xs
xsm
sm
md
lg

รู้จักดินแดนที่รุ่มรวยด้วยมรดกวัฒนธรรมจีนจากหนังสือ “ซานตงในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพปกหน้าหนังสือ ซานตงในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีน
“ขงจื่อ, ซุนอู่ (ซุนหวู), เมิ่งจื่อ (เม่งจื๊อ), เปี่ยนเชวี่ย, ขงเบ้ง, เขาไท่ซาน, พระภิกษุฟาเหียน, ซ้องกั๋ง (หรือ 108 วีรบุรุษแห่งเขาเหลียงซาน)” นี่เป็นเพียงตัวอย่างรายนามที่ยิ่งใหญ่ที่ล้วนมีกำเนิดหรือเกี่ยวข้องกับซานตง มณฑลริมชายฝั่งตะวันออกของจีน

มิต้องสงสัยเลยว่า ซานตงจึงเป็นดินแดนที่รุ่มรวยด้วยมรดกวัฒนธรรมจีน โดยเฉพาะในด้านของความคิดความเชื่อที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจและความรู้สึกนึกคิดที่ถูกต้องต่อวัฒนธรรมของชาวจีนได้อย่างดียิ่ง

ซานตงในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีน หนังสือที่รวบรวมบทความจากการประชุมวิชาการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเพิ่งเปิดตัวสู่สาธารณะในเดือน ก.ค.นี้

อนึ่ง การประชุมเฉลิมพระเกียรติดังกล่าวนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ปาฐก และได้พระราชทานแถบวิดีทัศน์การทรงบรรยายเรื่อง “ซานตง” มาถ่ายทอดในการประชุม ซึ่งจัดโดย ศูนย์จีนศึกษาและศูนย์การเรียนรู้จีนศึกษาบรมราชกุมารี สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 7 ก.ค.2566 อีกทั้งยังได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ถอดข้อความในแถบวิดีทัศน์ดังกล่าวมารวมพิมพ์ในหนังสือ “ซานตง ในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีน”

“มุมจีน” จึงขอถือโอกาสนี้หยิบยกประเด็นสารัตถะบางส่วนจากปาฐกถานำโดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดังกล่าวมาแบ่งปันเพื่อแนะนำหนังสือที่จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมจีน ตลอดจนจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของจีนในอดีตที่ตกทอดเป็นมรดกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าในแง่มุมต่างๆ ให้แก่โลก

ซานตง เป็นดินแดนเก่าแก่ เป็นแหล่งวัฒนธรรมจากยุคหินใหม่เมื่อ 8,000 ปีก่อน จนล่วงสู่ยุคอันลือลั่นเมื่อเกือบ 2,800 ปี คือยุคชุนชิว ยุคจั้นกั๋ว (หรือยุคมหาสงคราม) ซึ่งในยุคแห่งความขัดแย้งวุ่นวายนี้เป็นยุคที่ปวงปราชญ์ยิ่งใหญ่ของจีนแทบทุกสำนักหลักของจีนถือกำเนิดขึ้นก่อนที่การรวมชาติจีนในราชวงศ์ฉิน ของจิ๋นซีฮ่องเต้ เพียงแค่นี้ก็น่าสนใจยิ่งแล้วว่าซานตงเป็นแผ่นดินที่ได้โอบรับจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่เพียงไร

ซานตง เป็นถิ่นที่บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์จีนได้เดินทางผ่านเพื่อไปปฏิบัติภารกิจยิ่งใหญ่ เช่น ในปี ค.ศ.412 พระภิกษุฝาเสี่ยน (ฟาเหียน) โดยสารเรือมาต่อเรือที่ชิงโจวในซานตง ขณะเดินทางไปทำภารกิจยิ่งใหญ่คือแปลพระไตรปิฎกจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีน

หนึ่งในวรรณกรรมยิ่งใหญ่ของจีนที่เกี่ยวข้องกับซานตง คือ ซ้องกั๋ง หรือที่จีนเรียก สุยหู่จ้วน (水浒传) ประพันธ์โดยซือไน่อาน (ค.ศ.1296-1372) “วรรณกรรมซ้องกั๋ง” เป็นเรื่องราวกลุ่มบุคคลนอกกฎหมาย หรือกบฏ 108 คน หรือวีรบุรุษ 108 คน ผู้รักชาติรักหนีการกดขี่รังแกของขุนนางไปรวมตัวกันที่เขาเหลียงซาน ต่อต้านความอยุติธรรม ทั้งคอยช่วยเหลือคนยากจน... “เขาเหลียงซาน” นี้ปัจจุบันอยู่ในเขตมณฑลซานตง

และที่น่าสนใจมากๆ คือ ผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานอมตะเป็นมรดกภูมิปัญญาแก่โลกา หลายๆ ท่านมีบ้านเกิดในถิ่นที่ปัจจุบันอยู่ในเขตมณฑลซานตง ขอยกตัวอย่าง “ผู้ยิ่งใหญ่แห่งซานตง” ที่เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านได้ศึกษาผลงานของท่านมาแล้ว ดังต่อไปนี้


ขงจื่อ (孔子)นักปราชญ์ยิ่งใหญ่แห่งยุคชุนชิว ผู้ก่อตั้งลัทธิขงจื่อ หรือหรูจยา (儒家)


ซุนอู่ (孙武)ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ปลายยุคชุนชิว เป็นชาวก๊กฉี เมืองเล่ออาน ปัจจุบันคือเมืองเล่อหมินอยู่ทางเหนือของซานตง เป็นนักการทหารและนักการเมือง เป็นครูของทหารหลายชั่วคน ผลงานชื่อก้องโลกของเขา ก็คือ ซุนจื่อปิงฝ่า (孙子宾法) เป็นตำราการทหารที่เก่าแก่ที่สุดในโลก จวบจนปัจจุบันก็ยังศึกษากันอยู่


หลู่ป่าน (鲁班) เป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคชุนชิวเช่นกัน เป็นช่างไม้ วิศวกร สถาปนิกที่มีชื่อเสียง สามารถเข้าไม้โดยไม่ต้องตอกตะปู อีกทั้งคิดเครื่องมือเลื่อย เครื่องมือช่างไม้อื่นๆ


เปี่ยนเชวี่ย (扁鹊) เป็นผู้ยิ่งใหญ่นามกระเดื่องยุคชุนชิว-จั้นกั๋ว ชื่อฉินเย่ว์เหริน เป็นผู้วางรากฐานแก่การแพทย์แผนจีน ผู้คนเรียกขานท่านว่า “เปี่ยนเชวี่ย” ตามชื่อหมอในตำนานจักรพรรดิเหลือง เกิดที่หลูอี้ ปัจจุบันคือเมืองฉังชิงของซานตง


เมิ่งจื่อ (孟子) ผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านแห่งยุคจั้นกั๋ว ที่ชาวไทยหลานท่านอาจคุ้นเคยในชื่อ เม่งจื๊อ เป็นชาวเมืองทงโจวทางใต้ของซานตง เป็นนักคิด นักการเมือง นักการศึกษา


จูกัดเหลียง หรือ จูเก่อเลี่ยง (诸葛亮)หรือ ขงเบ้ง (孔明) ค.ศ.181-234 เกิดที่หลังหยา อำเภอหยังตู ปัจจุบันคืออี๋หนาน นครหลินอี๋ทางทิศใต้ของซานตง ท่านนี้ทรงนามกระเดื่องในฐานะนักการเมืองและนักการทหารแห่งยุคสามก๊ก

ในปาฐกถาโดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ปิดท้ายด้วยเรื่องชวนน้ำลายหกคือ อาหารจานเด็ดของมณฑลซานตง 6 เมนู ด้วยกัน

สุดท้ายขอฝากเรื่องเล่าเกี่ยวกับซานตง เรื่องแปดเซียนข้ามสมุทร แปดเซียนข้ามทะเลตงไห่ด้วยของวิเศษ มีสำนวนจีนที่หมายถึง “แปดเซียนข้ามทะเล ต่างแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์” ในภาษาจีนคือ 八仙过海各显神通 สำนวนนี้แสดงความหมายเชิงเปรียบเทียบว่า “การกระทำสิ่งใดทุกคนก็ล้วนมีวิธีการของตัวเอง”

ภาพทิวทัศน์ภูเขาไท่ซาน บางส่วนของภาพจักรพรรดิคังซีเสด็จประพาสทางใต้ จากจี่หนันสู่ภูเขาไท่ซาน วาดโดยหวัง ฮุย ศิลปินสมันราชวงศ์ชิง (ประมาณ ค.ศ.1698)
สำหรับบทความอื่นๆ ที่รวบรวมในหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอสารัตถะที่เชื่อมโยงกับซานตงที่จะช่วยสร้างความเข้าใจในจิตวิญญาณจีนอย่างลึกซึ้ง ในข้อเขียนแนะนำหนังสือนี้ขอเผยเพียงประเด็นสารัตถะ ดังต่อไปนี้

“ไท่ซาน” พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในคติความเชื่อของชาวจีน ว่าด้วยพิธี “เฟิงซั่น” โดย รศ.ดร.สุรสิทธิ์ อมรวณิชศักดิ์ การศึกษาชุนชิววิทยา โดย รศ.ดร.จตุวิทย์ แก้วสุวรรณ์ ขงจื่อว่าด้วยความรักแบบเข้าข้าง โดยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ ขงจื่อผู้เดียวดายและอารมณ์แห่งการขาดหาย โดยอาจารย์รชฎ สาตราวุธ ผลประโยชน์และการใส่ใจร่วมกันในจริยศาสตร์มั่วจื่อ โดย รศ.ดร.ศริญญา อรุณขจรศักดิ์ และไท่ซาน พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในนิยายของกิมย้ง รศ.ดร.บุรินทร์ ศรีสมถวิล



ข้อมูลหนังสือ
ชื่อหนังสือ ซานตงในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีน
สำนักพิมพ์ ชวนอ่าน
พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2566
บรรณาธิการ ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์
ราคาหน้าหน้าปก 495 บาท
จำนวนหน้า 248 หน้า
ISBN : 978-616-91676-2-4


กำลังโหลดความคิดเห็น