xs
xsm
sm
md
lg

การพลัดพรากจากคนที่รักเป็นทุกข์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทันทีที่แถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่อง ‘สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯสิ้นพระชนม์’ ในวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๑ ถูกเผยแผ่ออกไป ทุกข์โทมนัสได้บังเกิดขึ้นในจิตใจของชาวไทยทุกคน แม้แต่รายการโทรทัศน์ก็ไร้สีสันที่แสดงถึงความบันเทิง ภาพพระกรุณาธิคุณในพระกรณียกิจที่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงบำเพ็ญตลอดพระชนมชีพ แลสรรพอักษรที่จารึกพระเกียรติคุณอันประเสริฐ ถูกเผยแผ่ในสื่อสารมวลชนทุกแขนง สำนึกในพระกรุณาธิคุณของพระองค์ได้แผ่ซ่านในจิตใจของปวงชนชาวไทย ทุกคนต่างบำเพ็ญ กุศลถวายแด่พระองค์ตามกำลังของตน สิ่งใดที่ราชการ ประกาศขอความร่วมมือในการนี้ ทุกคนต่างปฏิบัติตามด้วยความสมัครใจ

พระกรณียกิจทั้งปวงที่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ฯ ทรงบำเพ็ญมาตลอดพระชนมชีพ ล้วนเป็นไปด้วยพระกตัญญูกตเวทิตาธรรมในพระทัย ๑ ในพระกรณียกิจที่ควรเป็นแบบอย่างของกตัญญูกตเวทิตาชนคือการเสด็จวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามในวันที่ ๒๐ กันยายน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นต้นมา เพื่อทรงเป็นประธานในการบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของคณะพระราชนัดดา ปนัดดา สายสัมพันธ์ในราชสกุล ร.๕ เนื่องในวันพระราชสมภพ ในการนี้เมื่อเสร็จพระกรณียกิจในพระอุโบสถแล้ว เสด็จสุสานหลวง ทอดผ้าบังสุกุล ณ สุนันทานุสาวรีย์ , รังษีวัฒนา และอนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาศ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สร้างสุสานหลวง ณ วัดราชบพิธ-สถิตมหาสีมาราม เพื่อเป็นสถานที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร พระอังคาร และอังคาร ของสมเด็จพระอัครมเหสีเทวี พระราชโอรส พระราชธิดา เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม ในพระองค์
ด้วยพระกรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามได้รับการพัฒนาให้มีความงดงาม สมเป็นพระราชอนุสรณสถานแห่งพระมหากษัตริยาธิราชอันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย

และเมื่อการพระราชทานเพลิงพระศพเสร็จแล้ว พระสรีรางคารของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จะถูกนำมาบรรจุที่ อนุสาวรีย์ “รังษีวัฒนา” ณ มุขด้านที่บรรจุพระสรีรางคารแห่ง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จศรีนครินทรา บรมราชชนนี

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ เมื่อ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นการส่วนพระองค์
พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงบำเพ็ญเพื่อสุขประโยชน์ของพสกนิกรมีมากเพียงใด พระกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ก็มีส่วนสนับสนุนให้เกิดสุขประโยชน์มากขึ้นด้วย เหมือนดังธรรมคติในอรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปิยวรรคที่ ๑๖ เรื่องที่ ๗ เด็ก ๕๐๐ คน ความพิสดารว่า
วันหนึ่ง พระศาสดา มีภิกษุ ๕๐๐ เป็นบริวารพร้อม ด้วยพระอสีติมหาเถระ เสด็จเข้าไปกรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็ก ๕๐๐ คน ยกกระเช้าขนมออกจากเมืองเพื่อไปสวน แม้เด็กเหล่านั้นถวายบังคมพระศาสดา แล้วก็หลีกไป ไม่กล่าวกะภิกษุแม้สักรูปหนึ่งว่า “ขอท่าน รับเอาขนม?”
พระศาสดาตรัสกะภิกษุทั้งหลาย ในกาลที่ภิกษุเหล่านั้นไปแล้ว ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจักฉันขนมไหม?”
ภิกษุทูลถามว่า “ขนมที่ไหน? พระเจ้าข้า”
พระศาสดาตรัสว่า “เธอทั้งหลายไม่เห็นพวกเด็กถือกระเช้าขนมเดินผ่านไปแล้วดอกหรือ?”
ภิกษุจึงทูลว่า “พวกเด็กเห็นปานนั้นไม่ถวายขนมแก่ใครๆ พระเจ้าข้า”
พระศาสดาจึงตรัสขึ้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย เด็กเหล่านั้นไม่นิมนต์เราหรือพวกเธอด้วยขนมก็จริง ถึงกระนั้น ภิกษุผู้เป็นเจ้าของขนม ก็กำลังมาข้างหลัง ฉันขนมเสียก่อนแล้วไป จึงควร”
ตามธรรมดา พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่มีความริษยา หรือความประทุษร้ายแม้ในบุคคลคนหนึ่ง เพราะฉะนั้น พระศาสดาตรัสคำนี้แล้ว จึงพาภิกษุสงฆ์ไปประทับนั่งใต้ร่มเงาโคนไม้ต้นหนึ่ง
พวกเด็กเห็นพระมหากัสสปเถระเดินมาข้างหลัง เกิดความรักขึ้น มีสรีระเต็มเปี่ยมด้วยกำลังแห่งปีติ วางกระเช้า ไหว้พระเถระด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ยกขนมพร้อมทั้งกระเช้าทีเดียวแล้ว กล่าวกะพระเถระว่า “นิมนต์รับเถิด ขอรับ”
ลำดับนั้น พระเถระกล่าวกะเด็กเหล่านั้นว่า “นั่น พระศาสดาพาพระภิกษุสงฆ์ไปประทับนั่งแล้วที่โคนไม้ พวกเธอจงถือไทยธรรมไปแบ่งส่วนถวายภิกษุสงฆ์”
พวกเด็กรับคำพร้อมกับนำขนมไปถวายภิกษุสงฆ์
ภิกษุทั้งหลายโพนทะนาว่าพวกเด็กถวายภิกษาเพราะเห็นแก่หน้า ไม่ต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระมหาเถระทั้งหลายด้วยขนม เห็นพระมหากัสสปเถระแล้ว จึงเอาขนมพร้อมด้วยกระเช้าไปถวาย
พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เช่นกับมหากัสสปผู้บุตรของเรา ย่อมเป็นที่รักของเหล่าเทวดาและมนุษย์ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายย่อมทำบูชาด้วยปัจจัย ๔ แก่เธอโดยแท้” แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า :-

ชนย่อมทำท่านผู้สมบูรณ์ด้วยศีลและทัสสนะ
ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ผู้มีปกติกล่าวแต่วาจาสัตย์
ผู้กระทำการงานของตนนั้น ให้เป็นที่รัก

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสมบูรณ์ด้วยศีล คือทรงพระดำเนินชีวิตของพระองค์อย่างปกติ ทรงมีวินัยในพระองค์เอง ทำให้ทรงมีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม เป็นเหตุนำให้พระองค์อยู่ในธรรม และเป็นผู้มีปกติกล่าวแต่วาจาสัตย์ พระองค์ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจด้วยพระทัยมุ่งมั่นให้เกิดสุขประโยชน์แก่ผู้รับพระกรุณาธิคุณ ด้วยความสนพระทัยและติดตามผลอยู่เสมอ เหตุนี้พระองค์จึงทรงเป็นที่รักของคนผู้ที่ได้รับพระกรุณาธิคุณและผู้สำนึกในพระกรุณาธิคุณเสมอมา

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) ผู้ถึงมรณกรรมในวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๑
เป็นพระเถระผู้เจริญยิ่งด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรม เจ้าประคุณสมเด็จฯบำเพ็ญกรณียกิจด้านการศึกษาเพื่อสนองพระดำริใน สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายีมหาเถระ) จนปรากฏผลแห่งความสำเร็จของงานดังคำประกาศเกียรติคุณในพระบรมราชโองการ สถาปนาเจ้าประคุณสมเด็จฯ ความตอนหนึ่งว่า
“..ด้านการศึกษา ได้ให้ความเอาใจใส่การศึกษาของคฤหัสถ์และบรรพชิตเป็นพิเศษ ด้วยเชื่อมั่นว่าจะส่งเสริมให้เกิดความเจริญในด้านต่างๆได้ยิ่งขึ้น มีอุตสาหะรับเป็นอุทเทศาจารย์ในตำแหน่งเจ้าสำนักเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม มีเมตตาให้การอบรม สั่งสอน ชี้แนะในฐานะครู ด้วยการปฏิบัตินำเป็นตัวอย่างที่ดีแก่พระภิกษุ สามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วไป ให้ความสนใจสนับ-สนุนส่งเสริม ตลอดทั้งให้การอุปถัมภ์การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและบาลี แก่พระภิกษุสามเณรในสำนักเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม ให้เจริญก้าวหน้าทั้งปริมาณและคุณภาพ ในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน พุทธ-ศักราช ๒๕๔๑ ผู้ก่อตั้งและรองประธานกรรมการอำนวยการมูลนิธิปุญญานุภาพเพื่อมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และประธานมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ใฝ่ใจพัฒนาและบริหารกิจการของมหาวิทยาลัย ทั้งในส่วนกลางและวิทยาเขต มุ่งสู่ความเป็นเลิศและสถิตสถาพรยิ่งขึ้น ให้ความอุปถัมภ์การเรียนการสอนของนักเรียนในโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม สังกัดกรุงเทพมหานคร และโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ สังกัดกรมสามัญศึกษา อย่างสม่ำเสมอ เพื่อมุ่งหมายให้นักเรียนเหล่านั้นเป็นผู้มีวิทยาสามารถและมีจริยธรรมอย่างสมบูรณ์..”

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เป็นพระเถระผู้สมบูรณ์ด้วย ศีลแห่งภิกษุ มีความเห็นตรงตามพระธรรมวินัย ประพฤติตนอยู่ในธรรมเสมอ กล่าวแต่วาจาสัตย์เป็นปกติสมฐานะแห่งอุปัชฌาย์อาจารย์ การงานที่ท่านรับภารธุระทั้งในส่วนตนและการคณะสงฆ์ ล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่สังคมโดยส่วนรวม เหตุนี้ เจ้าประคุณสมเด็จฯจึงเป็น ที่รักของศิษยานุศิษย์และผู้เลื่อมใสในปฏิปทาของท่านเสมอมา ดังเห็นได้จากความสำเร็จในกิจการงานของท่าน ตามประกาศสถาปนาที่นำมาแสดงนี้

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร)ย่อมเป็นผู้มีสุคติเป็นเบื้องหน้าจากการละสังขารแล้ว ด้วยอำนาจแห่งบุญที่ทรงบำเพ็ญ และกระทำแล้ว ต้องตามนัยแห่งคาถาธรรมบท เรื่อง นายนันทิยะ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า
เมื่อพระมหาโมคคัลลานเถระกลับมาจากเทวโลกแล้ว เข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลถามว่า “พระเจ้าข้า ทิพยสมบัติย่อมเกิดแก่บุคคลผู้ทำความดีที่ยังอยู่มนุษย์โลกนี่เอง หรือหนอแล?”
พระศาสดาตรัสว่า “โมคคัลลานะ ทิพยสมบัติที่เกิด แล้วแก่นายนันทิยะในเทวโลก อันเธอเห็นแล้วเองมิใช่หรือ? ไฉนจึงถามเราเล่า?”
พระโมคคัลลานะทูลถามต่อไปว่า“ทิพยสมบัติเกิดได้ อย่างนั้นหรือ? พระเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะพระโมคคัลลานะว่า
“โมคคัลลานะ เธอพูดอะไรนั่น? เหมือนอย่างว่า ใครๆ ยืนอยู่ที่ประตูเรือน เห็นบุตรพี่น้องผู้ไปอยู่ต่างถิ่น มานาน (กลับ) มาแต่ถิ่นที่จากไปอยู่ พึงมาสู่เรือนโดยเร็ว บอกว่า “คนชื่อโน้น มาแล้ว” เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกญาติ ของเขาก็ยินดีร่าเริงแล้ว ออกมาโดยขมีขมัน พึงยินดียิ่งกะผู้นั้นว่า “พ่อ มาแล้ว พ่อ มาแล้ว”ฉันใด ; เหล่าเทวดา(ต่าง)ถือเอาเครื่องบรรณาการอันเป็นทิพย์ ๑๐ อย่างต้อนรับด้วยคิดว่า “เราก่อน เราก่อน” แล้วย่อมยินดียิ่งกะสตรีหรือบุรุษผู้ทำความดีไว้ในโลกนี้ ซึ่งละโลก นี้แล้วไปสู่โลกหน้าฉันนั้นเหมือนกัน” แล้วทรงภาษิตพระคาถาว่า :-

ญาติ มิตร และคนมีใจดีทั้งหลาย
เห็นบุรุษผู้ไปอยู่ต่างถิ่นมานาน
มาแล้วแต่ที่ไกลโดยสวัสดี
ย่อมยินดียิ่งว่า “มาแล้ว”ฉันใด
บุญทั้งหลายก็ย่อมต้อนรับแม้บุคคลผู้กระทำบุญไว้
ซึ่งไปจากโลกนี้สู่โลกหน้า
ดุจพวกญาติเห็นญาติที่รักมาแล้ว ต้อนรับอยู่ ฉันนั้นแล

เมื่อมาพิเคราะห์ในด้านผู้ที่รัก เมื่อมรณกาลมาถึงบุคคลอันเป็นที่รัก อาทิ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) ความทุกข์ โทมนัสก็ย่อมบังเกิดมีขึ้นแก่ผู้ที่รักท่าน ดังพุทธภาษิตว่า

“บุคคล ประกอบตนไว้ในสิ่งอันไม่ควรประกอบ
และ ไม่ประกอบไว้ในสิ่งอันควรประกอบ
ละเสียแล้วซึ่งประโยชน์
ถือเอาอารมณ์อันเป็นที่รัก
ย่อมทะเยอทะยานต่อบุคคลผู้ตามประกอบตน
บุคคลอย่าสมาคมกับสัตว์และสังขารทั้งหลายอันเป็นที่รัก (และ) อันไม่เป็นที่รักในกาลไหนๆ
(เพราะว่า) การไม่เห็นสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก และการเห็นสัตว์และสังขารอันไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์
เพราะเหตุนั้น บุคคลไม่พึงกระทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก เพราะความพรากจากสัตว์และสังขารอันเป็น ที่รักเป็นการต่ำทราม
กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลายของเหล่าบุคคลผู้ไม่มีอารมณ์อันเป็นที่รัก และไม่เป็นที่รัก ย่อมไม่มี”

เพราะเหตุแห่งการไม่ประพฤติต่อกันในยามที่มีชีวิต อยู่ด้วยสิ่งที่ควรทำ เมื่อความตายมาถึงบุคคลอันเป็นที่ รักยิ่ง ความรู้สึกว่าตนไม่ได้ทำสิ่งที่ควรแก่ผู้นั้นจึงเป็นเหตุ ให้เกิดความทุกข์โทมนัสขึ้นในจิตใจ และรอยลึกบาดอารมณ์ไปตลอดชีวิตของตน ยากที่ผู้ไร้ซึ่งความเข้าใจในธรรมและปฏิบัติตนในกรอบของธรรมจะลบออกไปได้
สิ่งที่ควรกระทำต่อบุคคลอันเป็นที่รักนั้น สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงประกาศเป็นหลักธรรมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ไว้ในโอวาทปาติโมกข์ เนื่องในการประชุมสงฆ์ครั้งแรก เมื่อ‘วันมาฆบูชา’ หลังการตรัสรู้ว่า การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑ การบำเพ็ญแต่ความดี ๑ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

สาธุชนผู้มีความกตัญญูกตเวที ย่อมสามารถประพฤติตนตามกรอบแห่งโอวาทปาติโมกข์ได้เป็นปกติ นิสัย สร้างสุขประโยชน์ให้บังเกิดแก่บุคคลที่ตนรักได้อยู่เสมอ เมื่อความตายอันเป็นสัจธรรมของชีวิตมาพราก บุคคลผู้ที่รักไป ก็ย่อมไม่เป็นทุกข์
แต่ทำไมความทุกข์เพราะการพลัดพรากจากคนที่รัก จึงยังคงมีอยู่ในจิตใจของคนจำนวนมากเล่า เหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะการขาดความเห็นที่ตรงตามธรรมนั่นเอง
ดังตัวอย่างของเยาวชนคนหนุ่มสาวที่หลงลืมวัฒนธรรมประเพณีไทย ไปฝักใฝ่ในวัฒนธรรมตะวันตก และเสพวัฒนธรรมนั้นอย่างโง่เขลาเบาปัญญา ดังการถือเอาวันวาเลนไทน์ ซึ่งเป็นวันที่ระลึกถึงความดีของนักบวชในคริสตศาสนา ผู้มุ่งสร้างความสุขให้เกิดแก่คู่รักผู้ปรารถนาจะมีชีวิตสมรสร่วมกัน อันเป็นความหมายที่แท้จริงของวันนี้
แต่หนุ่มสาวบ้านเรากลับใช้วันนี้เป็นวันแห่งการเสียสละพรหมจรรย์เพื่อคนที่ตนรัก โดยไม่รู้เลยว่าคนที่ตนรักนั้นเป็นผู้ที่สมควรแก่การรักหรือไม่? คนที่ไม่มีศีล ไม่มีความเห็นตามทำนองคลองธรรม ไม่ทำตนให้อยู่ในธรรม ชอบกล่าวแต่คำเท็จ และไม่สนใจในการงานของตน เป็นบุคคลที่ควรรักหรือ? สิ่งที่ติดตามมาของการรักคน เช่นนี้ ก็คือความทุกข์ ที่จะเป็นรอยแผลติดตรึงในจิตใจ ไปตลอดชีวิต เบาที่สุดคือความเศร้าใจ หนักสุดคือการ ฆ่าตัวตาย ควรแล้วหรือที่ต้องนำอนาคตของตนไปฝากไว้กับวันแห่งความรักเช่นนี้
เหตุนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาจึงแสดงพุทธภาษิตว่า
“ความโศกย่อมเกิดแต่ความรัก ภัยย่อมเกิดแต่ความรัก
ความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้พ้นวิเศษแล้วจากความรัก ภัยจักมีแต่ไหน”

การพลัดพรากจากคนที่รัก เป็นทุกข์ เป็นความจริงในจิตใจของบุคคลผู้ยังขาดความเข้าใจในธรรม การที่ยังมีชีวิต มีลมหายใจอยู่ เป็นกาลแห่งการสร้างความดีงามให้บังเกิดขึ้น ให้เป็นสุขประโยชน์แก่คนที่ตนรัก ยามมรณกาลมาถึงคนที่ตนรัก ยามนั้นก็จะได้สุขใจด้วยรู้แน่ชัดว่าตนได้ทำสุขประโยชน์ให้แก่คนที่ตนรักแล้ว

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 87 ก.พ. 51 โดยปภาโสภิกขุ(โต))
กำลังโหลดความคิดเห็น