ปักกิ่งเตือนบริษัทรถระมัดระวังความเสี่ยงในการลงทุนนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย รัสเซีย ยุโรป หรือไทย ขณะที่ค่ายรถจีนกำลังทุ่มเทความพยายามในการขยายตัวทั่วโลกเพื่อรับมือการเติบโตชะลอตัวในบ้านที่นำไปสู่สงครามราคาอันโหดร้ายและยาวนาน
รอยเตอร์รายงานเมื่อวันพฤหัสฯ (12 ก.ย.) ว่า เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์จีน (MOFCOM) ได้แจ้งกับบริษัทรถท้องถิ่นที่เข้าร่วมประชุมกว่า 10 แห่งให้งดการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ในอินเดีย และแนะนำอย่างแข็งขันไม่ให้ลงทุนในรัสเซียเช่นเดียวกัน
นอกจากนั้น MOFCOM ยังย้ำความเสี่ยงในการสร้างโรงงานในไทยและยุโรป แต่ด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลกว่า
ทางด้านบลูมเบิร์กที่รายงานข่าวนี้เป็นเจ้าแรก ระบุว่า MOFCOM กำหนดให้ผู้ผลิตที่ต้องการลงทุนในตุรกีต้องแจ้งกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศที่รับผิดชอบอุตสาหกรรมอีวี รวมถึงสถานทูตจีนในตุรกีก่อน ระหว่างการประชุมยังมีการแนะนำให้ค่ายรถใช้ชิ้นส่วนน็อกดาวน์สำหรับการประกอบขั้นสุดท้ายในโรงงานต่างแดน ซึ่งหมายความว่า ส่วนประกอบสำคัญของรถจะยังคงทำการผลิตภายในจีน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์
ทั้งนี้ ชุดน็อกดาวน์ครอบคลุม CKD (Completely Knocked Down) คือการประกอบภายในประเทศ โดยที่ตัวถัง ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ต่างๆ ผลิตภายในประเทศ และ SKD (Semi Knocked Down) คือการประกอบภายในประเทศ แต่ตัวถัง ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ต่างๆ นำเข้าจากต่างประเทศ
ค่ายรถจีนบางแห่งปรับใช้กลยุทธ์นี้ในตลาดต่างประเทศแล้ว เช่น เกรท วอลล์ มอเตอร์ ที่ลงนามเป็นหุ้นส่วนในการประกอบรถยนต์กับอีพี มานูแฟกเจอริง เบอร์ฮัดของมาเลเซีย โดยอิงกับรูปแบบ CKD เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวสองคนยืนยันว่า ไม่มีการกำชับให้ผู้ผลิตทำให้แน่ใจว่า เทคโนโลยีอีวีล้ำสมัยจะไม่หลุดรอดออกนอกประเทศตามที่บลูมเบิร์กรายงานแต่แรก
บลูมเบิร์กตั้งข้อสังเกตว่า แนวทางของ MOFCOM ที่กำหนดให้การผลิตหลักต้องจำกัดอยู่ภายในจีนนั้น ส่งผลกระทบต่อความพยายามในการขยายตัวทั่วโลกของบริษัทรถจีนที่กำลังพยายามหาลูกค้าใหม่ๆ มาชดเชยการแข่งขันรุนแรงและยอดขายดิ่งในประเทศ
MOFCOM ยังตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศที่เชิญชวนค่ายรถจีนเข้าไปสร้างโรงงานมักเป็นประเทศที่บังคับใช้หรือกำลังพิจารณาใช้กำแพงการค้ากีดกันรถจีน นอกจากนั้น ผู้ผลิตยังได้รับคำแนะนำว่า ไม่ควรหลับหูหลับตาไล่ตามเทรนด์หรือหลงเชื่อคำเชิญเข้าลงทุนของรัฐบาลต่างชาติ
ปัจจุบัน บริษัทรถจีนกำลังพยายามอย่างหนักในการขยายธุรกิจออกนอกประเทศ ท่ามกลางปัญหาศักยภาพการผลิตล้นเกินอันเนื่องมาจากดีมานด์ในจีนซบเซาลงซึ่งนำไปสู่สงครามราคาที่โหดร้ายและยาวนาน ขณะที่ความพยายามในการกระตุ้นยอดขายในตลาดใหญ่อย่างยุโรปและอเมริกาต้องเผชิญอุปสรรคจากการขูดภาษีศุลกากรรถยนต์ไฟฟ้าเมด อิน ไชน่า
ขณะเดียวกัน แม้หลายประเทศในยุโรปที่รวมถึงสเปนและอิตาลี พยายามดึงดูดการลงทุน ทว่า บริษัทรถจีนยังคงระมัดระวังในการลุยเดี่ยวตั้งฐานการผลิตในประเทศเหล่านั้นเนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก รวมทั้งยังต้องพยายามทำความเข้าใจกฎหมายและวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกด้วย
บริษัทจีนบางแห่ง เช่น ลีปมอเตอร์ เลือกเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทท้องถิ่นแทน โดยโครงการร่วมทุนของลีปมอเตอร์กับสเตลแลนทิสเริ่มเดินเครื่องผลิตอีวีแล้วในโรงงานในโปแลนด์ของบริษัทสัญชาติฝรั่งเศส-อิตาลีแห่งนี้