถ้ามีการฝึกจิตให้ถึงขั้นเป็นสมาธิอย่างมั่นคงหรือที่เรียกว่า “อัปปนาสมาธิ” ได้ก็จะส่งผลถึงการแสดงออกทางกายได้อย่างเข้มแข็ง และทนต่อผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงได้ มากกว่าคนปกติทั่วไป
แต่การที่คนจะฝึกจิตใจให้ถึงขั้นสงบได้นั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้กำหนดวิธีการฝึกอบรมจิตใจไว้เป็น 3 ขั้น คือ
1. ศีล การทำกายและวาจาให้เป็นปกติ ปราศจากการทำชั่วทางกายและวาจา เป็นการกำจัดกิเลสอย่างหยาบ เช่นการฆ่าสัตว์และลักทรัพย์ เป็นต้น
2. สมาธิ อันได้แก่ การฝึกจิตให้สงบปราศจากกิเลสอย่างกลาง เช่น การวิตกกังวล และความฟุ้งซ่าน เป็นต้น
3. ปัญญา คือ ความรอบรู้ในสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตามความเป็นจริง เป็นการกำจัดกิเลส อย่างละเอียด
จากคำสอน 3 ประการนี้ ถ้าปุถุชนคนอย่างเราทำ ได้แค่ศีลและสมาธิ ก็เพียงพอแล้วที่จะป้องกันความทุกข์ความเดือดร้อนอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงใน วัยทองได้ ถึงแม้ไม่เด็ดขาด ก็ทุเลาเบาบางในระดับที่มีชีวิตอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อนจนเกินไป

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 89 เม.ย. 51 โดย สามารถ มังสัง)
กำลังโหลดความคิดเห็น