xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอเผยเวที “Thailand – Japan Investment Forum”ตอกย้ำญี่ปุ่นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บีโอไอจัดสัมมนา “Thailand – Japan Investment Forum” โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำ เพื่อตอกย้ำการเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์” ทั้งด้านการค้าและการลงทุน เร่งผลักดันโมเดลการลงทุนเชิงรุก ขยายความร่วมมือกันส่งเสริมเศรษฐกิจใหม่ ยกระดับประเทศไทยให้เติบโตและสามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก

วันนี้ (วันที่ 15 ธันวาคม 2566) บีโอไอได้จัดงานสัมมนา “Thailand – Japan Investment Forum” เพื่อนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล และประชาสัมพันธ์โอกาสและลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักลงทุนสำคัญอันดับ 1 ของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ นอกจากนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายไซโต เค็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Minister of Economy, Trade and Industry: METI) ร่วมกล่าวปาฐกถา

พร้อมการบรรยายเรื่องโอกาส สภาพแวดล้อม และนโยบายส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย โครงการแลนด์บริดจ์ รวมถึงความร่วมมือด้านการลดการปล่อยคาร์บอนระหว่างไทยและญี่ปุ่น โดย นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นายอิชิกุโระ โนริฮิโกะ ประธาน JETRO ดร.ปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม และนายไคนูมะ โยชิฮิสะ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท มินีแบมิตซูมิ ซึ่งมีนักลงทุนญี่ปุ่นสนใจเข้าร่วมกว่า 500 ราย ณ โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางด้านการทูต ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนมาอย่างยาวนานถึง 136 ปี ซึ่งวันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างโอกาสภายใต้การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์หรือ Comprehensive Strategic Partnership ทั้งนี้ ไทยและญี่ปุ่นมีนโยบายที่สอดคล้องในหลายด้าน อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียวและการส่งเสริมนวัตกรรมที่จะเอื้อต่อการขยายความร่วมมือระหว่างกัน
นอกจากนี้ ไทยและญี่ปุ่นได้มีการลงนามความตกลง Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP และได้ลงนามกรอบความตกลงการค้าเสรีไทย – ญี่ปุ่น ภายใต้ Japan-Thailand Economic Partnership Agreement หรือ JTEPA ซึ่งจะช่วยผลักดันการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่นให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น

“ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นดำเนินธุรกิจในไทยกว่า 6,000 บริษัท และมีชาวญี่ปุ่นพักอาศัยอยู่ในประเทศไทยกว่า 80,000 คน ที่ผ่านมา การลงทุนจากญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรและอาหารแปรรูป โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ญี่ปุ่น ที่ผ่านมาค่ายรถยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่นเลือกประเทศไทยให้เป็นฐานการผลิตหลัก และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย รัฐบาลไทยพร้อมจะสนับสนุนการลงทุนของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นให้เติบโต และสามารถแข่งขันได้ รวมทั้งรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ นอกจากนี้ ไทยและญี่ปุ่นจะสร้างความร่วมมือในด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์” นายเศรษฐา กล่าว

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยพร้อมมีบทบาทเชิงรุกด้วยความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นที่แน่นแฟ้น เพื่อเดินหน้าในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยจะใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศหรือข้อตกลงทวิภาคีและพหุภาคี ในการส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับมิตรประเทศในมิติต่าง ๆ เช่น ด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

“เราจะมุ่งมั่นที่จะพัฒนาปัจจัยสนับสนุนการลงทุน เช่น การกำหนดเขตเศรษฐกิจสำหรับอุตสาหกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใหม่ใน 4 ภาคของประเทศไทย รวมทั้งการออก Long-term Resident Visa หรือ LTR Visa เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตและทำงานในประเทศไทย ตลอดจนการแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรค เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่น ให้เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริงดังกรอบแนวคิดของญี่ปุ่นเรื่องความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกันที่เรียกว่า “การร่วมสร้างสรรค์ หรือ Co-Creation” เพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต และเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนของทั้งสองประเทศ” นายปานปรีย์ กล่าว

นายไซโต เค็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีผู้ประกอบการญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์จำนวนมาก เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ไทยสามารถก้าวสู่การเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ หลังจากนี้ญี่ปุ่นและไทยจะร่วมมือเพื่อสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นผู้นำในการจัดการปัญหาสภาวะโลกร้อน ได้ประกาศยุทธศาสตร์ Green Growth Strategy ซึ่งในอนาคตการลงทุนในเรื่องนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของไทยในเรื่องสิ่งแวดล้อม และญี่ปุ่นเชื่อมั่นว่าไทยมีพลังงานสะอาดเพียงพอที่จะรองรับการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียวต่อไป

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ได้นำเสนอนโยบายใหม่ให้กับนักลงทุนญี่ปุ่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเน้นการส่งเสริมการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่ญี่ปุ่นมีศักยภาพอันจะนำมาสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยและให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจในระดับภูมิภาค ได้แก่ Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัลและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการส่งเสริมให้ไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาคและศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ รวมถึงแนวทางการส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านการใช้ยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) สู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน

“เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ผู้ผลิตรถยนต์ในกลุ่มเครื่องยนต์สันดาปภายใน Hybrid และ Plug-in Hybrid เปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตยานยนต์สมัยใหม่ โดยกำหนดเงื่อนไขสำคัญในการได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการดังกล่าว คือ ต้องมีการลงทุนในระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์เพื่อนำมาใช้สนับสนุนการผลิตรถยนต์ และต้องเสนอแผนการพัฒนารถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน เพิ่มความปลอดภัย พัฒนาการขับเคลื่อนอัจฉริยะ หรือเทคโนโลยีอื่นๆที่เหมาะสม” นายนฤตม์ กล่าว

ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยสูงสุดติดต่อกันมายาวนาน ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีโครงการจากญี่ปุ่นได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ มากกว่า 4,000 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท หรือ 6 ล้านล้านเยน และในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม – กันยายน) ปี 2566 มีโครงการลงทุนจากญี่ปุ่นยื่นขอรับการส่งเสริม จำนวน 176 โครงการ มูลค่ากว่า 43,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 18

นายอิชิกุโระ โนริฮิโกะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าญี่ปุ่น (JETRO) กล่าวว่า จากการศึกษาของ JETRO พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณไม่สูงมาก และมีแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง JETRO ได้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้แก่นักลงทุนญี่ปุ่น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นถึงความพร้อมและโอกาสในการลงทุนในด้านพลังงานสะอาดของไทย และในอนาคตจะมีการจัดตั้ง “Sustainable Dedicated Desk” ที่กรุงเทพฯ เพื่อสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นายไคนูมะ โยชิฮิสะ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท มินีแบมิตซูมิ ได้แบ่งปันประสบการณ์การลงทุนในประเทศไทย โดยกล่าวว่า ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา การลงทุนของกลุ่มมินีแบมิตซูมิในประเทศไทยมีการเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนเป็นหนึ่งในศูนย์การผลิตหลักของบริษัทฯ โดยกำลังการผลิตในไทยคิดเป็นร้อยละ 23 ของการผลิตของบริษัทฯ ทั่วโลก ทั้งนี้ ปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จ คือ ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำและความช่วยเหลือของบีโอไอในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งส่งผลให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ สามารถจัดตั้งและขยายโรงงาน และสามารถใช้แรงงงานต่างด้าวที่มีทักษะได้อย่างยืดหยุ่นตามความเหมาะสมกับสถานการณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น