xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“EV ศูนย์เหรียญ” กับ “ฮับอาเซียน” ? และเสียงเตือนจากจีนเน้นผลิตในประเทศ ใช้ “โรงงานต่างแดน” แค่ “ประกอบ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หนึ่งในปัญหาที่สำคัญที่สุดของความพยายามที่ผลักดันให้ประเทศไทยเป็น “ฮับ EV” ของ “ภูมิภาคอาเซียน” ก็คือสิ่งที่คนในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยใช้คำว่า   “EV ศูนย์เหรียญ”  หรือการที่จีนใช้ไทยเป็นแค่สถานที่ “ประกอบ” เท่านั้น เพราะ “ชิ้นส่วน” ทั้งหลายทั้งปวงแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ล้วนแล้วแต่ “นำเข้า” ทั้งสิ้น

ผลกระทบที่ชัดเจนก็คือบรรดา “ซัพพลายเชน” ของรถยนต์เครื่องสันดาปในประเทศไทยที่มียอดการผลิตและส่งออกลงอย่างมีนัยสำคัญ

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีรถยนต์ BEV กระทบโดยตรงต่อความต้องการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ใช้น้ำมัน เมื่อการผลิต BEV น่าจะเริ่มกินส่วนแบ่งของรถยนต์ใช้น้ำมันอย่างรวดเร็วในอีก 1-2 ปีข้างหน้า หลังค่ายรถที่เข้าร่วมโครงการ EV3.0 และ EV3.5 ต้องผลิตรถชดเชยการนำเข้าที่ปัจจุบันมีมากกว่า 100,000 คัน นอกจากนี้ แม้จะมีชิ้นส่วนรถยนต์ไทยบางส่วนที่สามารถเข้าสายการผลิตรถยนต์ BEV ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าปริมาณชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิต BEV นั้นลดน้อยลงมาก และยังมีการนำเข้าชิ้นส่วนจากจีนมาผลิตเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งก็จะกระทบโดยตรงต่อชิ้นส่วนรถยนต์ไทย

ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รอยเตอร์ได้นำเสนอรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์จีน (MOFCOM) ได้แจ้งกับบริษัทรถท้องถิ่นที่เข้าร่วมประชุมกว่า 10 แห่งให้งดการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ในอินเดีย และแนะนำอย่างแข็งขันไม่ให้ลงทุนในรัสเซียเช่นเดียวกัน

นอกจากนั้น MOFCOM ยังย้ำความเสี่ยงในการสร้างโรงงานในไทยและยุโรป แต่ด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลกว่า

ทางด้านบลูมเบิร์กที่รายงานข่าวนี้เป็นเจ้าแรก ระบุว่า MOFCOM กำหนดให้ผู้ผลิตที่ต้องการลงทุนในตุรกีต้องแจ้งกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศที่รับผิดชอบอุตสาหกรรมอีวี รวมถึงสถานทูตจีนในตุรกีก่อน ระหว่างการประชุมยังมีการแนะนำให้ค่ายรถใช้ชิ้นส่วนน็อกดาวน์สำหรับการประกอบขั้นสุดท้ายในโรงงานต่างแดน ซึ่งหมายความว่า ส่วนประกอบสำคัญของรถจะยังคงทำการผลิตภายในจีน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์
MOFCOM ยังตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศที่เชิญชวนค่ายรถจีนเข้าไปสร้างโรงงานมักเป็นประเทศที่บังคับใช้หรือกำลังพิจารณาใช้กำแพงการค้ากีดกันรถจีน นอกจากนั้น ผู้ผลิตยังได้รับคำแนะนำว่า ไม่ควรหลับหูหลับตาไล่ตามเทรนด์หรือหลงเชื่อคำเชิญเข้าลงทุนของรัฐบาลต่างชาติ
นั่นนับเป็นโจทย์ใหม่สำหรับรัฐบาลไทยที่ต้องตระหนักให้มาก ซึ่งต่างจากช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศเมื่อ 50 ปีก่อน และให้ความสำคัญกับซัพพลายเชน

นอกจากนั้น อีกหนึ่งปัญหาอันเป็นแรงกดดันที่จำต้องจับตาก็คือ มีรายงานข่าวว่า บรรดาค่ายรถยนต์สัญชาติจีนเตรียมเจรจาต่อรองกับภาครัฐเพื่อขอปรับเงื่อนไขมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV 3.0 และ EV 3.5 เนื่องจากปัจจุบันตลาดรถยนต์ในประเทศหดตัวอย่างรุนแรงมาก สืบเนื่องมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำ แถมยังมีปัญหาการปล่อยสินเชื่อที่ต้องรัดกุมจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้รถอีวีที่ผลิตในประเทศตามสัดส่วน 1 ต่อ 1 เกินกว่า “อุปสงค์” หรือ “ความต้องการซื้อ” กระทั่งต้องตัดสินใจลดราคาอย่างที่เห็น

แปลไทยเป็นไทยคือ ค่ายรถยนต์กำลังมีปัญหาในการระบายสต๊อกรถ ทั้งรถที่นำเข้าจากจีนทั้งคัน และรถที่ประกอบในโรงงานไทย ซึ่งถ้ารัฐบาลยอม จะก่อให้เกิดตามมาอีกหลายระลอก โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่ไทยควรได้รับมากกว่าปัจจุบัน ซึ่งน่าจะกระทบกับ “อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์” แรงขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ดี  “นายสุโรจน์ แสงสนิท” นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นเอาไว้ในงานเสวนา “ปลุกไทยฝ่าวิกฤต ปั้น PCB เศรษฐกิจแสนล้าน” เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเอาไว้ว่า หากพิจารณายอดรถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายในภูมิภาคอาเซียนกว่า 80% เป็นยอดขายหลักมาจากประเทศไทย ดังนั้นจะเห็นว่าโอกาสของการผลิตรถยนต์อีวีจากประเทศไทยส่งไปในภูมิภาคนี้มีน้อยมาก เนื่องประเทศเพื่อบ้านมีการใช้รถอีวีน้อยและผลิตน้ำมันได้เอง อีกทั้งระบบสาธารณูปโภคอาจจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้

ขณะที่โอกาสที่ค่ายรถยนต์จากจีนจะใช้ไทยเป็นฐานผลิต เพื่อส่งออกรถยนต์อีวีไปจำหน่ายยังยุโรปและอเมริกานั้น มีความเป็นไปได้และน่าสนใจมากกว่า เนื่องจากปัจจุบันรถอีวีจีน ยังต้องเผชิญกับปัญหาจีโอโพลิติก ทำให้จีนส่งออกรถอีวีลำบาก และจะมีการต่อต้านมากขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้นถือเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะเข้ามารับหน้าที่ในการผลิตเพื่อส่งออกแทน เนื่องจากจีนคงไม่หยุดผลิต ดังนั้นประเทศไทยจะต้องพยายามมองหาโอกาสเพื่อที่จะดึงฐานการผลิตมาไว้ในประเทศให้ได้

“ทำอย่างไรจะให้ไทยหล่อที่สุด ส้มมาหล่นในไทยมากสุด หลายคนมองว่าอีวีศูนย์เหรียญ การเอาชิ้นส่วนจากจีนมาประกอบแล้วส่งออกนั้น ไทยไม่ได้อะไร วันนี้เราต้องมองว่า ทำอย่างไรให้ฐานผลิตรถยนต์อีวีต้องเกิดจากไทยให้ได้มากที่สุด ซึ่งรัฐบาลเองกำลังเจรจาเพื่อให้ผู้ประกอบการต้องใช้ชิ้นส่วนจากไทยและอาเซียนให้ได้ 40% เป็นอย่างน้อย”

“ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนถ่ายจากรถสันดาปภายในไปเป็นรถอีวีนั้น ระบบซัพพลายเชนอาจจะเสียหายบ้าง แต่ไม่เยอะ เพราะหลาย ๆ ส่วนยังต้องใช้เหมือนเดิม เพราะไทยไม่ได้ ผลิตเครื่องยนต์ ดังนั้นผมว่าไม่ได้เดือดร้อนมากนัก ทำอย่างไร จะทำให้การผลิตรถอีวีสัญชาติจีนให้เป็นสัญชาติไทยมากขึ้น”นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยให้ทัศนะ


ขณะที่  “นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์” ประธานคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังเข้าเยี่ยมคารวะ นายอู๋จื้ออู่ อัครราชทูต รักษาการ เอกอัครราชทูต สถานทูตจีนประจำประเทศไทย ว่า ได้ขอให้รัฐบาลจีนประสานนักลงทุนรายใหญ่ของจีนให้ ส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย โดยขอให้นักลงทุนรายใหญ่ของจีนเพิ่มการค้าและสนับสนุนซัพพลายเชนของคนไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมผลิตรถยานยนต์ไฟฟ้า(รถอีวี) ซึ่งทางรักษาการเอกอัครราชทูตจีน ก็เห็นสมควรและรับจะประสานนักลงทุนจีน โดยในอนาคตสถานทูตจีนจะให้ความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎรในการทำโครงการส่งเสริมซัพพลายเชนไทยให้เป็นคู่ค้าที่สำคัญของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหญ่ของจีนที่มาตั้งฐานการผลิตสินค้าที่ประเทศไทย

 คำถามก็คือ ภาครัฐจะสามารถประสานให้นักลงทุนจีนต้องใช้ชิ้นส่วนจากไทยเพิ่มขึ้นได้เมื่อไหร่ และจะทำให้ขยายสัดส่วนไปได้สักกี่มากน้อย?

คำตอบในเรื่องนี้ ยังคงต้องรอคอยกันต่อไป โดยเฉพาะในยามที่รัฐบาลจีนมีความระมัดระวังในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศ 




กำลังโหลดความคิดเห็น