xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ใต้เงาจีน (6)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพน้ำท่วมที่จีนเมื่อปี 2014 (AFP)
คอลัมน์...ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 แต้จิ๋วในอดีตก่อนการอพยพ 

ซัวเถาในปัจจุบันจากที่กล่าวไปนั้น เราได้รู้จักในแง่ที่เป็นถิ่นฐานหรือภูมิลำเนาเดิมของจีนแต้จิ๋วที่อยู่ในบ้าน ที่นี้เราก็มาทำความรู้จักกับจีนแต้จิ๋วอีกชั้นหนึ่งว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วจีนแต้จิ๋วคือใคร?

 จากหลักฐานที่เป็นบันทึกก็ดี หรือหลักฐานทางโบราณคดีก็ดี ทำให้เรารู้ว่า จีนแต้จิ๋วได้ถูกพูดถึงมาตั้งแต่เมื่อ ก.ค.ศ.214 (ก.ค.ศ. ย่อมาจาก ก่อนคริสตศักราช) โดยเป็นพื้นที่ด้อยพัฒนาที่ขึ้นอยู่กับเขตบัญชาการหนันไห่ (Nanhai Commandery) หรือเขตบัญชาการทะเลใต้ ด้วยมีที่ตั้งอยู่ติดชายฝั่งทะเลทางภาคใต้ของจีน 

เมื่อดูจากปีดังกล่าวแล้วก็ทำให้รู้ต่อไปว่า ช่วงนั้นตรงกับสมัยราชวงศ์ฉิน (ก.ค.ศ.221-206) ซึ่งมีจักรพรรดิฉินสื่อ (ฉินสื่อฮว๋างตี้ ก.ค.ศ.259-210) ที่ไทยเราเรียกกันว่า  จิ๋นซีฮ่องเต้ เป็นผู้นำ นั่นก็แสดงว่า ตอนที่จิ๋นซีฮ่องเต้รวบรวมจีนให้เป็นแผ่นดินเดียวกันนั้น พื้นที่ที่เป็นแต้จิ๋วได้ถูกรวบรวมเข้าไปด้วย
พอมาถึงสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ตงจิ้น, ค.ศ.317-420) ก็ได้ยกระดับจากเขตบัญชาการให้เป็นอำเภอไห่หยังที่ขึ้นต่อเขตบัญชาการตงกวาน ต่อมาเขตบัญชาการตงกวานได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเขตบัญชาการอี้อันใน ค.ศ.413 ครั้นถึงสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ.581-618) ก็ถูกยกระดับให้เป็นจังหวัดใน ค.ศ.590 ตอนที่เป็นจังหวัดนี้มีชื่อเรียกว่า สวินโจว พอปีถัดมาจึงถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เรียกว่า เฉาโจว 

 ฉาโจวเป็นคำเรียกในภาษาจีนกลาง ซึ่งภาษาจีนแต้จิ๋วก็คือคำว่า แต้จิ๋ว นั้นเอง 

ถึงตรงนี้ก็มีคำที่ขออธิบายทำความเข้าใจอยู่สองคำ คำแรกคือคำว่า เขตบัญชาการ คำนี้ไม่ได้หมายถึงหน่วยปกครองโดยตรง และโดยรูปคำก็บอกอยู่ในตัวว่าเป็นพื้นที่ที่ถูกควบคุมทางการทหาร ซึ่งก็หมายความว่า จะต้องมีนายทหารเป็นผู้บัญชาการในพื้นที่นั้น

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเวลานั้นพื้นที่ที่เป็นแต้จิ๋วในปัจจุบันยังเป็นพื้นที่ด้อยพัฒนา แต่ในสมัยนั้นเป็นสมัยที่มีการรวบรวมจีนให้เป็นแผ่นดินเดียวกัน เวลาที่ทัพของจิ๋นซีฮ่องเต้ตีไปทางใดก็จะยึดเอาพื้นที่ทางนั้นเข้าไว้ จะเจริญหรือไม่เจริญก็ยึดเอาไว้ก่อน

ถ้ายังไม่เจริญ (อย่างเช่นแต้จิ๋ว) ก็ให้นายทหารควบคุมไว้เพื่อแสดงถึงเขตอำนาจของราชวงศ์ฉินให้เป็นที่ประจักษ์ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่เจริญแล้วก็จะตั้งหน่วยบริหารด้านพลเรือนเพื่อปกครอง โดยผู้ที่เป็นผู้ปกครองนั้น อาจเป็นข้าราชการทหารหรือข้าราชการการพลเรือนก็ได้ แต่ในสมัยนั้นการที่นายทหารจะเป็นผู้บริหารด้านพลเรือนก็ถือเป็นเรื่องปกติเช่นกัน

 คำต่อมาคือคำว่า โจว ที่อยู่ต่อท้ายคำว่า สวินโจว หรือ เฉาโจว 

คำคำนี้มีความหมายแตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย ถ้าเป็นเมื่อราวสองพันกว่าปีก่อนจะหมายถึงมณฑลแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหน่วยปกครองที่ใหญ่มาก แต่บางสมัยก็เทียบเท่ากับอำเภอหรือจังหวัดของจีนปัจจุบัน

ดังนั้น คำว่า โจว มักจะถูกเรียกรวมๆ กันไปว่า เมือง ในความหมายกว้าง แต่ถ้าจะเจาะจงเป็นจังหวัดหรืออำเภอแล้วก็ต้องดูเป็นยุคๆ ไป ว่าแต่ละยุคหน่วยปกครองนั้นๆ มีฐานะเช่นไร

 เพราะฉะนั้นแล้ว คำว่า สวินโจว หรือ เฉาโจว ถ้าเรียกให้ตรงตามคำแล้วก็อาจจะเรียกว่า จังหวัดหรืออำเภอสวิน จังหวัดหรืออำเภอเฉา ตามลำดับ หรือจะเรียกตามความหมายกว้างว่า เมืองสวิน หรือเมืองเฉา ก็ได้เช่นกัน 

และเนื่องจากในที่นี้กำลังพูดถึงจีนแต้จิ๋ว คำว่า แต้จิ๋ว ก็คือคำว่า เฉาโจว ในภาษาจีนกลาง ถ้าจะเรียกให้ตรงตามความหมายก็จะเรียกว่า จังหวัดแต้ อำเภอแต้ (แล้วแต่ยุคสมัย) หรือเมืองแต้ ซึ่งถ้าเรียกตรงๆ แบบนั้นก็คงฟังดูกระไรอยู่

แต่ถ้าใช้คำว่า แต้จิ๋ว แล้วมีคำว่า อำเภอ จังหวัด หรือเมือง กำกับอยู่ข้างหน้าด้วยแล้วก็ขอให้เข้าใจตามนัยที่ว่า คือใช้ตามความคุ้นชินของเราที่เรียกจีนกลุ่มหนึ่งในไทยว่า แต้จิ๋ว โดยไม่เรียกว่า จีนอำเภอจิ๋ว จีนจังหวัดจิ๋ว หรือจีนเมืองจิ๋ว เป็นต้น

ทีนี้กลับมาที่อดีตของแต้จิ๋วอีกครั้ง ว่าพอจีนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ แต้จิ๋วก็มีฐานะเป็นจังหวัดเรื่อยมาจนถึงยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน (คือยุคปัจจุบัน) รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ก็ยังคงฐานะเช่นนั้นของแต้จิ๋วเอาไว้ ตราบจน ค.ศ.1955 รัฐบาลก็ให้ย้ายที่ตั้งศูนย์กลางการบริหารจากแต้จิ๋วมายังซัวเถาจนถึงทุกวันนี้

อดีตที่กล่าวมาโดยสังเขปเป็นการกล่าวในเชิงภาพรวม แต่หากกล่าวในแง่พัฒนาการแล้วแต้จิ๋วก็ไม่ต่างกับเมืองต่างๆ ของจีนตรงที่ว่า ต่างได้ผ่านร้อนผ่านหนาวตามสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดห้วงเวลานับพันปีที่ผ่านมา ซึ่งหากใครต้องการศึกษาเรื่องราวในส่วนนี้ก็สามารถหาอ่านได้จากเอกสาร (หนังสือ) ภาษาไทยหลายเล่ม จากผู้เขียนหลายท่านด้วยกันในปัจจุบัน

แต่ดังได้บอกไปแล้วว่ากำลังศึกษาประเด็นชาวจีนโพ้นทะเลที่เป็นจีนแต้จิ๋ว ในที่นี้จึงขอกล่าวถึงประเด็นที่ว่าเป็นการเฉพาะ โดยขอเริ่มจากสาเหตุการอพยพเป็นประเด็นแรก จากนั้นจึงว่ากันในประเด็นอื่นๆ เป็นลำดับไป

สาเหตุของการอพยพนั้นมีอยู่หลายประการด้วยกัน แต่ละประการไม่มีความแน่นอนว่าเกิดขึ้นในยุคใดสมัยใด เช่น ในยุคหนึ่งมีสาเหตุประการนี้ แต่อีกยุคหนึ่งกลับมีสาเหตุประการอื่นที่ต่างออกไป ในที่นี้จะขอกล่าวถึงสาเหตุต่างๆ ของการอพยพโดยรวม

สาเหตุหลักๆ ที่สำคัญและเกิดขึ้นอยู่เสมอก็คือ  ภัยธรรมชาติ 

เวลาที่กล่าวถึงภัยธรรมชาติในจีนแล้ว หากนำมาเปรียบเทียบกับไทยเราก็คงนึกเห็นภาพได้ยากมาก เพราะของจีนนั้นเรียกได้ว่ามีครบแทบทุกภัย ในขณะที่ของไทยเราจะมีบางภัยที่แทบจะไม่ประสบพบเจอเลยก็ว่าได้

ที่ว่ามีครบทุกภัยนั้นหมายความว่า มีทั้งภัยจากแผ่นดินไหว วาตภัย อุทกภัย กีฏภัยหรือภัยจากแมลง ภัยแล้ง โรคระบาด และทุพภิกขภัย เป็นต้น

 ในที่นี้จะยกตัวอย่างเมืองเฉิงไห่หรือเถ่งไห้ในภาษาจีนแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในแต้จิ๋วนั้น จากที่มีการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ ค.ศ.1563 ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์หมิง จนถึง ค.ศ.1949 อันเป็นปีที่จีนเริ่มถูกปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมเวลา 386 ปี พบว่า เมืองๆ นี้ต้องพบกับภัยจากที่กล่าวมาข้างต้นถึง 200 กว่าครั้ง

เฉพาะวาตภัยกับอุทกภัยที่เกิดขึ้นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1922 เพียงครั้งเดียวก็ทำลายเมืองและอำเภอต่างๆ ของแต้จิ๋วถึง 8 แห่ง มีคนเสียชีวิตถึง 26,996 ราย บ้านเรือนพังพินาศ 40,000 หลัง 

ภัยที่รุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยขนาดนี้ นับเป็นแรงผลักดันที่เลวร้ายให้จีนแต้จิ๋วต้องอพยพ เพราะหากขืนอยู่ต่อไปไม่เพียงจะไร้อนาคตเท่านั้น ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเช่นเรื่องอาหารการกินก็ยังมองไม่เห็นทางเลยว่าจะหาจากที่ไหน เช่นนี้แล้วการหนีไปตายเอาดาบหน้าบางทีอาจยังพอมีหวังอยู่บ้าง


กำลังโหลดความคิดเห็น