การแต่งตั้งนายธันว์ วุฒิธรรม ลูกชายนายถิรชัย วุฒิธรรม อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผ่านมาประมาณกว่า 3 สัปดาห์แล้ว แต่ไม่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาคุณสมบัติ ความเหมาะสม และมลทินของคนที่ถูกผลักดันให้เข้ามาเป็นข้าราชการการเมืองแต่อย่างใด
นายธันว์ ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
คุณสมบัติด้านวัยวุฒิ คุณวุฒิ การศึกษา และประสบการณ์การทำงานไม่ใช่ปัญหาการรับตำแหน่งของนายธันว์
แต่ปัญหาใหญ่คือ การเป็นบุคคลที่มีมลทิน เพราะนายธันว์ ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษในความผิดปั่นหุ้น บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN พร้อมกับพวกรวม 12 คน นำโดยนายชนน วังตาล และถูก ก.ล.ต.สั่งปรับจำนวน 1.16 ล้านบาท
และยังถูกสั่งห้ามซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเวลา 20 เดือน ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 40 เดือน
การแต่งตั้งคนที่มีมลทินคดีปั่นหุ้น และถูกขึ้นบัญชีดำ ห้ามซื้อขายหุ้น ห้ามเป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เข้ามาเป็นข้าราชการการเมือง กำลังทำลายบรรทัดฐานที่ดีงาม ในการสรรหาบุคคลที่สังคมให้การยอมรับเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง
รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ไม่มีความรู้สึกละอาย ไม่แยแสความรู้สึกของสังคม ไม่คำนึงถึง ก.ล.ต.ในการทำหน้าที่สอบสวนและลงโทษคนที่สร้างความความเสียให้นักลงทุนบ้างเลยหรือ
ไม่ว่านายธันว์ จะได้รับการผลักดัน สนับสนุน หรือเป็นเด็กฝากของใครก็ตาม แต่มลทินที่ติดตัวน่าจะทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็นข้าราชการการเมือง
คนที่ทำความผิดร้ายแรงในตลาดหุ้น ถูกสั่งห้ามซื้อขายหุ้น ห้ามเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ควรจะถูกกีดกั้นไม่ให้มีตำแหน่งทางการเมือง
แต่ระบบการเมืองที่บัดซบ ไม่คำนึงถึงคุณธรรมและความดีงาม ทำให้คนที่มีมลทิน ได้เป็นใหญ่เป็นโตทางการเมือง
ความจริงแก๊งปั่นหุ้น SCN จำนวนทั้ง 12 คน รัฐบาลนายเศรษฐา น่าจะหาตำแหน่งทางการเมืองให้ ตบรางวัลให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย
ไม่ต้องไว้หน้า ไม่ต้องตระหนักในความรู้สึก ก.ล.ต. ไม่ต้องละอายสายตาประชาชน
การแต่งตั้งคนที่มีมลทินเข้ามาเป็นข้าราชการการเมือง เคยเกิดขึ้นแล้วในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยวันที่ 16 มีนาคม 2564 คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งนายอมร มีมะโน อดีตผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA เข้าดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
แต่นายอมร มีมลทินคดีปั่นหุ้น AJA ร่วมกับพวกรวม 40 คน และถูก ก.ล.ต.สั่งลงโทษปรับเป็นเงิน 1.7 พันล้านบาท ซึ่งเป็นคดีการลงโทษปรับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
หลังสื่อมวลชนตีแผ่มลทินของนายอมร วันรุ่งขึ้นหลังการแต่งตั้ง นายธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น ได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เสนอยกเลิกการแต่งตั้งนายอมร
นายธันว์ ก่อความผิดร้ายแรงในตลาดหุ้น สร้างความเสียหายให้นักลงทุน ไม่แตกต่างจากนายอมร จึงเป็นบุคคลที่มีมลทิน ไม่เหมาะสมการดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง
แต่รัฐบาลนายเศรษฐา กำลังสร้างบรรทัดฐานการเมืองที่เลวร้าย ตั้งคนที่มีมลทินเป็นข้าราชการการเมือง โดยไม่คำนึงการสร้างแบบอย่างความดีงามทางสังคม
ไม่รู้ว่าผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. จะต้องกราบขอโทษนายธันว์หรือไม่ ฐานบังอาจสั่งลงโทษและขึ้นบัญชีดำผู้มากบารมีทางการเมือง
เพราะแม้จะมีมลทินติดตัว แต่ก็ยังนั่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีคลัง ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จคุม ก.ล.ต.เสียอีก
ไม่เคยมีใครสืบค้นพฤติกรรมนายพิชัย ไม่มีใครติดใจภาพลักษณ์ของรัฐมนตรีคลังคนล่าสุด ซึ่งเคยเป็นที่รู้จักในฐานะนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหุ้น กอบโกยเงินจากการค้าขายหุ้นมามากมาย
แต่รัฐมนตรีคลังคนใหม่เอี่ยมถอดด้ามคนนี้ ไม่น่าจะเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมาได้ ไม่น่าจะใช่รัฐมนตรีที่เป็นความหวังในการขจัดกวาดล้างแก๊งมิจฉาชีพในตลาดหุ้น
ไม่น่าจะเป็นรัฐมนตรีที่จะสร้างการลงทุนให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม และโปร่งใสอย่างแท้จริง
เพราะการแต่งตั้งนักปั่นหุ้นเข้ามาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีคลัง ได้ทำลายความน่าไว้วางใจการทำงานของนายพิชัย ชุณหวชิร จนหมดสิ้นเสียแล้ว