xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระพี่นางฯ กับพระกรณียกิจในพุทธศาสนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงได้รับการปลูกฝังในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม จากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ซึ่งได้ทรงสอนพระโอรสธิดาให้ทรงมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ทรงสอนให้บำเพ็ญทาน ให้มีความเมตตา กรุณา เอื้อเฟื้อเสียสละ สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดพระจริยวัตรอันงดงาม อ่อนโยน ในพระโอรสธิดาทุกพระองค์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ พระโสทรเชษฐภคินี แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระจริยวัตรอันงดงามอ่อนโยน เปี่ยมด้วยพระเมตตา และพระกรุณา ทรงบำเพ็ญกุศลทานอย่างสม่ำเสมอ และทรงเป็นพุทธมามกะผู้มีพระศรัทธามั่นคงดำรงในพระบวรพุทธศาสนา ทรงทำนุบำรุง พระศาสนาให้เจริญงอกงามไพบูลย์ รวมทั้งทรงเผยแผ่ พระธรรมคำสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้กว้างไกลออกไป ทั้งในและต่างประเทศ


• การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จฯเยี่ยมประชาชนในการพระราชกรณียกิจต่างๆในประเทศ จะทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อนำไปถวายเจ้าอาวาสวัดในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อบำรุงวัด แม้ในต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน โดยในปี ๒๕๓๓ ทรงเป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จฯเยือนวัดไทย ในสวิตเซอร์แลนด์ คือ วัดศรีนครินทรวราราม วัดเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (ซึ่งขณะนั้นอยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง) ก็ได้ทรงถวายปัจจัยจำนวนหนึ่ง เพื่อบำรุงวัด พร้อมกับทรงมีพระดำรัสว่า

“ความจริงก็ตั้งใจจะมาเยี่ยมอยู่เป็นเวลาหลายวันแล้ว แม้ทางวัดจะไม่มีหนังสือเชิญไปก็ตาม คุณแม่เพิ่งเอาหนังสือของทางวัดมาให้ดูเมื่อวานนี้เอง พร้อมรับสั่งให้มาแทน จึงถือว่ามาส่วนตัวด้วย มาแทนคุณแม่ด้วย”

นอกจากนี้ ยังทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระศาสนาในด้านต่างๆมิได้ขาด อาทิ การถวายผ้าพระกฐิน แก่พระอารามทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เสด็จเป็นองค์ประธานในการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานที่วัดอ่องเหม่โป่งล่าชาน กรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๔๑, เสด็จฯเป็นองค์ประธานในการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานที่วัดแสนสุขาราม เมืองหลวงพระบาง ระหว่างวันที่ ๒๘-๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๑ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา ฯลฯ เสด็จฯถวายผ้ากฐินพระราชทาน ณ วัดช้างค้ำวรวิหาร จ.น่าน พระอารามหลวง เมื่อปี ๒๕๔๑ หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะเยาวชนกลุ่มเยาวชนร่มฉัตรน้อมเกล้าฯอัญเชิญเครื่องพระกฐินส่วนพระองค์ พร้อมตาลปัตรจารึกอักษรพระนามย่อ ไปทอดถวาย ณ วัดเขาแก้ววิเชียร จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี ๒๕๔๘, กฐินพระราชทาน ถวายแด่วัดธาตุทอง ในพระอุปถัมภ์ฯ เป็นต้น

การเสด็จฯเป็นประธานประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาในพระอารามต่างๆ เช่น พิธียกช่อฟ้า ฝังลูกนิมิต ผูกสีมา ฯลฯ ดังเช่นที่ได้เสด็จทรงเป็นประธานประกอบพิธีเปิดวัดศรีนครินทรวราราม อย่างเป็นทางการ ในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ และได้เสด็จฯเป็นประธานในพิธียกช่อฟ้า ฝังลูกนิมิต ผูกสีมา และฉลองอาคารอุโบสถ และศาลาเอนกประสงค์ของวัดศรีนครินทรวราราม เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๖

ขณะที่วัดไทยอีกวัดหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์ คือ ‘วัดธรรมปาละ’ ซึ่งเป็นวัดป่าสายหลวงพ่อชา สุภัทโท ก็ทรงเสด็จฯไปเปิดป้ายศาลาสมเด็จย่า พร้อมทั้งพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ด้วยจิตศรัทธา เพื่อบำรุงวัด

ส่วนที่ ‘วัดอมราวดี’ ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯได้เสด็จตัดลูกนิมิต เมื่อต้นปี ๒๕๔๒ และได้สดับพระธรรมเทศนา โดยพระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)

การถวายผ้าป่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าป่า จำนวน 15,938 กอง ในการนี้ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ประดับองค์ผ้าป่า จำนวน 1,000,000 บาท เพื่อสมทบทุนในการจัดสร้างเจดีย์ศรีพุทธคยา เฉลิมพระเกียรติฯ ณ วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นวัดในพระองค์แห่งแรก

• การเผยแผ่พระศาสนา

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯทรงสนพระทัยในการศึกษาหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งจากการทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง รวมถึง จากการทรงสดับและสนทนาธรรม กับ พระเถรานุเถระ รวมทั้งปราชญ์ในพระพุทธศาสนา เช่นอาจารย์โกเอ็นก้า วิปัสสนาจารย์ เอกชาวอินเดีย ซึ่งพระองค์ได้เสด็จทรง เป็นประธานการแสดงปาฐกถาธรรมของท่านโกเอ็นก้า เรื่อง “พระไตรปิฏกกับการปฏิบัติวิปัสนากรรมฐาน” เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๔ ณ หอพระไตรปิฏกนานาชาติ อาคารอักษรศาสตร์ 1 มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์

พระราชกรณียกิจสำคัญในการเผยแผ่ศาสนาให้กว้างไกลไพบูลย์ออกไป คือการเป็นประธานกิตติมศักดิ์การพระราชทานและประดิษฐานพระไตรปิฎก สากลในนานาประเทศทั่วโลก และเป็นองค์ประธานก่อตั้งและองค์ประธานกิตติมศักดิ์ มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในการแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ฉบับแรกของ โลก จำนวน ๑,๐๐๐ ชุด ในชื่อ ‘พระไตรปิฎกบาฬี มหาสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ.๒๕๐๐ อักษรโรมัน พ.ศ.๒๕๔๘’ เพื่อพระราชทานไปยังสถาบันสำคัญในนานาประเทศ ๙๙๙ แห่ง ตามรอย ‘พระไตรปิฎก ฉบับจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช ร.ศ.๑๑๒ อักษรสยาม’ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพิมพ์ขึ้น และพระราชทานไปยังสถาบันสำคัญทั่วโลกกว่า ๒๖๐ สถาบัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ อันเป็นการเจริญรอยตามพระราชศรัทธาและสืบทอดพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัยกาธิราช รวมทั้งเป็น การสืบสานพระพุทธศาสนาให้ดำรงมั่นคงสืบไป

ดังพระดำรัส การพระราชทานพระไตรปิฎกสู่สากล ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ปี ๒๕๔๘ ความว่า

“ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มอบ พระไตรปิฎกภาษาบาฬี อักษรโรมัน ๔๐ เล่ม ชุดนี้แก่ สถาบันสำคัญทั่วโลก ตามที่นานาประเทศได้แสดงความปรารถนามา โอกาสนี้มีความหมายพิเศษ เนื่องด้วยพระไตรปิฎกอักษรโรมันที่จัดพิมพ์เป็นปฐมฤกษ์นี้ เป็นพระไตรปิฎกภาษาบาฬี ฉบับสากลชุดสมบูรณ์ชุดแรกของโลก อันเป็นคลังอารยธรรมทางปัญญาสูง สุดของโลกที่สืบทอดมากว่า ๒,๕๐๐ ปี เพราะเป็นผล มาจากการประชุมสังคายนาสากลของพระสงฆ์ ๒,๕๐๐ รูป ระดับนานาชาติ ในปี พ.ศ.๒๕๐๐

การมอบพระไตรปิฎกบาฬี ชุดพิเศษปฐมฤกษ์ ๓ ชุด ที่พิมพ์ขึ้นโดยกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ ในปี พ.ศ.๒๕๔๘ ได้จัดขึ้นสำหรับโลกตะวันออกตามคำเชิญของประธานาธิบดีแห่งประเทศศรีลังกา ซึ่งข้าพเจ้าได้เดินทางจาริกไปมอบแก่ประชาชนชาวศรีลังกา ประดิษฐาน ณ ทำเนียบประธานาธิบดี กรุงโคลัมโบ ในวันที่ ๖ มีนาคม ชุดปฐมฤกษ์สำหรับราชอาณาจักรไทย มอบแก่ปวงชนชาวไทย ประดิษฐาน ณ ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กรุงเทพมหานคร ในวันที่ ๑๕ สิงหาคม และชุดปฐมฤกษ์สำหรับโลกตะวันตกมอบแก่ราชอาณาจักรสวีเดน ประดิษฐาน ณ มหาวิทยาลัยอุปซาลา นครอุปซาลา ในวันที่ ๑๓ กันยายน

การมอบพระไตรปิฎกบาฬี อักษรโรมันฉบับนี้ เป็นการบำเพ็ญบุญกิริยาตามรอยพระไตรปิฎกบาฬี อักษรสยาม พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ชุดแรกของโลก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบรมอัยกาธิราชของข้าพเจ้าได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ และได้พระราชทานไปยังสถาบันสำคัญทั่วโลกกว่า ๒๖๐ สถาบัน เมื่อ ๑๑๒ ปี มาแล้ว พระไตรปิฎกชุด ประวัติศาสตร์ ฉบับจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช ร.ศ.๑๑๒ ชุดนี้ ยังคงได้รับการเก็บรักษาอย่างดีมาจน ถึงปัจจุบัน ณ สถานที่สำคัญและสถาบันเก่าแก่ต่างๆ ทั่วโลก เช่น วิหารพระทาฐธาตุ นครแคนดี ประเทศศรีลังกา และที่หอสมุด คาโรลีนา เรดิวีวา นครอุปซาลา ราชอาณาจักรสวีเดน

ภายหลังการมอบพระไตรปิฎกสากลชุดพิเศษปฐมฤกษ์แล้ว จะได้ดำเนินการมอบอีก ๑,๐๐๐ ชุด แก่สถาบันสำคัญทั่วโลก โดยมีพระไตรปิฎกศึกษาระดับนานาชาติ เป็นส่วนสำคัญของการมอบพระไตรปิฎกสากลชุดนี้ด้วย ขอหวังว่า พระไตรปิฎกศึกษาระดับนานาชาติในสถาบันสำคัญทั่วโลกนี้ จักให้ความรู้และความเข้าใจใหม่แก่โลกปัจจุบัน ช่วยเสริม สร้างฐานความรู้ในสรรพวิทยาการให้ลึกซึ้งสู่หลักธรรมะในพระไตรปิฎกและบูรณาการเป็นฐานปัญญาเพื่อสันติสุขและมั่นคงในโลกต่อไป

ขออานิสงส์บุญกิริยาแห่งการพิมพ์และประดิษฐานพระไตรปิฎกสากลฉบับนี้ จงนำมาซึ่งปัญญาความรุ่งเรือง และความสุขของชีวิตอันยืนยาวแก่ชาวโลกใน ปัจจุบัน และในอนาคตตลอดไป”


จนถึงปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯได้พระราชทานพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ให้แก่สถาบันต่างๆ รวม ๑๐ แห่งได้แก่ ทำเนียบประธานาธิบดี แห่งศรีลังกา, ศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, หอสมุดมหาวิทยาลัยอุปซาลา ประเทศสวีเดน, รัฐสภาแห่งศรีลังกา, สมาคมพุทธศาสนาเถรวาทญี่ปุ่น, มหาวิทยาลัยโคมาซาวา ญี่ปุ่น, ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์, สมาคมมหาโพธิแห่งอินเดีย พุทธคยา, มหาวิทยาลัยลุนด์ ประเทศสวีเดน และศาลฎีกาแห่งราชอาณาจักรไทย

และในการเสด็จฯออกเยี่ยมเยียนและพระราชทานความช่วยเหลือด้านต่างๆแก่ราษฎรผู้เดือดร้อนในท้องถิ่นต่างๆแล้ว ยังได้พระราชทานหนังสือธรรมะให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และครูในท้องถิ่นนั้นๆด้วย

• การรักษามรดกทางวัฒนธรรม

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีความสนพระทัยในประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรม เป็นอย่างมาก ทรงศึกษาค้นคว้าจากตำรับตำรา รวมทั้งสอบถามจากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ จนกล่าวได้ ว่าทรงเป็นปราชญ์ผู้รอบรู้ในแขนงวิชาดังกล่าว และทรง พอพระทัยในการเสด็จฯเยือนโบราณสถาน ตามพระอารามต่างๆ

บ่อยครั้งที่ได้เสด็จฯไปทอดพระเนตรโบราณสถาน โบราณวัตถุ ยังสถานที่ต่างๆเป็นการส่วนพระองค์ พร้อมกับทรงนำคณะบุคคลและสมาคมต่างๆไปร่วมทัศนศึกษาด้วย อาทิ เสด็จฯพร้อมด้วยคณะสมาคมครูภาษา ฝรั่งเศสแห่งประเทศไทยไปชมความเป็นอยู่ของชาวไทยใหญ่ ชาวมอญ และชาวพม่า ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และศึกษาศิลปวัฒนธรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุ และความเป็นมาของวัดสำคัญๆของจังหวัด ได้แก่ วัดพระธาตุดอยกองมู วัดพระนอน วัดถ้ำก่อ วัดหัวเวียง วัดจองคำ และวัดจองกลาง รวมทั้งเยี่ยมชมหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว และเสด็จเยือนโบราณสถานเมืองน่าน ได้แก่ วัดพระธาตุแช่แห้ง วัดภูมินทร์ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดบุญยืน วัดขึ่งเจริญ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ฯลฯ

การเสด็จฯไปทอดพระเนตรโบราณทุกแห่งนั้น จะทรงมีพระปฏิสันถารกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการบูรณะซ่อมแซม และพระราชทานคำแนะนำจากประสบการณ์ที่ทรงได้รับจากการเยี่ยมชมโบราณสถานในหลายประเทศ ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้โบราณสถาน โบราณวัตถุ อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติดำรงอยู่ เพื่อการศึกษาของชนในชาติ อันจะนำมาซึ่งความรัก ความหวงแหน และตระหนักในคุณค่า ที่บรรพชนได้สร้างสมมา และเกิดจิตสำนึกในการปกป้อง ดูแลและรักษามรดกวัฒนธรรมของชาติ ไว้ให้กับอนุชน รุ่นหลังต่อไปในอนาคต

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 87 ก.พ. 51 โดย กองบรรณาธิการ)



กำลังโหลดความคิดเห็น