xs
xsm
sm
md
lg

ระหว่างวิษณุกับศรีธนญชัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



วิษณุ เครืองาม ได้รับฉายาว่า เป็น “บิดาแห่งข้อยกเว้น” วิษณุเป็นนักกฎหมายที่หาตัวจับยาก ความช่ำชองในการใช้กฎหมายของเขาไม่มีใครเทียบได้ในยุคปัจจุบัน เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านกฎหมายมาทุกขั้วทั้งในยุคที่ทักษิณ ชินวัตร เรืองอำนาจ มาจนถึงยุค 3 ป.เรียกว่า เป็นยาสามัญประจำบ้านที่ขาดไม่ได้

หลังจากหมดยุคพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วิษณุประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ใครมาชวนก็จะเปิดพุงให้ดู เพราะมีปัญหาสุขภาพที่ต้องฟอกไตทุกวันแต่สุดท้ายวิษณุก็ไม่อาจต้านทานแรงตื้อของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้

“นายกฯ พูดตรงและครบทุกประเด็นที่ผ่านมา นายกฯ มาพบผมมาขอให้ผมไปช่วย ผมก็ได้บอกไปว่าสุขภาพไม่ดีเปิดพุงให้นายกฯ ดูด้วย และที่สำคัญ 3 ข้อที่ปฏิเสธไปหนึ่งคือปัญหาสุขภาพเมื่อก่อนเป็นแค่ไตอย่างเดียว วันนี้มีปัญหาเรื่องตาด้วยเพิ่งไปลอกตามาและสองช่วง 10 เดือนที่ห่างหายไปก็ไปรับงานอื่นหลายอย่างหากต้องลาออกไปงานเขาก็จะเสีย นอกจากนี้สามมีเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาในบ้านที่ต้องจัดการเลี้ยงหลานเลี้ยงลูกเดิมวางแผนไว้อย่างนั้น แต่นายกฯ บอกว่าถ้าเป็นอย่างนั้นให้ผมมาเป็นที่ปรึกษาก็ได้โดยไม่ต้องทำอะไรมากมาย ก็ได้แจ้งไปว่าไม่อยากไปยุ่งเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินนายกฯเลยบอกว่าไม่ต้องเป็นที่ปรึกษานายกฯ ตามตำแหน่ง โดยที่ปรึกษามีสองแบบคือที่ปรึกษาโดยเจาะจงที่มี 5 คนและตั้งไปครบแล้ว ผมไม่ยอมเป็นอันนั้นแน่เพราะการเป็นข้าราชการการเมืองต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินแต่มีที่ปรึกษาอีกเยอะที่สามารถตั้งได้อย่างที่นายกฯ เคยตั้งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง และอีกหลายคน” วิษณุกล่าว

ไม่รู้หรอกว่า เพราะสิ่งใดดลบันดาลให้วิษณุต้องรับคำเชิญกลับมานั่งทำงานที่ทำเนียบฯ อีกครั้ง ในตำแหน่ง “ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี” ทั้งที่ใครสังเกตอาการเดินเหินสภาพร่างกายภายนอกของวิษณุแล้วต้องยอมรับว่า สังขารทรุดโทรมไปมาก ชวนให้ตั้งคำถามว่าอะไรคือข้อเสนอที่ทำให้วิษณุไม่อาจปฏิเสธได้

การแต่งตั้งวิษณุเป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจหน้าที่ดังนี้ (6) แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษาหรือคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีหรือเป็นคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการใดๆ และกำหนดอัตราเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนให้แก่ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้ง

จะเห็นว่า มีความแตกต่างในถ้อยคำที่ระหว่างคำว่า ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กับ ที่ปรึกษา “ของ” นายกรัฐมนตรีตรงมีคำว่า “ของ” เพิ่มเข้ามา แต่เป็นไปตามมาตรา 11(6) เหมือนกัน

แต่เงื่อนไขสำคัญในการรับตำแหน่งของวิษณุที่แจ้งไว้กับเศรษฐาก็คือ “ไม่อยากไปยุ่งเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สิน”

ตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 ประกอบด้วย (1) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 1.1 นายกรัฐมนตรี 1.2 รัฐมนตรี1.3 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1.4 สมาชิกวุฒิสภา 1.5 ข้าราชการการเมืองอื่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง 1.5.1 ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 1.5.2 ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี 1.5.3 ที่ปรึกษารัฐมนตรี 1.5.4 ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 1.5.5 เลขาธิการนายกรัฐมนตรี 1.5.6 รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง 1.5.7 โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 1.5.8 รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 1.5.9 เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 1.5.10 ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 1.5.11 เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง 1.5.12 ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง

จะเห็นว่า ประกาศของ ป.ป.ช.ไม่ได้ระบุให้ตำแหน่ง “ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี” ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินระบุไว้เพียงตำแหน่ง “ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี”แต่เห็นได้ว่า แม้ตำแหน่งทางการเมืองที่ลดหลั่นลงมาต่ำกว่าตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีจนถึงผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหรือไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินใจที่สำคัญเช่นโฆษกและรองโฆษกยังจะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินเลย

ชัดเจนว่าโดยเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว ต้องการให้คนที่มีตำแหน่งทางการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมกับการบริหารราชการแผ่นดินในฐานะข้าราชการการเมืองต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน แม้ว่า ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ป.ป.ช.ไม่ได้ระบุไว้ แต่ตำแหน่งที่ตั้งตามกฎหมายมาตราเดียวกันคือ มาตรา 11(6) ระหว่างที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีกับที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีย่อมมีสถานะที่ไม่ต่างกันและจะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินเหมือนกัน

หลักการสำคัญในการกำหนดให้นักการเมืองต้องเปิดเผยทรัพย์สินของตนคือความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการบริหารหลักการนี้ช่วยป้องกันการทุจริต ความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายโดยทำให้แน่ใจว่าประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการเงินของเจ้าหน้าที่รัฐ การเปิดเผยทรัพย์สินจะทำให้นักการเมืองต้องรับผิดชอบต่อความมั่งคั่งของตนและสามารถตรวจสอบได้เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาไม่ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนโดยมิชอบเพื่อประโยชน์ส่วนตัวความโปร่งใสนี้ยังส่งเสริมความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการเลือกตั้งและระบบการเมือง โดยรวมแล้วการเปิดเผยทรัพย์สินจะช่วยเพิ่มความซื่อสัตย์สุจริตของตำแหน่งราชการและส่งเสริมการบริหารที่ดี

วิษณุไม่ได้เป็นเพียงที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีเรียกใช้ในบางวาระบางโอกาสเพื่อสอบถามข้อกฎหมายเท่านั้น แต่วิษณุได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย

วิษณุเล่าว่า มีคนมาบอกตนว่าได้ไปคุยกับบรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองทั้งหลายและเห็นพ้องว่าอยากให้ตนเข้ามานั่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย คอยยกมืออาจจะท้วงหรือแถมในระหว่างประชุมจะได้ไม่เสียเวลา ไม่เช่นนั้นหากมีมติไปก่อนแล้วไปเช็กทีหลังตนก็ทักท้วงไปว่าในที่ประชุมมีกฤษฎีกามีกระทรวงยุติธรรมอยู่ก็น่าจะช่วยได้ รัฐมนตรีหลายคนก็เป็นนักกฎหมายเช่น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมว.พลังงานนายกฯ บอกว่าบางเรื่องเป็นอย่างนั้นได้ แต่บางเรื่องรัฐบาลต้องการความเห็นที่กลางๆ กรณีนายพีระพันธุ์ถ้าพูดอะไรในขณะที่เป็น รมว.พลังงานด้วยมันจะลำบาก ตนจึงบอกว่าแล้วแต่นายกฯ ไปจัดการแต่ได้แจ้งไปว่าหากนายกฯ สามารถหารองนายกฯ ที่ช่วยดูเรื่องนี้ได้เมื่อไหร่ตนก็จะขอกลับไปทำงานอย่างเดิม

โดยวิษณุมีหน้าที่ดังนี้ ตรวจสอบและกลั่นกรองร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายหรือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีร้องขอให้คำปรึกษา และเสนอความเห็นทางกฎหมายแก่นายกรัฐมนตรีตามที่มอบหมายเชิญเจ้าหน้าที่ส่วนราชการผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหรือให้ข้อมูลรายละเอียดหรือจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานได้ตามที่เห็นสมควรให้ข่าวสารในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนได้ตามความจำเป็นตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายแต่งตั้งคณะทำงานหรืออนุกรรมการ เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น

จะเห็นได้ว่า วิษณุมีบทบาทสำคัญมากไม่ต่างกับรัฐมนตรีหรือมีอำนาจเหนือคณะรัฐมนตรีด้วยซ้ำ และมีสถานะเป็นข้าราชการการเมืองคนหนึ่งนั่นเอง แล้วอะไรที่ทำให้วิษณุไม่อยากยื่นบัญชีทรัพย์สิน ทั้งที่คนระดับวิษณุนั้นน่าจะเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้ข้าราชการการเมืองต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

ถ้าวิษณุคิดว่าตัวเองมีความแม่นยำทางกฎหมายมากไม่ได้เลี่ยงบาลีแบบศรีธนญชัย ก็ช่วยอธิบายหน่อยสิว่า ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีทำไมไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน
 
ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan
 


กำลังโหลดความคิดเห็น