ถึงแม้ภาพยนตร์เรื่อง As Good As it Gets ในชื่อภาษาไทยว่า ‘เพียงเธอ...รักนี้ดีสุดแล้ว’ จะสร้างและออกฉายเมื่อ 10 กว่าปีก่อน แต่แก่นแท้ของเรื่องคือการแสดงออกถึงนิสัยด้านมืดอันเป็นกิเลสของมนุษย์ ก็ยังมีอยู่ทุกยุคทุกสมัยนั่นคือ ‘ความเห็นแก่ตัว’ ซึ่งการละความเห็นแก่ตัวด้วยการเป็นผู้‘ให้’บ้าง ย่อมเป็นความสุขที่แท้จริงเหนือสิ่งอื่นใด
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการกล่าวขานอย่างมากจนกวาดรางวัลผู้แสดงนำชายและหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีออสก้าเมื่อปี 1997 รวมทั้งกวาดรางวัลภาพยนตร์ยอด เยี่ยม และรางวัลนักแสดงชาย-หญิงยอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลกทองคำด้วย
รางวัลมากมายที่ได้มานี้ย่อมรับประกันได้ว่าตลอด 138 นาทีบนแผ่นฟิล์ม คนดูจะอิ่มเอมกับบทบาทการแสดงที่สมจริงและเนื้อหาสาระของเรื่องที่ชวนติดตาม ซึ่งผู้เขียนบทคือ Mark Andrus ได้สอดแทรกให้ตัวละครแต่ละคนมีปมปัญหาชีวิตของมนุษย์ในหลากหลายรูปแบบที่มักพบเจอในเมืองใหญ่
หนังเปิดเรื่องด้วย เมลวิน ยูดัล หนุ่มใหญ่นักเขียนนวนิยายรักโรแมนติก ที่มีฐานะดีถึงขนาดอาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนต์ ชั้นดีกลางกรุงนิวยอร์ก แม้จะประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน แต่ชีวิตเขากลับไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่คนภายนอก เห็น เขาเป็นหนุ่มใหญ่ที่มีความเก็บกด จิตใจคับแคบ อารมณ์ร้าย และชอบพูด จาถากถางผู้คน โดยเฉพาะเพื่อนจิตรกร ข้างห้องอย่าง ‘ไซมอน’ ที่เขารังเกียจในความเป็นเกย์ของจิตรกรหนุ่ม
แม้กระทั่งเจ้าเวอร์เดล หมาน้อยแสนน่ารักที่ไซมอนรักเหมือนลูก เมลวิน ก็แสนจะรังเกียจ ถึงขนาดโยนเจ้าหมาน้อยลงช่องใส่ขยะของอาคาร ยามที่ไซมอนเผลอปล่อยให้ออกมานอกห้อง
แต่แล้ววันหนึ่งก็เกิดเรื่องใหญ่กับไซมอน เมื่อ ‘แฟรงค์’ ซึ่งเป็นเพื่อนและเอเจนซี่ให้กับไซมอนได้นำชายข้างถนนมาเป็นแบบให้เขาวาดภาพ แต่ชายคนนั้นกลับพาเพื่อนๆ มาลักขโมยของในห้อง และรุมทำร้ายเขาจนบาดเจ็บสาหัส ถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาล ร้อนถึงแฟรงค์ต้องพาเจ้าเวอร์เดลไปฝากเพื่อนบ้านให้ดูแล แต่ก็ถูกปฏิเสธ จนท้ายที่สุดแฟรงค์ ต้องใช้ความเป็นนักเลงบังคับให้เมลวินรับเจ้าหมาน้อยไปเลี้ยงดูชั่วคราว
แม้จะไม่อยากรับหมามาเลี้ยง แต่เมลวินก็ขัดไม่ได้ และการเปิดประตูรับเจ้าเวอร์เดลนั้น ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดหัวใจรับเพื่อนมนุษย์ที่เขาปฏิเสธมาตลอดชีวิต ทั้งนี้เพราะเขาใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียวมาตลอด ในอพาร์ทเมนต์ที่ไม่เคยเปิดโอกาสให้ใครได้ก้าวเข้าไปเยือนสักคนเดียว
ชีวิตที่เริ่มมี ‘เพื่อน’ แม้จะเป็นสัตว์สี่เท้า แต่ด้วยความน่ารักของเจ้าหมาน้อย ประกอบกับความเหงาโดดเดี่ยวที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ภายในจิตใจ จึงทำให้หัวใจอันแข็งกระด้างของเมลวินค่อยๆอ่อนลงไปเรื่อยๆ แค่ช่วงเวลาไม่นานเจ้าเวอร์ดัลก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขาโดยไม่รู้ตัว เขามีความสุขทุกครั้งที่ได้เล่นเปียโน และร้องเพลงให้มันฟัง
แต่เมื่อไซมอนที่กลับจากการรักษาตัวที่โรงพยาบาล มารับเจ้าเวอร์เดลกลับไป ทำให้เมลวินรู้สึกเหงาขึ้นมาจับใจ ถึงกับหลั่งน้ำตาและถามตัวเองว่า “ฉันร้องไห้ให้กับหมาเหรอนี่???”
ทุกเช้าเมลวินจะไปกินอาหารเช้าที่ร้านเจ้าประจำและจะต้องนั่งที่โต๊ะตัวเดิม พนักงานเสิร์ฟทุกคนเอือมระอากับความหยาบคายและเจ้าระเบียบของเขา จนไม่มีใครอยากมาบริการ มีเพียงแต่ ‘แครอล คอนเนลร์’ พนักงานเสิร์ฟแม่หม้ายลูกติด เพียงคนเดียวซึ่งใจเย็นพอที่จะรองรับอารมณ์อันร้ายกาจของเขาได้
แครอลเป็นผู้หญิงที่ต้องทำงานหนักจนแทบไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง เพราะเธอต้องดูแลลูกชายชื่อ ‘สเปนเซอร์’ ที่ป่วยหนักด้วยโรคหืด และเพราะความจน แครอลจึงไม่สามารถเลือกหมอเก่งๆ มารักษาลูก
วันหนึ่งเมื่อเมลวินไปที่ร้านอาหารเหมือนเช่นเคย เขาไม่ได้พบแครอล และรู้ว่าเธอขาดงานเพราะลูกชายไม่สบายหนัก เขาจึงไปหาแครอลถึงบ้าน และได้เห็นสภาพของสองแม่ลูกที่น่าสงสาร เคลวินจึงไปขอให้หมอที่รู้จักกันมาช่วยรักษาลูกชายของแครอล
ส่วนจิตรกรไซม่อนนั้นระยะหลังเขาขายภาพไม่ได้สักภาพ แถมมีค่าใช้จ่ายที่มากเกินกว่ารายได้ ทำให้เมลวินอดไม่ได้ที่จะพูดจาเสียดสีเช่นเคย จนไซม่อนเสียใจมาก
ข้างฝ่ายแครอลเมื่อลูกชายมีอาการดีขึ้น เธอจึงตัดสินใจมาหาเมลวินที่ห้อง เพื่อที่จะขอบคุณ แต่เมลวินกลับบอกไปว่าที่ทำเช่นนั้น เพราะอยากจะให้เธอกลับไปทำงานเป็นสาวเสิร์ฟ เพื่อบริการเขาเหมือนเดิม แต่เมื่อพลั้งปากไปแล้วเมลวินกลับรู้สึกไม่สบายใจจนนอนไม่หลับ ตกดึกเขาจึงไปเคาะห้องไซม่อน เพื่อปรึกษาเรื่องนี้ และนี่เป็นครั้งแรกที่เมลวินมี ‘เพื่อน’ ที่คอยให้คำปรึกษา นอกจากจิตแพทย์ที่เขาต้องไปพบทุกเดือน
เมลวินเริ่มซึมซับและสัมผัสถึงความอ่อนหวาน ความมีจิตใจเมตตา ตรงไปตรงมา และจริงใจของแครอล เมื่อครั้งที่เขาชวนเธอขับรถพาไซม่อนไปขอเงินพ่อแม่ที่บัลติมอร์ ซึ่งเมื่อถึงที่หมายแครอลก็ ได้รับข่าวดีว่าอาการของลูกชายดีขึ้น ทำให้เธอดีใจและชวนเมลวินออกไปเต้นรำ
เมื่อทั้งสามกลับมาถึงนิวยอร์ก ห้องเช่าของไซมอนก็ถูกเจ้าของยึดคืนแล้ว แต่เมลวินกลับแสดงน้ำใจโดยแอบจัดการย้ายข้าวของทุกชิ้นของไซม่อนมาไว้ยังห้องพักของเขา ทำให้ไซมอนรู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจและเอ่ยคำขอบคุณ จนเมลวินทำตัวไม่ถูก เพราะทั้งชีวิตเขาไม่เคยได้ยินคำ ‘ขอบคุณ’ จากใครเลย มีแต่คำด่าว่าเรื่องความใจแคบที่เขามีมาตลอด
ลูกชายของแครอลหายป่วยและสามารถออกไปเล่นนอกบ้านได้เป็นครั้งแรกในชีวิต ทำให้เธอรู้สึกว่าแม้เมลวินจะปากร้าย แต่จิตใจลึกๆ แล้วกลับเป็นคนมีน้ำใจดี
เรื่องนี้จบอย่างแฮปปี้เอนดิ้งคือทั้งเมลวินและแครอลต่างเปิดใจรับรักซึ่งกันและกัน
แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ เมลวินเปิดใจในการเป็น ‘ผู้ให้’ กับคนอื่นๆ ซึ่งผลที่ได้ รับนั้นคือ ‘ความสุขใจ’ ที่เขาสามารถเอา ชนะนิสัยไม่ดีที่สังคมรังเกียจออกไปจาก ชีวิตที่เกาะกินมานานปีได้สำเร็จ เพราะความเป็นผู้ให้ย่อมยิ่งใหญ่เสมอ
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 88 มี.ค. 51 โดย ปาณี)