เมื่อพูดถึงพรรคการเมืองในประเทศไทย คงจะไม่มีผู้สนใจการเมืองคนไหนไม่รู้จักพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่มีอายุการจัดตั้งมา 70 กว่าปี หรือเกือบ 80 ปี และได้มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ
2. พรรคประชาธิปัตย์มีอุดมการณ์ชัดเจนในการต่อสู้กับระบบเผด็จการ และการทุจริต คอร์รัปชันในวงการเมือง
3. พรรคประชาธิปัตย์มีบทบาทโดดเด่นในการเป็นฝ่ายค้าน จึงได้รับความนิยมสูงโดยเฉพาะในภาคใต้ และกรุงเทพฯ จากอดีต และเพิ่งจะเสื่อมถอยเมื่อการเมืองในระบอบทักษิณเกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้จากผลการเลือกตั้งในช่วงดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกแค่ 25 ที่นั่ง และที่สำคัญคือ แพ้การเลือกตั้งในภาคใต้ซึ่งเป็นฐานที่มั่นทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด และจากการพ่ายแพ้ในครั้งนี้เอง ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เกิดอาการสั่นสะเทือนถึงกับทำให้หัวหน้าพรรคประกาศลาออก และเกิดความวุ่นวายในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ จะเห็นได้จากการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคล้มเหลวเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบถึง 2 ครั้ง และเรื้อรังมาถึง 7 เดือน
แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีข่าวว่าจะมีการประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคอีกครั้งในวันที่ 9 ธันวาคมที่จะถึงนี้ และนับว่าในการประชุมครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์จะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่แน่นอน ส่วนว่าจะเป็นใครนั้นคงจะต้องรอดูกันต่อไป
ผู้เขียนในฐานะคนที่นิยมชมชอบบทบาททางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด เห็นว่าใครก็ตามถ้าคิดจะเข้ามารับใช้ประชาชนในฐานะผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ จะต้องถามตนเองถึงความพร้อม 3 ประการดังต่อไปนี้
1. จะยังคงรักษาอุดมการณ์ของพรรคดั้งเดิม โดยเฉพาะเรื่องทุจริต คอร์รัปชันในทางการเมืองได้หรือไม่
2. มีทุนทางสังคมมากพอให้คนในพรรคและประชาชนยอมรับหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน
3. มีความรู้ ความสามารถในทางการเมือง และการบริหารเป็นที่ยอมรับของประชาชนภายในประเทศและต่างประเทศหรือไม่
ถ้าเห็นว่าตนเองมีความพร้อมก็ควรจะลงแข่งขัน และถ้าเห็นว่าตนเองไม่มีความพร้อมก็ควรหลีกทางให้กับคนที่พร้อมกว่า ทั้งนี้เพื่อเห็นแก่อนาคตของพรรคเพราะจะต้องไม่ลืมว่า การแข่งขันทางการเมืองนับจากนี้ไปจะเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านการจัดทำนโยบายก่อนการเลือกตั้ง และการนำนโยบายมาใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติในกรณีที่พรรคได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรือแม้กระทั่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ขอให้ดูพรรคเพื่อไทยเป็นกรณีศึกษา และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการคิด และการนำเสนอให้เป็นรูปธรรม ทั้งนี้จะต้องทำได้จริงโดยยึดหลักของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ตถาคต พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น และทำอย่างไร พูดอย่างนั้น” อย่าพูดอย่าง ทำอย่าง เข้าทำนองโกหกหลอกลวงประชาชน
อีกประการหนึ่ง ต่อจากนี้ไปการพูดในสภาฯ หรือต่อหน้าสาธารณชนเช่น ในการปราศรัยหาเสียงจะต้องเน้นความจริง และสิ่งที่เป็นไปได้อย่าพูดเอามันให้ฟังแล้วเกิดความมันในอารมณ์แต่หาสาระไม่ได้ เฉกเช่นการหาเสียงในยุคก่อนๆ เพราะคนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการรับรู้ไปแล้ว ดังนั้น มนุษย์ยุคไอทีเฉกเช่นวัยรุ่นไทยวันนี้ จะต้องพูดกันด้วยเหตุผล และมีข้อมูลสนับสนุนเพื่อให้มีน้ำหนักในการหักล้าง และโน้มน้าวให้สนใจติดตามรับฟัง จะเห็นได้จากวิธีการของนักวิชาการรุ่นใหม่ และแกนนำบางคนของพรรคก้าวไกลเป็นตัวอย่าง แต่ไม่จำเป็นต้องทำเยี่ยงพรรคก้าวไกลในส่วนที่เกี่ยวกับพฤติกรรมสุดโต่งหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับความมี ความเป็นของชาติ ซึ่งคนส่วนใหญ่หวงแหนและเทิดทูนอนุรักษ์ไว้เป็นของคู่กันกับความเป็นไทย เพราะพฤติกรรมสุดโต่งดังกล่าวแล้วเป็นจุดด้อยของพรรคก้าวไกล และเป็นจุดอ่อนทางการเมืองที่พรรคประชาธิปัตย์นำไปศึกษา และกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการแข่งขันทางการเมืองเพื่อแย่งชิงมวลชนจากพรรคนี้
ส่วนเนื้อหาและวิธีการต่อสู้กับพรรคการเมืองคู่แข่ง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์จะต้องตั้งมั่นศึกษาและกำหนดแนวทางให้ชัดเจน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้และในกรุงเทพฯ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เคยครองเสียงข้างมากมาก่อน
แต่ก่อนอื่นทุกคนในพรรคประชาธิปัตย์ไม่ว่า สส.หรือมิใช่ สส.แต่มีหน้าที่รับผิดชอบในการเลือกหัวหน้าพรรคในวันที่ 9 ธันวาคมที่จะถึงนี้ จะต้องยุติความขัดแย้งแบ่งพวกชิงดี ชิงเด่นแล้วจับมือกันเลือกผู้นำที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะนำพรรคไปสู่เป้าหมายภายใต้อุดมการณ์ และกติกาที่พรรควางไว้ และเป็นไปตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยยึดหลักที่ว่า “พรรคเป็นปลา ชาวประชาเป็นน้ำ” ถ้าปลาขาดน้ำก็จะตาย ในทำนองเดียวกัน ถ้าประชาชาไม่ศรัทธาพรรคการเมืองก็อยู่ไม่ได้