กนอ.จับมือ “ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่น”และ” ไอเอชไอ เอเชีย แปซิฟิคฯ”เพื่อศึกษาและยกระดับให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียวโดยใช้พลังงานทดแทน จ่อตั้งโรงงานต้นแบบสาธิตฯในนิคมสมาร์ท ปาร์ค หวังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้40% ในปี 2573
วันนี้( 8 กุมภาพันธ์) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือกนอ. ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU)กับบริษัท ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่น (IHI) และบริษัท ไอเอชไอ เอเชีย แปซิฟิค (ประเทศไทย) จำกัด (IHIPT) เพื่อศึกษาและยกระดับให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียว (Green Utility) โดยใช้พลังงานทดแทนมาประยุกต์สำหรับนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ตลอดจนการบูรณาการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคสีเขียวกับพลังงานทดแทนภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยมีนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้เกียรติเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในงาน ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงโตเกียว
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่าความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้ของการให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียวครั้งนี้ จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาการให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียวโดยใช้พลังงานทดแทนเป็นเวลา 1 ปี ระยะที่ 2 ตั้งโรงงานต้นแบบสาธิตที่นำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ในกระบวนการผลิตในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค จังหวัดระยอง และระยะที่ 3 หากผลการศึกษามีความเป็นไปได้ ก็จะดำเนินการร่วมธุรกิจเชิงพาณิชย์
ความร่วมมือดังกล่าวจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยให้ได้40% ในปี 2573 ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของนักลงทุน อาทิ มีการนำเทคโนโลยีการประหยัดพลังงานมาใช้เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การนำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ในกระบวนการผลิต เป็นต้น รวมทั้งสามารถนำผลการศึกษามาพัฒนาต่อยอดในการสร้างธุรกิจ (Business Model) ต่อไปในอนาคต
ไอเอชไอ และ ไอเอชไอเอพีที เป็นบริษัทฯที่ทำอุตสาหกรรมหนัก เช่น การต่อเรือ อากาศยาน พลังงานไฟฟ้าและวางระบบการจัดการอินฟาร์สตัคเจอร์ โดยบริษัทฯ มีความสนใจในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตและการให้บริการในนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อการบรรลุตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย
“ ความร่วมมือภายใต้ MOU ฉบับนี้ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาการบูรณาระบบ สาธารณูปโภคสีเขียวกับพลังงานทดแทนภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม แต่ยังเป็นประโยชน์ สำหรับโรงงานต้นแบบของโครงการที่สามารถนำเทคโนโลยีสะอาดมาใช้ในกระบวนการผลิต และยกระดับกระบวนการผลิตของโรงงาน อันนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานในพื้นที่นิคมฯ”
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันนักลงทุนส่วนใหญ่สอบถามถึงการ Support ไฟฟ้าพลังงานสะอาด เนื่องจากแต่ละบริษัทมีเป้าหมายในการลดคาร์บอนที่ชัดเจน ซึ่งนอกจากความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและเดินหน้าอย่างจริงจัง ในเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งประเทศไทยมีแผนจะปรับเปลี่ยนการผลิตไฟฟ้า โดยเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็น 50% จากเดิม 28%ภายในปี 2573 ซึ่งคาดว่าจะประกาศแผนนี้เร็วๆ นี้ นับเป็นจุดขายของประเทศในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในอนาคต