ตลอดเวลา 70 กว่าปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ได้ฝ่าคลื่นลมการเมืองมาตลอดทางในบางห้วงแห่งเวลาก็ราบรื่น และในบางห้วงแห่งเวลาก็โดนมรสุมทางการเมือง แถมมีความแตกแยกภายในพรรค แต่ก็ไม่เคยหนักถึงขั้นประชุมพรรคล้มเหลวถึง 2 ครั้ง เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบทำให้การเลือกหัวหน้าพรรคไม่ได้ เฉกเช่นในยุคนี้ จึงพูดได้ว่าเป็นยุคที่พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำที่สุด นับตั้งแต่ตั้งพรรคนี้มาก็ว่าได้ และสิ่งที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นเช่นนี้ เป็นเพราะเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ในอดีตซึ่งเป็นยุคที่พรรคประชาธิปัตย์รุ่งเรือง และได้รับความนิยมสูง การแข่งขันทางการเมืองการต่อสู้กับระบอบเผด็จการสืบทอดอำนาจกับระบอบประชาธิปไตย รวมไปถึงการต่อสู้กับการโกงกิน คอร์รัปชัน
พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเดียวก็ว่าได้ที่มีอุดมการณ์ชัดเจนเป็นรูปธรรมในการต่อสู้กับระบอบเผด็จการ และทุจริต คอร์รัปชัน จึงได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ และในภาคใต้
2. บทบาททางการเมืองอันโดดเด่นของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ การเป็นฝ่ายค้าน จะเห็นได้ว่ายุคใดที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน รัฐบาลในยุคนั้นอยู่ครบเทอมได้ยาก
แต่บทบาทในการเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ไม่โดดเด่น เนื่องจากมีความระมัดระวัง และมีความถนัดในการบริหารแบบตั้งรับ จึงไม่ค่อยมีผลงานใหม่ๆ แบบการคิดนอกกรอบ จึงทำให้ตามไม่ทันปัญหาที่เกิดขึ้นในรูปแบบใหม่ๆ และนี่เองที่ทำให้เสียความนิยมในคนรุ่นใหม่
3. นับตั้งแต่มีการนำนโยบายประชานิยมเข้ามาสู่การเมืองไทยในปี พ.ศ. 2544 โดยพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของทักษิณ ชินวัตร ทำให้กระแสความนิยมทางด้านการเมืองเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในหมู่คนระดับรากหญ้าในพื้นที่เลือกตั้งในภาคอีสาน และภาคเหนือ ซึ่งมี สส.รวมกันแล้วมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ และนับจากนั้นเป็นต้นมา พรรคประชาธิปัตย์ก็แพ้การเลือกตั้งแก่การเมืองในระบอบทักษิณมาตลอด
4. ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา กระแสการเมืองก็ได้เปลี่ยนไปอีกรูปแบบหนึ่ง จะเห็นได้จากการที่พรรคเพื่อไทยแพ้พรรคก้าวไกล ทั้งๆ ที่พรรคนี้ไม่ได้ทุ่มเงินและออกนโยบายขายฝันเฉกเช่นเพื่อไทย แต่ชนะได้ด้วยกระแสของคนรุ่นใหม่ที่เบื่อการเมืองแบบเก่า
จากเหตุปัจจัย 4 ประการข้างต้น พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของหัวหน้าพรรคคนใหม่ จะต้องสรุปบทเรียนและปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารพรรคใหม่ โดยศึกษาจุดอ่อน จุดแข็งของพรรคการเมืองคู่แข่ง อันได้แก่พรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคก้าวไกลจะต้องทำการศึกษาเป็นพิเศษ ส่วนพรรคเพื่อไทยนั้น ผู้เขียนเห็นว่ามิใช่คู่แข่งทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์โดยตรง และที่สำคัญยิ่งกว่านี้ ถ้าดูจากพฤติกรรมองค์กรของพรรคเพื่อไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้แล้ว พรรคนี้มีแนวโน้มเป็นพรรคที่อยู่ในช่วงขาลงเมื่อเทียบกับพรรคก้าวไกล ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. นโยบายประชานิยมรูปแบบต่างๆ ที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอในการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินขั้นต่ำสำหรับผู้จบการศึกษาปริญญาตรี 25,000 บาท และการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ส่อเค้าทำไม่ได้ตามที่เคยพูดไว้
ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งหน้าคงจะทำให้ผู้ที่เคยเลือกพรรคเพื่อไทยหดหายไปส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มคนระดับรากหญ้า
2. รัฐบาลผสมซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีในระยะเวลา 2 เดือนกว่าที่ผ่านมา มีภาพลักษณ์ติดลบ ทั้งในด้านบุคลิกภาพและในด้านศักยภาพในการบริหาร ไม่มีอะไรปรากฏให้เห็นโดดเด่น โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ตรงกันข้ามมีแนวโน้มแย่ลงจะเห็นได้จากการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้น และจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของนักวิชาการซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไปในทางลบทั้งสิ้น
3. ภารกิจหลักทางการเมืองที่พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญประการหนึ่ง และดูเหมือนสำคัญที่สุดด้วยซ้ำก็คือ การนำอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นนักโทษหนีคดีอยู่ในต่างประเทศกลับบ้าน และบัดนี้ภารกิจที่ว่านี้ได้บรรลุเป้าหมายแล้วเป็นที่เรียบร้อย
ดังนั้น ต่อจากนี้ไปผู้เขียนเชื่อว่าการทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อเอาชนะทางการเมืองคงจะแผ่วลง
ด้วยเหตุ 3 ประการข้างต้น พรรคเพื่อไทยไม่น่าจะใช่พรรคที่จะมุ่งมั่นเพื่อเอาชนะทางการเมือง และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้อีกในการเลือกตั้งสมัยหน้า เมื่อเทียบกับพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคขาขึ้น ทั้งนี้อนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมจากคนวัยหนุ่มสาว และในการเลือกตั้งสมัยหน้าคนวัยนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้พรรคนี้มีโอกาสได้รับเลือกเพิ่มขึ้น
2. ในขณะนี้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านทำหน้าที่คอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ถ้าพรรคนี้ทำงานเข้าตาประชาชนก็จะสร้างคะแนนนิยมได้เพิ่มขึ้น เฉกเช่นที่พรรคประชาธิปัตย์เคยทำมาแล้วในฐานะเป็นพรรคฝ่ายค้าน เฉกเช่นพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต
แต่พรรคก้าวไกลก็มีข้อด้อยทางการเมืองอันเกิดจากแนวคิดอันสุดโต่งเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของชาติบางประการ และเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และแนวคิดอันสุดโต่งนี้ถึงแม้จะได้แนวร่วมจากกลุ่มบุคคลบางกลุ่มแต่ก็เป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่ยังคงเห็นตรงกันข้าม
ดังนั้น แนวคิดนี้จึงเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในระบอบรัฐสภา เนื่องจากพรรคการเมืองอื่นๆ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ยืนตรงกันข้ามกับแนวคิดนี้ ดังนั้น แนวคิดนี้จึงเป็นจุดด้อยทางการเมืองของพรรคก้าวไกล
ด้วยเหตุนี้ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ต้องการที่จะกลับมามีบทบาททางการเมืองโดดเด่นเช่นในอดีต จะต้องเอาชนะพรรคก้าวไกล โดยกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับทิศทางพัฒนาประเทศตามที่ประชาชนต้องการ และยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติคือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพื่อดึงมวลชนที่จงรักภักดีต่อสถาบัน และยึดมั่นในความเป็นไทยมาเป็นแนวร่วมทางการเมืองให้ได้