xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารบ้านเรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สมเด็จพระเทพฯ” ทรงยกฉัตรยอดพระธาตุจอมกิตติ
• เชียงราย :
เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 51 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงยกฉัตรประดิษฐานบนยอดพระธาตุจอมกิตติ วัดพระธาตุจอมกิตติ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยมีนายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ รมว.วัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พร้อมผู้บริหาร วธ. ข้าราชการ และประชาชน จ.เชียงราย เฝ้าฯ รับเสด็จจำนวนมาก
นายสหวัฒน์ แน่นหนา ผอ.สำนักศิลปากร ที่ 8 เชียงใหม่ กล่าวภายหลังว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2550 ซึ่งมีศูนย์กลางบริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งของพระธาตุจอมกิตติ จ.เชียงราย เป็นเหตุให้องค์พระธาตุ เกิดรอยร้าวรวมทั้งยอดฉัตรของพระธาตุโค่นหักลงมา ทำให้ฉัตรบนยอดเจดีย์พระธาตุจอมกิตติตกลงมาเสียหาย อัญมณีนพรัตน์ 9 เม็ดที่ปลายยอดฉัตร 2 เม็ด คือ นิลและโกเมน สูญหายไป และปรากฏรอยร้าวหลายแห่งที่องค์เจดีย์ โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันตก
“กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งในส่วนโครงสร้างและฐานราก ด้วยการซ่อมรอยแตกร้าวและผิวทององค์เจดีย์ กระสวนแบบทุกส่วนขององค์เจดีย์ ได้แก่ ลายปูนปั้นบนผิว ลายฉลุ ลายดุนบน แผ่นจังโก เสริมอิฐซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย และเสริมความมั่นคงรอยแตกร้าวด้วยกาววิทยาศาสตร์ (Epoxy) แรงดันต่ำ เจาะเย็บด้วยสแตนเลส และอัดฉีดน้ำปูน ส่วนปลียอด ได้เปิดจังโกที่หุ้มปลียอดออก และรื้อแกนเดิมออก ทำการติดตั้งแกนฉัตรที่หักใหม่ ซึ่งฉัตรมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาท 9 ชั้น ความสูง 3.05 เมตร น้ำหนัก 30.98 กก. แกนฉัตรทำด้วยทองแดง
ส่วนยอดสร้างด้วยทองคำประดับอัญมณี 9 เม็ด โดยมีประชาชนบริจาคอัญมณีที่หายไป 2 เม็ด ทำให้มีอัญมณีครบตามจำนวน องค์ฉัตรมีการระบายฉัตรฉลุลายโปร่งเป็นกระจัง ฟันปลา ส่วนปล้องไฉน ปลียอดเหนือซุ้มองค์พระธาตุ ปิดทองจังโก และปิดทับด้วยทองคำเปลวบริสุทธิ์ชนิดคัดพิเศษ ประดับในส่วนบนเหนือซุ้มเรือนพระธาตุ การบูรณะครั้งนี้ได้รับเงินบริจาคจากพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ รวม 6,170,000 บาท”
โดยผอ.สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ยืนยันว่า ผู้เชี่ยวชาญกรมศิลปากรหลายคนให้ความมั่นใจว่า องค์พระธาตุจะมีความแข็งแรงมั่นคงมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากได้ทดสอบด้านโครงสร้างทางวิศวกรรม จึงไม่น่ามีเหตุการณ์ที่ทำให้พระธาตุเสียหายขึ้นอีก ยกเว้นกรณีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นบริเวณที่มีจุดศูนย์กลางใกล้พระธาตุมากๆ ก็จะทำให้เกิดความเสียหายได้ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ก็จะเปิดให้ประชาชนเข้ามาสักการะเหมือนเดิม

กรมศิลป์ใช้ลายดอกแก้วกัลยา เขียนฉากบังเพลิง ‘พระพี่นาง’
• กรุงเทพฯ :
นายกมล สุวุฒโฑ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ในฐานะอนุกรรมการออกแบบฉากบังเพลิง กล่าวว่า ฉากบังเพลิงนั้นหมายถึงประตูกั้นทางขึ้น-ลงพระเมรุ ใช้ปิดเวลาถวายพระเพลิง มักเขียนเป็นรูปเทวดา
ในอิริยาบถต่างๆ มีลักษณะเป็นฉากพับได้ ติดไว้กับเสาพระเมรุทั้ง 4 ด้าน เวลาถวายพระเพลิงจึงดึงหรือยกมาปิดไว้เพื่อบังมิให้เห็นแสงเพลิง ซึ่งลักษณะของฉากบังเพลิง ในพระราชพิธีจะเป็นฉากพับได้ 1 ด้าน มี 4 พับ ใช้บังทั้ง 4 ด้าน ด้านทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออกออก ทิศตะวันตก โดยลักษณะภาพฉากพับด้านหน้า จะเป็นภาพเทวดาเหาะ 2 คู่อยู่ทางด้านขวาของพระเมรุ และนางฟ้า 2 คู่อยู่ทางด้านซ้ายของพระเมรุ รวมเทวดา 8 คู่ 16 องค์ นางฟ้า 8 คู่ 16 องค์ทั้ง 4 ด้าน มือถือเครื่องสูง ซึ่งภาพลายเทวดาจะใช้เฉพาะพระศพของราชวงศ์เท่านั้น
“ส่วนภาพฉากพับด้านหลัง จะเป็นภาพลายดอกแก้วผูกเป็นลายเถามีความเชื่อมต่อกัน ซึ่งดอกแก้วกัลยานั้นเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเพื่อเป็นดอกไม้แห่งสัญลักษณ์ของคนพิการทั่วประเทศ ดอกแก้วกัลยาสื่อความหมายถึงดอกไม้จากนางแก้ว ที่มีน้ำพระทัยสดใสให้แสงสว่าง อบอุ่นกับมวลหมู่พสกนิกร และคนพิการในแผ่นดินไทย ดังน้ำพระราชหฤทัยจากพระองค์ ส่วนภาพเทวดาและนางฟ้าพร้อมด้วยเครื่องสูงต่างๆนั้น สื่อถึงการนำส่งเสด็จขึ้นสู่สวรรคาลัย โดยภาพลายฉากบังเพลิงทั้งหมดจะเป็นสีทองบนพื้นแดง ทั้งนี้ ลายส่วนล่างสุดของ ฉากบังเพลิงจะเป็นลายสัตว์หิมพานต์ ตรงกลางเป็นลายเทวดาและนางฟ้า ส่วนด้านบนสุดจะอัญเชิญพระลัญจกร กว.ในพระองค์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ มาประดิษฐานไว้ด้วย” นายกมลกล่าว

อุบลฯเดินหน้าสร้าง ‘ประตูบูรพาจารย์’ แห่งแรก
• อุบลราชธานี :
นายพรชัย โควสุรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสร้างซุ้มประตูทางเข้าเมืองอุบลราชธานีแห่งแรก ตั้งอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 283+700 ถนนแจ้งสนิท เขตบ้านแก ต. แจระแม อ.เมือง ซึ่งจะเป็นซุ้มประตูขนาดความกว้าง 50 เมตร สูง 8.64 เมตร อยู่ระหว่างการตอกเสาเข็ม คาดว่าใช้เวลาสร้างราว 3 เดือน
สำหรับการสร้างซุ้มประตูเมืองแห่งแรกใช้แนวคิดการเป็นเมืองแห่งนักปราชญ์ ซึ่งมีบูรพาจารย์หรือเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดหลายรูป จึงมีการนำรูปเหมือนของบูรพาจารย์ชื่อดังของเมืองที่ได้ล่วงลับไปแล้ว 6 รูป คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน), พระอุบาลีคุณูปมาจารย์(จันทร์ สิริจันโท), หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต, หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล, พระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด นนฺตโร) และหลวงพ่อชา สุภัทโทมาประดิษฐานอยู่บนประตูเมืองให้ผู้ผ่านไป-มาได้เคารพ
ทั้งนี้ บูรพาจารย์ที่กล่าวนามมาทุกรูปล้วนเป็น ผู้ที่สร้างความเจริญด้านพุทธศาสนา จนกระทั่งอุบลราชธานีได้รับการขนานนามให้เป็นเมืองแห่งนักปราชญ์มาจนถึงวันนี้ โดยซุ้มประตูที่สร้างขึ้นจะให้ชื่อว่า “ประตูแห่งบูรพาจารย์”

ในหลวงโปรดเกล้าฯให้พิมพ์หนังสือที่ระลึกพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร
• กรุงเทพฯ :
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวัง จัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกเพื่อพระราชทานแก่ข้าราชการ และข้าราชบริพาร ผู้มาร่วมงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร พระราชทานพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมหาราชวังโดยมอบให้ผู้ร่วมงานคนละ 1 ชุด ประกอบด้วยหนังสือ 3 เล่ม ได้แก่ หนังสือ การประดิษฐานพระโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท, หนังสือพระธรรมเทศนา และ หนังสือพระบรมราชาธิบายเรื่องสามัคคีิ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยหนังสือที่ระลึกดังกล่าว สำนักพระราชวังจัดพิมพ์เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,600 ชุด

วิทยาลัยศาสนศึกษาทำผลการวิจัย70 พระอารามหลวง ในกรุงเทพฯ
• นครปฐม :
ดร.พินิจ รัตนกุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จ.นครปฐม เปิดเผยว่า วิทยาลัยศาสนศึกษาได้จัดทำโครงการวิจัยพระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2549 ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ด้วยเล็งเห็นว่าวัดเป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชนในเรื่องสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และศิลปวัตถุต่างๆ อาทิ พระอุโบสถ วิหาร เจดีย์ ฯลฯ อันเป็นที่รวมของมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ แต่คนไทยโดยทั่วไปยังขาดความรู้ความเข้าใจและเห็นคุณค่าของมรดกทางวัมนธรรมเหล่านี้ ดังนั้น จึงได้จัดทำโครงการวิจัยดังกล่าว ขึ้นมา เพื่อรวบรวมความรู้ที่สำคัญในพุทธศาสนาที่มีในวัด ทั้งนี้ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เกิดความรู้ความเข้าใจ ตระหนักในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และช่วยกันปกป้องดูแลรักษาให้อยู่คู่พุทธศาสนาและประเทศชาติต่อไป โดยเริ่มจากพระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ วิทยาลัยศาสนศึกษาได้นำผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพระอารามหลวง ในกรุงเทพมหานครที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลปัจจุบัน จำนวน 70 วัด มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ 2 เล่ม รวม 1 ชุด มีความหนา 980 หน้า สำหรับใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงทางวิชาการ การเยี่ยมชมวัด และการเก็บรักษาไว้เป็น มรดกให้ลูกหลานได้ศึกษา
หนังสือชุดนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยเนื้อหา และภาพประกอบสี่สีสวยงามที่หาชมได้ยากกว่า 2,000 ภาพ แต่ละภาพมีคำบรรยายทั้งภาษาไทยและอังกฤษผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โทร. 0-2800-2630-39 ต่อ 207

เตรียมจัดสร้างพระพุทธรูปเฉลิมพระเกียรติสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชครบ 19 ปี
• กรุงเทพฯ :
สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช แถลงข่าวโครงการสร้างพระพุทธรูปประจำเมืองเชียงแสน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในโอกาสปีมหามงคล ที่ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชครบ 19 ปี ในวันที่ 21 เมษายนนี้ และทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 9 โดยพระครูสังฆสิทธิกร หัวหน้าฝ่ายศาสนวิเทศ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการ กล่าวว่า พระพุทธรูปนี้จะสร้างเป็นศิลปะเชียงแสน ขนาดหน้าตักกว้าง 99 ซม. สูง 119 ซม.(ไม่รวมฐาน) หล่อด้วยโลหะบรอนซ์ และพระเกศหล่อด้วยทองคำ น้ำหนัก 119 บาท ส่วนพระเกศมีลายอุณาโลมที่มีลักษณะคล้าย เลข 9 ไทยจำนวน 9 อัน บนพระเกตุมาลามีเม็ดพระศกนับจากกึ่งกลางไปด้านซ้ายและด้านขวาอย่างละ 9 เม็ด และบัวที่มีจำนวน 19 ดอก น้ำหนักของพระประมาณ 199 กก. มูลค่ารวมประมาณ 2,679,000 บาท โดยพิธีเททองหลอมโลหะหล่อพระพุทธรูป จะมีขึ้นในวันที่ 9 มีนาคม เวลา 16.19 น.ที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ส่วนพิธีพุทธาภิเษก พระพุทธรูปประจำเมืองเชียงแสน และพระกริ่งญาณสังวร จะมีขึ้นในวันที่ 9 เมษายน 2551 เวลา 09.19 น. ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และหลังจากเสร็จ พิธีพุทธาภิเษกแล้ว จะมีพิธีอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดพระเจ้าล้านทอง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งจะจัดงานพิธีสมโภช 9 วัน 9 คืน ระหว่างวันที่ 13-21 เมษายน 2551

สภากาชาดไทยส่งเสริมเด็ก จัด ‘ค่ายเยาวชนราชการุณย์’
• กรุงเทพฯ :
ทัศนีย์ ชวาเขต หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานกลางสภากาชาดไทย เปิดเผย
ว่า สภากาชาดไทยจะจัดโครงการ ค่ายเยาวชนราชการุณย์ ครั้งที่ 10 ตั้งแต่วันที่ 23-27 มีนาคม 2551 รวม 5 วัน 4 คืน ณ ศูนย์ราชการุณย์สภากาชาดไทย เขาล้าน จ.ตราด เพื่อส่งเสริมและพัฒนาบุคลิกภาพในด้านมารยาท อิริยาบถ และการพูด ฝึกให้เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความเชื่อมั่นและกล้าแสดงออก ฝึกการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ และการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งส่งเสริมให้รู้จักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสภาวะโลก ร้อน ตลอดจนสัมผัสเรียนรู้ธรรมชาติด้วยตนเอง โดยเปิดรับสมัครเด็กและเยาวชนที่มีอายุระหว่าง7-13 ปี จำนวน 96 คน เด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้มารยาท ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย งานศิลปะ การปฐมพยาบาล การปลูกต้นไม้ ป่าชายเลน ฯลฯ
ผู้ปกครองท่านใดสนใจส่งบุตรหลานเข้าร่วมโครงการ ‘ค่ายเยาวชนราชการุณย์’ สมัครได้ที่ฝ่ายบริหารงานทั่วไปสำนักงานกลาง ตึกนิลุบลกุลแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมค่าธรรมเนียมคนละ 3,900 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0-2256-4019-22 หรือที่ศูนย์ราชการุณย์ สภากาชาดไทย เขาล้าน จ.ตราด โทร. 039-521-838, 08-9769-2475 และ 08-1926-2803 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 มีนาคม 2551

เจ้าคณะภาค 2 แนะหลักการบริหารจัดการวัด
• ฉะเชิงเทรา :
ในการประชุมเจ้าอาวาสวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น วัดพัฒนาตัวอย่าง และอุทยานการศึกษาในวัด ประจำปี 2551 ณ วัดโสธรวรารามวรวิหาร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งจัดโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 29 ม.ค.-1 ก.พ. 51 นั้น พระธรรมโกศาจารย์ เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส เจ้าคณะ
ภาค 2 อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้แนะแนวทาง 4 ข้อ แก่เจ้าอาวาสในการบริหารจัดการวัดให้ประสบผลสำเร็จ กล่าวคือ 1.การวางแผน คือการกำหนดขั้นตอนในการทำงาน เพื่อไปสู่เป้าหมาย โดยการวางแผนนั้นต้องดูทุกอย่าง เช่น อำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาส หลักการต่างๆที่มหาเถรสมาคมกำหนดไว้ 2.การจัดองค์กร มีการจัดงานแบ่งฝ่ายรับผิดชอบในวัดอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องสาธารณูปการและสาธารณสงเคราะห์ โดยเจ้าอาวาสเป็นผู้ควบคุมดูแล 3.การพัฒนาบุคลากร ต้องมีการพัฒนาบุคลากรคือพระเณร เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการทำงานพัฒนาวัดต่อไป 4.การสั่งการ เมื่อมีแผนและบุคลากรพร้อมแล้ว แต่งานไม่ก้าวหน้า เจ้าอาวาสต้องสั่งการ อาจจะ เป็นวาจาหรือลายลักษณ์อักษร และต้องควบคุมติดตามประเมินผล เพราะเจ้าอาวาสมีอำนาจตามกฎหมายสงฆ์ ในการจัดการดูแลภายในวัด
ในการทำงานนั้น นอกจากเจ้าอาวาสจะเป็นผู้บริหารคือผู้ที่ทำให้ผู้อื่นทำงานตามที่ผู้บริหารต้องการโดยมีการสั่งการแล้ว บางครั้งเจ้าอาวาสต้องมีภาวะในการเป็นผู้นำด้วย ผู้นำคือผู้ที่ทำให้คนอื่นต้องการทำงานตามที่ผู้นำต้องการ คือการปลุกใจให้ผู้อื่นต้องการทำนั่นเอง
โดยหลักในการบริหารทั้งหมดนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้บอกไว้ว่าต้องอาศัย 3 หลัก คือ 1.กฎหมายแผ่นดิน 2.พระธรรมวินัย และ3.จารีตประเพณี มาประกอบด้วย

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 88 มี.ค. 51 โดย มรรคา)
กำลังโหลดความคิดเห็น