xs
xsm
sm
md
lg

ไม่มีเอกภาพในพรรค : ปัจจัยหลักทำให้ปชป.ด้อยค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



ตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์ได้เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยจนถึงปัจจุบัน ไม่มีผู้สนใจการเมืองคนไหนไม่รู้จักพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะในบทบาทของฝ่ายค้านในยุคที่เผด็จการสืบทอดอำนาจ โดยการแปลงร่างเข้ามาในระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. พรรคประชาธิปัตย์มีอุดมการณ์ชัดเจนในการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และต่อต้านระบอบเผด็จการ

2. บุคลากรทางการเมืองของพรรคนี้ในอดีต และบางส่วนในปัจจุบันมีความชัดเจนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ไม่ว่าในการต่อต้านเผด็จการและต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชัน

3. พรรคประชาธิปัตย์มีอายุการจัดตั้งยาวนานที่สุด จนเรียกได้ว่าเป็นสถาบันการเมือง

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา พรรคประชาธิปัตย์เสื่อมถอยลง จะเห็นได้จากผลของการเลือกตั้งทุกครั้งจะพ่ายแพ้แก่พรรคภายใต้การนำและการชี้นำของอดีตนายกฯ ทักษิณ หรือที่นักวิชาการบางท่านเรียกว่า พรรคการเมืองระบอบทักษิณมาตลอดตั้งแต่พรรคไทยรักไทยมาจนถึงพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าที่การเมืองภายใต้การนำของทักษิณจะเข้ามาสู่วงการเมือง พรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นพรรคที่โดดเด่น โดยเฉพาะเมื่อเป็นฝ่ายค้านและได้รับความนิยมอย่างมากใน กทม.และในภาคใต้

แต่ในระยะหลังโดยเฉพาะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้รับเลือกใน กทม.แม้แต่ที่นั่งเดียว และแถมได้รับเลือกน้อยลงในภาคใต้ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ และที่เป็นเช่นนี้อนุมานได้ว่าเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ในอดีตก่อนที่พรรคการเมืองภายใต้การนำและชี้นำของอดีตนายกฯ ทักษิณ เข้ามาสู่วงการเมืองซึ่งเป็นยุคที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะใน กทม.และในภาคใต้นโยบายของพรรคการเมืองเกือบทุกพรรคไม่แตกต่างกันมากนัก ประกอบกับการใช้เงินทุนในการเลือกตั้งก็น้อยแต่เน้นตัวบุคคลผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่มีทุนทางสังคมเป็นหลัก

ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีความโดดเด่นในด้านอุดมการณ์ และนโยบายต่อต้านเผด็จการและความโปร่งใส จึงได้เปรียบคู่แข่งซึ่งด้อยกว่า

2. แต่เมื่อพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของอดีตนายกฯ ทักษิณ ได้นำนโยบายประชานิยมในรูปแบบของการลก แลก แจก แถมเข้ามา ทำให้ได้ความนิยมจากประชาชนโดยเฉพาะระดับรากหญ้า จึงทำให้ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2544 และพรรคการเมืองในระบอบทักษิณก็ชนะเรื่อยมา และเพิ่งจะปราชัยให้กับพรรคก้าวไกลเมื่อการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง และแพ้เพียง 10 กว่าเสียงเท่านั้น

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์แพ้อย่างยับเยิน ทั้งใน กทม.และในภาคใต้ จึงทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ด้อยค่าลงไปอย่างมากในสายตาของคนที่นิยมชมชอบพรรคประชาธิปัตย์ และยิ่งด้อยค่าลงไปอีกเมื่อมีการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคล้มเหลวถึง 2 ครั้ง และไม่มีทีท่าว่าจะเลือกหัวหน้าพรรคใหม่ได้เมื่อใด ประกอบกับมีข่าวการแตกแยกทางความคิดในการเข้าร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยปรากฏออกมาด้วยแล้ว ยิ่งทำให้แฟนคลับของพรรคประชาธิปัตย์รวม ทั้งผู้เขียนด้วยฟังแล้วหดหู่ที่พรรคเก่าแก่ถึงขั้นเรียกได้ว่าเป็นสถาบันการเมืองเช่นพรรคประชาธิปัตย์เป็นไปได้ถึงขนาดอยากเป็นรัฐบาลมากถึงขนาดต้องหันหลังให้กับอุดมการณ์พรรคที่มุ่งมั่นในการต่อต้านคนโกง และที่สำคัญพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนสำคัญในการต่อต้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอยของพรรคเพื่อไทยจนถึงขั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาแล้วเมื่อ พ.ศ. 2557

เกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งภายในพรรคของประชาธิปัตย์ ถ้าไม่รีบแก้ไขปล่อยให้เนิ่นนานออกไปไม่มีผลดีกับอนาคตทางการเมืองของพรรคนี้แน่นอน

ดังนั้น ผู้เขียนในฐานะที่เป็นคนนิยมชมชอบพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด จึงไม่อยากเห็นพรรคนี้มีอันต้องเสื่อมถอย และสูญเสียอนาคตทางการเมืองไปมากกว่านี้ จึงใคร่ขอเสนอความคิดเห็นเพื่อเป็นแนวทางการปฏิรูปพรรคให้กลับคืนเป็นพรรคที่โดดเด่น และเป็นสถาบันหลักของการเมืองไทยต่อไป เฉกเช่นที่เคยเป็นมาในอดีตดังต่อไปนี้

1. ทุกคนในพรรคทั้งรุ่นเก่า และรุ่นใหม่รวมไปถึงสมาชิกพรรคที่มิได้เข้ามาเป็น ส.ส.จะต้องหันหน้าเข้าหากันและมองจุดด้อยของพรรคในทุกแง่มุมแล้วกำหนดแนวทางแก้ไข โดยยึดประโยชน์ของพรรคและประชาชนเป็นหลัก

2. ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะต้องมีการศึกษาปัญหาของประเทศแต่ละด้าน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และสังคมแล้วกำหนดแนวทางและมาตรการแก้ปัญหาให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมจับต้องได้ และสอดคล้องกับศักยภาพของบุคลากรของพรรคที่จะเข้าไปรับหน้าที่ดำเนินการในกรณีได้เป็นรัฐบาล และที่สำคัญทุกนโยบายจะต้องคำนึงถึงศักยภาพของประเทศในด้านงบประมาณ และกลไกของรัฐเพื่อให้เกิดเป็นอุปสรรคในการดำเนินการ

3. ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจะต้องทำงานเป็นทีม โดยให้รุ่นเก่าเป็นกลไกคอยควบคุมทิศทาง และให้รุ่นใหม่เป็นหลักขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น