xs
xsm
sm
md
lg

รมต.อุตฯ ควง กนอ.ลุยโรดโชว์ที่ญี่ปุ่น ปลื้มนักธุรกิจจ่อลงทุนเพิ่มในไทย ลุ้นยอดขาย/เช่าที่นิคมฯ เกินเป้า 3 พันไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การเดินสายพบนักลงทุนต่างประเทศเพื่อชักจูงให้เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอีกภาระกิจที่รัฐบาล “เศรษฐา” ให้ความสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยชูจุดแข็งของไทยที่ได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ระบบการขนส่ง รวมถึงความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมโดยเฉพาะนิคมฯ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน (โรดโชว์) ในนิคมอุตสาหกรรมไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 7-11 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อให้ข้อมูลศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับการลงทุน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยให้ความสำคัญ ได้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรม กลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG)

จากการเจรจากับนักลงทุนญี่ปุ่น พบว่าประเทศไทยมีความน่าสนใจในสายตานักลงทุนต่างชาติ โดยไทยมีศักยภาพและการพัฒนาก้าวหน้าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ดังนั้น การโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นทุกครั้งที่ผ่านมาได้การตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ล่าสุดมี 2 บริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจคอมเพรสเซอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ที่มีฐานการผลิตอยู่แล้วในไทย มีแผนที่จะขยายการลงทุนเพิ่มเติม คิดเป็นมูลค่าการลงทุนราว 10,000 ล้านบาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในหลายด้านทั้งการเพิ่มมูลค่าการส่งออก การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น พัฒนาทักษะแรงงาน พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งทำให้เกิดความเชื่อมโยง Supply Chain ในประเทศได้อีกประมาณ 190 บริษัท

อย่างไรก็ดี นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ต้องการใช้พลังงานสะอาด เนื่องจากแต่ละบริษัทได้กำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ชัดเจน สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ให้ความสำคัญและเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยไทยกำหนดแผนเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็น 50% ภายในปี 2573จากเดิมอยู่ที่ 28% เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมายังประเทศไทย


การโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นในครั้งนี้ กนอ.มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ บริษัท ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่น (IHI) ประเทศญี่ปุ่นและ บริษัท ไอเอชไอ เอเชีย แปซิฟิค (ประเทศไทย) จำกัด (IHIPT) ว่าด้วยความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ของการให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียว (Green Utility) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ รมว.อุตสาหกรรมยังได้ร่วมประชุมหารือร่วมกับนายไซโต เค็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมมือในการพัฒนาแหล่งพลังงานสีเขียว ทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์โดยผ่านการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด และนำพลังงานไฮโดรเจนเข้ามาใช้แทน พร้อมทั้งหารือถึงโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในพื้นที่ EEC โดยการนำพลังงานไฮโดรเจนเข้ามาใช้ และศึกษาพัฒนาการลงทุนโครงการโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่นๆ ในพื้นที่EEC โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ก (Smart Park)

กระทรวงอุตฯ เห็นความสำคัญการใช้พลังงานสะอาด โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก เช่น การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่ผู้ประกอบการที่ใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก การให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบการในการปรับปรุงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เพื่อใช้พลังงานสะอาด เป็นต้น ขณะที่กนอ. มีโครงการที่สอดคล้องการใช้พลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือก เช่นการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล รวมถึงระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ก เป็นต้น โครงการนำร่องการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในนิคมอุตสาหกรรมเอเชียคลีน จ.ชลบุรี ที่สามารถนำขยะชุมชนในนิคมอุตสาหกรรมมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 10 เมกะวัตต์ เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม นางสาวพิมพ์ภัทรา รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า อยากเห็นนักลงทุนต่างชาติเลือกที่จะลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมที่มี กนอ.ดำเนินการเองเป็นอันดับแรกแทนที่จะเลือกลงทุนในนิคมฯของภาคเอกชน ที่ผ่านมา กนอ.มียอดการขายหรือเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ดำเนินการเองได้น้อยเมื่อเทียบกับนิคมอุตสาหกรรมของเอกชน ส่วนหนึ่งเกิดจากข้อจำกัดในฐานะหน่วยงานของรัฐ แต่กนอ.เองก็มีจุดได้เปรียบหลายอย่างในฐานะรัฐวิสาหกิจ จึงน่าจะอาศัยจุดนี้ ชิงความได้เปรียบเพื่อดึงเม็ดเงินลงทุน จัดทำเป็นแพคเกจการให้บริการด้านสาธารณูปโภคทั้งน้ำ ไฟฟ้าหรือการจัดการขยะ เพื่ออำนวยความสะดวก ทำให้ลูกค้าได้ประโยชน์หากมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. ไม่ใช่ Standalone

ส่วนข้อจำกัดต่างๆ ของ กนอ.ที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือแก้ไขกฎระเบียบนั้น ก็มอบหมายให้ผู้ว่าการ กนอ.เร่งดำเนินการทำรายละเอียดเพื่อนำเสนอต่อภาครัฐต่อไป

ก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตฯ ได้สั่งการให้กนอ.ศึกษาแนวทางในการจัดตั้งนิคมฯ แห่งใหม่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ระนอง ชุมพรนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เพื่อเตรียมความพร้อมในโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์ มูลค่าการลงทุน 1 ล้านล้านบาท โดยเน้นลงทุนของ 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่เกษตรและอาหาร ชีวภาพ และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในพื้นที่ SEC และเป็นประตูโลจิสติกส์เชื่อมโยงการค้าของประเทศและภูมิภาค


ลุ้นยอดขาย/เช่าที่นิคมฯ ปี 67 สูงกว่าเป้าฯ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 (กันยายน 2565-ตุลาคม 2566) มียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จำนวน 6,096 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 202% ที่มียอดขาย/เช่าอยู่ที่ 2,016 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ขาย/เช่าในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อยู่ที่ 5,148 ไร่ และนอกพื้นที่ EEC 948 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 475,560 ล้านบาท ซึ่งยอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมฯที่เพิ่มขึ้นมาก สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการตอบรับต่อมาตรการสิทธิประโยชน์การลงทุนในพื้นที่อีอีซี ทำให้มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากจีน

สำหรับปีงบประมาณ 2567 กนอ.ตั้งเป้าหมายไว้ว่ามียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอยู่ที่ 3,000ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ EEC 2,700 ไร่และนอก EEC 300ไร่ เบื้องต้น กนอ.คาดว่าจะทำได้มากกว่านั้น น่าจะใกล้เคียงปีก่อน โดยหาแนวทางการดึงดูดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมให้เพิ่มมากขึ้นใช้มาตรการเชิงรุกออกไปโรดโชว์หารือนักลงทุนต่างชาติโดยตรง

ด้านงบลงทุนจะใกล้เคียงปีก่อน เพื่อใช้ศึกษาลงทุนโครงการต่างๆ เช่น การร่วมลงทุนกับเอกชน ซึ่งการลงทุนของ กนอ.จะต้องศึกษาความคุ้มค่า ความเป็นไปได้โครงการเหมาะสมการใช้เงินหรือไม่ ทำให้การตัดสินใจลงทุนแต่ละครั้งต้องใช้เวลานานไม่ทันเอกชน ดังนั้น กนอ.จะลงทุนในธุรกิจใหม่ผ่านบริษัทลูกหรือบริษัทร่วมทุนเพิ่มความคล่องตัวและขยายโอกาสทางธุรกิจรูปแบบคล้ายคลึงกับปตท.


การลงทุนของ กนอ.เน้นรูปแบบ Smart (อัจฉริยะ) มากขึ้น มีความปลอดภัย ระบบปฏิบัติการดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ เช่น การจัดหาพลังงานทางเลือกในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค โดยมีระบบกริดไฟฟ้าและการบริหารจัดการเองในนิคมฯ ขณะเดียวกัน กนอ.มีแผนขุดลอกขยายร่องน้ำเดินเรือในท่าเรือในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ช่วยเพิ่มรายได้จากการให้บริการท่าเรือขนส่งขึ้นอีก ซึ่งปัจจุบันรายได้จากท่าเรือฯคิดเป็นรายได้ประมาณ 1 ใน 3 ของรายได้รวมกนอ.

ความคืบหน้านิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ก ขณะนี้ความคืบหน้าไปมาก คาดว่าปลายปี 2567 โครงสร้างพื้นฐานจะแล้วเสร็จตอบโจทย์ความเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ซึ่งนิคมฯ ดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนทั้งญี่ปุ่น และไต้หวัน แต่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค เป็นการให้เช่าพื้นที่นิคมฯ ไม่สามารถขายที่ดินได้เหมือนนิคมฯเอกชน ทำให้ความน่าสนใจถูกลดทอนลงไปบ้าง

ก่อนหน้านี้ กนอ.ได้ร่วมมือกับ 4 บริษัทใหญ่ที่เชี่ยวชาญนวัตกรรมและความยั่งยืนด้านพลังงานและไฟฟ้า ประกอบด้วย บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BGRIM) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)(GPSC) บริษัท เอิร์ธ อิเล็คทริค ซัพพลาย จำกัด และบริษัททริปเปิ้ล พี เทคโนโลยี จำกัดเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ จัดตั้งบริษัทร่วมทุนและบริษัทในเครือ กนอ. (Utilities Management Company) ให้บริการด้านพลังงาน รวมถึงระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค โดยมีการใช้พลังงานสะอาด การพัฒนาการให้บริการระบบโครงข่ายที่ทันสมัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า

ส่วนการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ บริษัท ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่นและ บริษัท ไอเอชไอ เอเชีย แปซิฟิค (ประเทศไทย) จำกัด ในการศึกษาความเป็นไปได้ของการให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียว (Green Utility) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม นับเป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น ในการขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทนที่ กนอ. มุ่งมั่นส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมไทยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดต้นทุนการผลิต และยกระดับให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียวในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 

โดยแบ่งออกเป็น 3เฟส คือ เฟสแรก ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาการให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียวโดยใช้พลังงานทดแทนเป็นเวลา 1 ปี, เฟสที่ 2 ตั้งโรงงานต้นแบบสาธิตที่นำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ในกระบวนการผลิตในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ก จังหวัดระยอง และเฟสที่ 3 หากผลการศึกษามีความเป็นไปได้เพื่อดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์ ทางกนอ.ก็จะใส่เงินร่วมลงทุนกับไอเอชไอ เบื้องต้นประเมินว่าโครงการนี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม และยังเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจสีเขียวต่อไปในอนาคต


กนอ.เร่งปิดจุดอ่อน แข่งนิคมฯ เอกชน

นายวีริศ ยอมรับว่า กนอ.มีข้อจำกัดหลายเรื่อง และ กนอ.ก็ไม่ได้ซื้อที่ดินนับสิบกว่าปี ดังนั้นที่ดินที่เรามีอยู่เป็นที่ดินเช่าของราชพัสดุ ไม่สามารถขายได้ซึ่งนักลงทุนต่างชาติเองก็อยากซื้อที่ดินแทนที่จะเช่าที่ดินทำโรงงาน เพราะที่ดินนิคมฯนับวันมีราคาสูงขึ้น ซึ่งอดีตนิคมอมตะฯ เคยให้เช่าที่ดินแทนการซื้อขาด แต่สุดท้ายก็ต้องเลิกไปเพราะนักลงทุนต่างชาติไม่เอา เรื่องนี้นับเป็นข้อจำกัดของกนอ.เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการนิคมฯเอกชนอื่น แต่ข้อดีคือกนอ.เป็นภาครัฐ เราดูแลให้แบบเบ็ดเสร็จ เวลาลูกค้าติดขัดอะไรเราก็ประสานให้กับหน่วยงานรัฐอื่นๆได้

อย่างไรก็ดี หาก กนอ.สนใจซื้อที่ดินเพื่อพัฒนานิคมฯเองก็ทำได้ แต่มติพ.ร.บ.กนอ.ระบุว่าต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน หลังจากนั้นก็ต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามกฎระเบียบราชพัสดุ ฯลฯ ทำให้ใช้เวลานาน สุดท้ายก็โดนเอกชนตัดหน้าซื้อที่ดินไป ดังนั้น กนอ.กำลังศึกษาเพื่อแก้กฎระเบียบการเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างฯเพื่อให้กนอ.สามารถทำการจองซื้อก่อนได้ เป็นต้น

ส่วนการจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อร่วมทุนกับเอกชนอื่นๆช่วยเพิ่มความคล่องตัว อาทิ ผู้ประกอบการนิคมฯ บางรายชวน กนอ.ร่วมลงทุนพัฒนานิคมฯ ในต่างประเทศ เราก็สามารถตั้งบริษัทลูกไปร่วมทุนได้ แต่ก็ต้องศึกษาเพื่อตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมถึงเลือกจับมือกับผู้ประกอบการรายนี้ ขณะเดียวกันกนอ.สามารถให้บริการอื่นๆเช่น หน่วยงานรักษาความปลอดภัย หรือร่วมทุนทำโครงการพลังงานสะอาดใช้ในนิคมฯ เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม เป็นต้น

ปัจจุบัน กนอ.มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 1.9 แสนไร่ แบ่งเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเองประมาณ 4.2 หมื่นไร่ และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 1.48 แสนไร่ โดยมีพื้นที่คงเหลือสำหรับขาย/ให้เช่าอีกประมาณ 2.5 หมื่นไร่เพื่อรองรับการลงทุนท้้งในและต่างประเทศ โดยกนอ.นิคมอุตสาหกรรมที่ดำเนินการเอง 15 แห่ง 1 ท่าเรืออุตสาหกรรม และนิคมฯที่กนอ.ร่วมดำเนินงาน 53 แห่ง

แม้ว่าปัจจุบันนักลงทุนจีนจากได้ขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) แต่นักลงทุนญี่ปุ่นยังคงเป็นอันดับ 1 ของการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีจำนวน 1,973 ราย คิดเป็น 29% มูลค่าการลงทุนรวมตั้งแต่มีการจัดตั้งนิคมมูลค่า 2.85 ล้านล้านบาท จากการลงทุนรวมทั้งหมด 13.20 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ ม.ค. 67) โดยแบ่งเป็นการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมใน EEC 1,451 ราย มูลค่าการลงทุน 2.07 ล้านล้านบาท และนิคมที่อยู่นอก EEC 522 ราย มูลค่าการลงทุน 0.77 ล้านล้านบาท ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น