คุกหรือเรือนจำคือ สถานที่คุมขังผู้ที่ทำผิดกฎหมาย และถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจนที่สุดศาลพิพากษาตัดสินลงโทษจำคุก
โรงพยาบาลคือ สถานที่บำบัดรักษาผู้ป่วยและถ้าป่วยหนักจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ก็จะต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน ส่วนว่าผู้ป่วยรายใดจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลหรือไม่อยู่นานเท่าใด ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้กระทำผิดกฎหมาย และถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาทุจริต คอร์รัปชัน คดีถึงที่สุดศาลพิพากษาตัดสินจำคุกรวม 8 ปี หนีไปอยู่ต่างประเทศ 10 กว่าปี กลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษ และพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้เหลือจำคุก 1 ปี ถึงกระนั้นอดีตนายกฯ ทักษิณ ไม่ยอมถูกขังคุกแม้แต่วันเดียว แต่ได้ไปนอนโรงพยาบาลตำรวจในฐานะผู้ป่วย โดยที่ทั้งเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ และแพทย์ไม่ได้แถลงให้ประชาชนทราบรายละเอียดเกี่ยวกับอาการป่วย วิธีการรักษา และระยะเวลาในการรักษา เฉกเช่นบุคคลสำคัญทั่วๆ ไป ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประชาชนเกิดข้อสงสัย และเกิดความรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมกับนักโทษคนอื่นที่ต้องโทษ และเจ็บป่วย ในทำนองเดียวกัน แต่ได้รับการปฏิบัติแตกต่างกันและกลายเป็นสองมาตรฐาน
ดังนั้น อดีตนายกฯ ทักษิณ จึงถูกมองว่าเป็นอภิสิทธิชนและเป็นตัวอย่างของความไม่เสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมายของกระบวนการยุติธรรมไทย และความรู้สึกในทำนองนี้เองเป็นเหตุให้นักวิชาการหลายท่านได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์และแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับกรณีของอดีตนายกฯ ทักษิณ
จากความคิดเห็นของนักวิชาการวันนี้และเวลานี้ ได้ขยายวงออกไปถึงขั้นมีการชุมนุมเรียกร้องให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ดำเนินการให้ถูกต้อง และเกิดความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย จะเห็นได้จากการออกมาชุมนุมของกลุ่ม คปท.การออกมาเตือนของชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาของพรรคประชาธิปัตย์ และการออกมาเคลื่อนไหวของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการแสดงออกถึงการเรียกร้องเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการบังคับใช้ทั้งสิ้น
จากนี้ไปผู้เขียนคาดว่า ถ้าข้อเรียกร้องของกลุ่มต่างๆ ไม่ได้รับการตอบสนองจากบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คนไทยอาจได้เห็นการชุมนุมใหญ่อีกครั้งเฉกเช่นที่ผ่านมา และครั้งนี้อาจรวดเร็วรุนแรงกว่าที่ผ่านมาก็เป็นไปได้ ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. การที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ยอมรับผิดในการกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษ และพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้เหลือ 1 ปีจาก 8 ปี แต่ไม่ยอมคิดคุกและไปนอนอยู่โรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วย โดยการอนุญาตของกรมราชทัณฑ์นั้นเข้าข่ายการทุเลาโทษ ซึ่งเป็นอำนาจศาล ดังนั้น การกระทำของกรมราชทัณฑ์ในกรณีนี้สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายตามนัยที่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ได้สื่อไปแล้ว
2. ในการเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ทั้งเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ และแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเรื่องนี้มิได้ชี้แจงรายละเอียดเท่าที่ควรชี้แจง จึงเข้าข่ายช่วยกันปิดบังอำพรางความจริงเพื่อเอื้ออำนวยให้อดีตนายกฯ ทักษิณ นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลแทนการติดคุก จึงกลายเป็นความไม่เสมอภาค และความไม่ชอบธรรมที่จะถูกนำไปเป็นเหตุในการชุมนุมได้
3. ฝ่ายค้านซึ่งพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำไม่ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาสอบถามเพื่อหาความจริงจากรัฐบาลในฐานะกำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม และกระทรวงสาธารณสุข จึงทำให้ถูกมองว่าฝ่ายค้านไม่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านเท่าที่ควรจะทำ จึงอาจเป็นเหตุให้การเมืองภาคประชาชนลุกขึ้นมาทำหน้าที่แทนฝ่ายค้าน ในทำนองเดียวกันกับกรณีของการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็เป็นไปได้
นอกจากเหตุปัจจัย 3 ประการข้างต้นแล้ว ถ้านำข้อมูลที่บรรดาโหรทั้งหลายออกมาทำนายดวงเมืองในช่วงกุมภาพันธ์-เมษายน ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้มีน้ำหนักในการคาดการณ์ได้กรณีของอดีตนายกฯ ทักษิณ จะกลายเป็นมูลเหตุให้เกิดวิกฤตเกิดขึ้นได้ค่อนข้างจะแน่นอนไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของความเป็นไปได้ โดยเฉพาะในช่วง 5 ก.พ.-15 มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวอังคารโคจรเข้าราศีมังกร และทำมุมเล็งดาวอาทิตย์ในดวงเดิมของอดีตนายกฯ ทักษิณ และเป็นช่วงที่ดาวพฤหัสฯ โคจรในเรือนมรณะ โดยเกาะนวางค์วินาศ ในขณะเดียวกัน ราหูทับราหูเดิมเล็งลัคนาถึงดาวอาทิตย์เป็นพินทุบาทว์เจ้าชะตาที่เคราะห์ร้ายและต้องจากที่อยู่หรือป่วยหนักเป็นได้ทั้งสองกรณี
ด้วยอิทธิพลของดวงดาวดังกล่าวข้างต้น ตัวหมอดูบางท่านเช่นอาจารย์วิสาระถึงกับถีบตกเหว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในฐานะโหรสมัครเล่น ผู้เขียนเห็นคำทำนายของโหรทั้งหลายมีความเป็นไปได้อย่างน้อยมีการชุมนุม และทำให้ทั้งแพทย์ และเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ต้องทบทวนท่าทีของตนเอง และอาจส่งผลทางลบแก่อดีตนายกฯ ทักษิณ โดยไม่มีทางหลีกเลี่ยงแน่นอน