ถ้าเพียงแต่พรรคก้าวไกลยอมถอยกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปเท่านั้น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีทันที เพราะมี ส.ว.หลายคนแสดงท่าทีเช่นนั้น เช่นเดียวกับท่าทีของพรรคภูมิใจไทยที่แสดงผ่านชาดา ไทยเศรษฐ์ ก็ประกาศว่า หากพรรคก้าวไกลถอยมาตรา 112 พรรคภูมิใจไทยก็จะยกมือให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรีทันที โดยพรรคภูมิใจไทยจะเป็นฝ่ายค้าน
ดังนั้นความเห็นที่บรรยง พงษ์พานิช นำมาโพสต์ในเฟซบุ๊กของท่าน แม้จะอ้างว่าไม่ใช่ความเห็นของตัวเอง แต่ได้รับการกล่าวถึงมากว่า “มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่า…มันไม่เกี่ยวกับเรื่องจงรักภักดีอะไรหรอก……พวกมึงเล่นจะลดกองทัพลดนายพลลดข้าราชการลดกฎหมายลดอำนาจลดทุนผูกขาดลดทุกอย่างของอภิสิทธิชนเพิ่มแค่อย่างเดียวคือภาษีคนรวย …ใครเขาจะยอมมึง”
ความเห็นนี้จึงไม่เป็นความจริง จะไปเหมาว่า พิธาไม่ผ่านเพราะเรื่องที่คุณบรรยง ยกมาไม่ได้
ไม่ปฏิเสธหรอกว่าอาจจะมีคนส่วนหนึ่งที่คิดเช่นนั้นจริง แต่ไม่ปรากฏในรัฐสภาที่ผู้มีหน้าที่ลงมติ แสดงความเห็นเช่นนั้นเลย และมีผู้บอกว่า พร้อมจะลงมติเห็นชอบพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าถอยเรื่องมาตรา 112 ไป และเป็นความจริงที่ประจักษ์จากพันธสัญญาของผู้มีสิทธิ์ลงมติในสภาฯ นั้นว่า ถ้าถอยมาตรา 112 พิธาจะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีทันที
แต่ประเด็นคือพิธาและพรรคก้าวไกลก็ยืนยันว่าจะไม่ถอยกรณีมาตรา 112 อ้างว่า เป็นสัญญาที่พรรคก้าวไกลได้หาเสียงไว้กับประชาชนจนได้รับการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อมากถึง 14 ล้านเสียง แต่คำถามว่า ทำไมนโยบายอื่นที่สัญญาไว้กับประชาชนเช่น ค่าแรง 450 บาท เมื่อได้รับเสียงคัดค้านจากผู้ประกอบการจึงยอมถอยได้ หรือเงินผู้สูงวัย 3,000 บาท ที่บอกว่าจะเลื่อนไปปี 2570
ซึ่งแสดงว่า แม้สัญญาไว้กับประชาชนตอนที่หาเสียง แต่เมื่อมีผู้ท้วงติงพรรคก้าวไกลก็ยอมถอย แล้วทำไมกับมาตรา 112 พรรคก้าวไกลจึงยืนกระต่ายขาเดียว โดยอ้างประชาชนที่ลงคะแนนให้ว่าต้องการให้แก้ไขมาตรานี้
พรรคก้าวไกลมีเป้าหมายที่ซ่อนเร้นหรือรับปากใครไว้กันแน่ จึงยืนยันที่จะต้องแก้ไขมาตรา 112 ให้ได้
ทั้งที่ไม่มีบทพิสูจน์หรอกว่า คนที่ลงคะแนนให้พรรคก้าวไกลทั้ง 14 ล้านเสียงนั้นต้องการให้พรรคก้าวไกลเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับมาตรา 112 หรือไม่ คงจะมีอยู่จริงบ้างที่คนเลือกพรรคก้าวไกลเพื่อเป้าหมายนี้ แต่ไม่น่าจะใช่ทั้งหมด เพราะเท่าที่ผมสอบถามคนที่เลือกพรรคก้าวไกลหลายคนเขาก็บอกว่า เขาเพียงแต่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะเบื่อรัฐบาลลุงเท่านั้นเอง
และจริงๆ แล้วหากใครได้เห็นร่างแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล จะเรียกว่า “แก้ไข” ก็ไม่น่าจะได้ต้องเรียกว่า “ยกเลิก” นั่นแหละ เพราะร่างของพรรคก้าวไกลที่เคยเสนอนั้นได้ยกเลิกมาตรา 112 ที่อยู่ในหมวดความมั่นคง และไปสร้างหมวดใหม่ขึ้นมาเป็นมาตรา 135 เรียกว่า หมวดความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างของมาตรา 112 เดิมไปอย่างสิ้นเชิง
ธงชัย วินิจจะกูล ตั้งคำถามว่า ทำไมการแก้มาตรา 112 ด้วยคำสั่งคณะกรรมการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเมื่อ พ.ศ. 2519 เพื่อให้โทษหนักขึ้นทำไมกระทำได้ แต่การแก้มาตรา 112 โดยสมาชิกสภาผู้แทนฯ ที่มาจากการแก้เลือกตั้งจึงทำไม่ได้
ในความเห็นของผมนั้นคิดว่า กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรารวมถึงมาตรา 112 นี้สามารถแก้ไขได้หากจะเสนอกันเพื่อแก้ไขความหนักเบาของโทษที่คณะปฏิรูปทำนั้นผมก็คิดว่า เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่หลักการที่เขาคัดค้านไม่ใช่ประเด็นว่า มาตรา 112 แก้ไขไม่ได้ แต่เขาไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่จะแก้ไขนั่นเอง เพราะหลักการของมาตรา 135 ที่พรรคก้าวไกลเขียนขึ้นใหม่เพื่อมาแทนมาตรา 112 นั้นได้ลดพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ลงอย่างมากและถูกนำเอาไปจากหมวดความมั่นคง
ทั้งที่มาตรา 112 ดังกล่าวมีเจตนารมณ์มุ่งหมายที่จะคุ้มครองความมั่นคงแห่งสถานะเฉพาะของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่มิได้เป็นเพียงบุคคลเท่านั้น แต่ยังมีสถานะเป็น “สถาบัน” ที่มีประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์กับประชาชนในลักษณะเฉพาะซึ่งแตกต่างไปจากประวัติศาสตร์และสังคมของประเทศอื่น การกระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงต้องอยู่ในหมวดความมั่นคง
และสิ่งที่ไม่เห็นด้วยต่อความคิดของพรรคก้าวไกลก็คือ การแก้ไขความผิดเกี่ยวกับการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงอย่างมากจนเรียกได้ว่าต่ำกว่ากรณีดูหมิ่น หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาในกฎหมายปัจจุบัน
โดยร่างของพรรคก้าวไกลเป็นดังนี้มาตรา 135/5 ผู้ใดหมิ่นประมาทดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
และมาตรา 135/6 ผู้ใดหมิ่นประมาทดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งจะเห็นว่าโทษของผู้ที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์นั้นเป็นโทษที่ต่ำมาก และต่ำลงไปอีกคือโทษต่อพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
นอกจากนั้นร่างของพรรคก้าวไกลยังเขียนบทยกเว้นที่ไม่ต้องรับโทษไว้ด้วยว่า ผู้ใดติชมแสดงความคิดเห็นหรือแสดงข้อความใดโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะผู้นั้นไม่มีความผิดตามมาตรา 135/5 และมาตรา 135/6 และความผิดฐานในลักษณะนี้ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่า ข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริงผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
ซึ่งเห็นได้ว่า ร่างที่พรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้
และร่างกฎหมายนี้ยังทำให้พระมหากษัตริย์เผชิญหน้ากับประชาชนโดยตรง เพราะให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
เราเห็นได้ว่าวันนี้มีคนจำนวนมากที่กระทำการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย แม้มีบทบัญญัติโทษไว้สูงก็ตาม หากถูกยกเลิกและเขียนขึ้นใหม่ตามแนวคิดของพรรคก้าวไกล ก็ยิ่งจะทำให้มีคนกระทำผิดมากขึ้น การกล่าวหาว่า มาตรา 112 ถูกนำมาใช้กับผู้กระทำผิดมากขึ้นนั้นไม่ใช่เป็นความผิดของกฎหมายที่เป็นเพียงตัวอักษรที่ไปทำร้ายใครไม่ได้ แต่กฎหมายถูกบังคับใช้มากขึ้นเพราะมีผู้กระทำผิดมากขึ้น
ใช่หรือไม่ว่าเป้าหมายที่แท้จริงในการยกเลิกมาตรา 112 แล้วเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่คือ การช่วยเหลือมวลชนและแกนนำของพรรคก้าวไกลที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จำนวนมาก
และใช่หรือไม่ว่าเป้าหมายและจุดมุ่งหมายของพรรคก้าวไกลที่สูงสุดคือต้องการที่จะเป็นบันไดก้าวแรกในการลดทอนบทบาทและสถานะของพระมหากษัตริย์ เพื่อเปิดทางไปสู่การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นเอง
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan