นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ติดป้ายโฆษณาภาษาจีนซื้อขายหนังสือเดินทางต่างประเทศกลางย่านห้วยขวาง ถนนรัชดาภิเษก จนมาถึงป้ายโฆษณารับสมัครแรงงานต่างด้าว ทำให้ประเด็นเรื่องการบุกประเทศไทยของกลุ่มทุนจีนเทากลายมาเป็นวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง เพราะแม้การกระทำดังกล่าวอาจไม่ได้เป็นการกระทำตามกฎหมายไทยโดยตรง แต่การใช้พื้นที่ประเทศไทยกระทำการในลักษณะนี้ย่อมเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ต้องออกมายืนยันในงานสัมมนาความสัมพันธ์จีน-ไทย ในวาระครบรอบ 49 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ณ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับทางการไทยในการตรวจสอบผู้กระทำผิดกฎหมายอย่างเต็มที่
ท่านทูตหาน กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมา และต่อไปอีกหลายปีข้างหน้านั้นสถานการณ์โลกน่าจะยังตกอยู่ในภาวะของความยากลำบาก ทั้งเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 สงครามทั้งในยูเครน-อิสราเอล ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ จนถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนนั้นคงสามารถยืนหยัด และใกล้ชิดกันมากขึ้น
ในส่วนของนักลงทุนจีนที่มาลงทุนในไทยนั้นท่านทูตหาน ระบุว่า มีจำนวนมาก โดยเท่าที่มีการลงทะเบียนกับสถานทูตจีนประจำประเทศไทยมีราว 1,000 กว่าบริษัท ขณะที่ตัวเลขบริษัทที่จดทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นั้นมีอยู่ที่ราว 1,400 กว่าแห่ง
"บริษัทจีนจำนวนพันกว่าบริษัทนี้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีเงินลงทุนมาก ส่วนใหญ่แล้วประกอบธุรกิจในภาคการผลิต ประกอบชิ้นส่วน และการก่อสร้าง เป็นต้น"
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจีนอีกส่วนซึ่งมาลงทุนในประเทศไทยนั้นเป็นกลุ่มคนจีนที่มาทำธุรกิจในประเทศไทยในนามส่วนบุคคล หรือ บริษัทเล็กๆ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคบริการ ยกตัวอย่างเช่น ร้านหม้อไฟหมาล่า ร้านอาหาร หรือซูเปอร์มาร์เกตจีน เป็นต้น โดยจากการสำรวจพบว่ามี 700 กว่าแห่ง ถึงแม้จะดูมีจำนวนมาก แต่ถ้าดูจากตัวเลขเงินทุนเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัก โดยกิจการส่วนบุคคลเหล่านี้อาจจะมีบางส่วนที่เรียกว่าเป็น “กลุ่มทุนสีเทา” ปะปนอยู่ด้วย ซึ่งทางการจีนพร้อมจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับทางการไทย เพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
ท่านทูตระบุว่า สำหรับนักธุรกิจรายย่อย และรายบุคคลนั้น บางรายก็เชื่อมโยงกับกลุ่มทุนสีเทาด้วย ส่วนนี้ยอมรับว่าทางการจีนมองเห็นปัญหาค่อนข้างมาก เพราะสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์และกดดันการแข่งขันให้กลุ่มเอสเอ็มอีของไทย บางรายอาจจะมีการฝ่าฝืนกฎหมายไทยด้วย
“ในประเด็นนี้ทางการไทยและทางการจีน ควรจะต้องมีการร่วมมือกันใกล้ชิด เพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง” ท่านทูตหานระบุ
นายหาน จื้อเฉียง กล่าวด้วยว่า ในทางการจีนไม่ใด้นิ่งนอนใจ โดยได้มีการตักเตือนบุคคลที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยเหล่านี้ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ และขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศไทย และทางการจีนยินดีร่วมมือกับฝ่ายไทยในการใช้กฎหมายการเงินต่างๆ ทั้งนี้ กลุ่มทุนสีเทาแท้จริงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะต้องจัดการด้วยการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้น
• "ทุนจีนรุก" ไทยได้หรือเสียเปรียบ?
ในส่วนของสถานการณ์ภาพรวมของการลงทุนของต่างชาติในประเทศไทย ล่าสุดในปลายเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 (เดือนมกราคม-มิถุนายน) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 385 ราย คิดเป็นเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 81,487 ล้านบาท โดยมีการจ้างงานคนไทย 1,852 คน
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีนักลงทุนชาวจีน และฮ่องกงเข้ามาลงทุนในประเทศไทย มากเป็นอันดับที่ 4 และอันดับที่ 5 รวมทั้งสิ้นจำนวน 73 ราย (รองจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐฯ) คิดเป็นเงินลงทุนรวม 18,059 ล้านบาท
โดยเป็นการลงทุนภาคธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจบริการที่ให้แก่บริษัทในเครือ หรือบริษัทในกลุ่ม (บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงาน) ธุรกิจการจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นอุตสาหกรรมเหล็ก หรืออุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการบริการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล เช่น การรับฝาก การซื้อขาย และให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (แท่งอะลูมิเนียม โลหะหล่อขึ้นรูป อุปกรณ์สำหรับเครื่องจักรอุตสาหกรรม) และธุรกิจบริการตัดโลหะ (Coil Center) เป็นต้น
สำหรับประเด็นนี้ เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การลงทุนกระแสหลักของจีนนั้น เมื่อเข้ามาแล้วมีผลต่อการพัฒนา และสร้างผลประโยชน์ให้ประเทศไทย ซึ่งบริษัทเหล่านี้ถ้าจะมาจดทะเบียนในไทย ขอใบรับรอง GI ของไทย จะต้องมีวัตถุดิบที่อยู่ในประเทศไทยมากกว่า 40% และถ้าจะมีคนงานจากประเทศจีน ก็มีข้อจำกัดว่า ต้องจ้างคนท้องถิ่น 4 คน ถึงจะมีคนงานจากจีนได้ 1 คน
“ต้องบอกว่าทางการไทยมีประสบการณ์อย่างดีในการบริหารจัดการกับทุนต่างประเทศ เป็นหลักประกันว่าทุนที่มาจากต่างประเทศจะต้องสร้างประโยชน์ให้ท้องถิ่นด้วย ไม่ใช่เท่านี้ บริษัทจีนที่มาลงทุนในเมืองไทยมีการตอบแทนสังคมไทย เช่น บริษัทหัวเว่ย ได้มีการจัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีดิจิทัลอาเซียนในไทย” ท่านทูตหานระบุ และกล่าวต่อว่า
“จนปัจจุบันมีการอบรมคนงานไทยไป 70,000 กว่าคน และที่นิคมอุตสาหกรรม จ.ระยอง ปัจจุบันนี้มีบริษัทจีน 270 กว่าแห่ง ทุกปีบริษัทเหล่านี้จะมีการบริจาคเงินทุนให้องค์กรสาธารณสุข องค์กรการศึกษา และสาธารณกุศลในท้องถิ่น ก็หวังว่าเขาจะทำได้ดียิ่งขึ้นกว่านี้”
นายหาน ยังกล่าวถึงประเด็นความร่วมมือทางธุรกิจระหว่าง 2 ประเทศ ว่า มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับไทยในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจีนได้ดุลการค้าประมาณ 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจากตัวเลขแสดงให้เห็นว่าจีนส่งสินค้าออกมาไทยมีมูลค่ามากกว่าไทยส่งออกไปจีน
“ถ้ามองอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะมองว่า แบบนี้ไทยเป็นผู้เสียหาย อย่างไรก็ตาม ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ในความเป็นจริงสินค้าจากจีนกว่า 85% เป็นสินค้าทุน ซึ่งไทยสามารถนำมาพัฒนาแล้วส่งออกไปต่างประเทศได้ เช่น แผ่นซิลิคอน ซึ่งหลังจากที่บริษัทจีนมาลงทุนตั้งบริษัทผลิตแผงโซลาร์เซลล์ที่ไทย ก็มีการนำเข้าแผนซิลิคอนจากจีน
“เมื่อปีที่แล้วนำเข้าสูงถึง 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกัน ไทยได้ส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรปถึง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศจีนเองก็เปิดกว้างที่จะต้อนรับสินค้าส่งออกของไทย และยินดีที่จะช่วยเหลือสนับสนุนไทยในการส่งออกไปจีนให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรส่งออกของไทย 42% ก็ส่งออกไปประเทศจีน”
นอกจากนี้ หากมองในภาคบริการประกอบด้วยแล้ว จะพบว่าในแต่ละปีนักท่องเที่ยวจีนมาจับจ่ายใช้สอยที่เมืองไทยเป็นมูลค่าราว 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
“ความหมายของผมคือ ไม่ได้พูดว่า ไทยได้เปรียบจีน แต่อยากจะสื่อให้เห็นว่าความร่วมมือทางการค้าเป็นการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน และเราต้องช่วยกันทำให้ผลประโยชน์ส่วนนี้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นบางประเด็นก็ให้ความสำคัญและช่วยกันแก้ไขต่อไป” นายหาน กล่าว
อนึ่ง จากสถิติล่าสุดของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะพบว่า จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวไทย สะสม ณ วันที่ 1 มกราคม-28 กรกฎาคม 2567 จำนวน 20,335,107 คน นั้นเป็นสัดส่วนของนักท่องเที่ยวจีนมากที่สุดถึง 4,065,109 คน หรือ เกือบ 20% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด