xs
xsm
sm
md
lg

ให้ไวเลย! ปฏิรูปที่ดินจังหวัดฯเผยโคราชยื่นขอรับมรดกสิทธิที่ดิน ส.ป.ก.เพียง 1,146 ราย เหลืออีกอื้อกว่าหมื่นราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา– ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เผยล่าสุดชาวโคราชมายื่นคำร้องขอรับมรดกสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 เพียง 1,146 ราย เป็นที่ดิน 1,651 แปลง รวม 23,268 ไร่ ยังเหลือทายาทเกษตรกรไม่มายื่นอีกอื้อกว่า 1 หมื่นรายหรือคิดเป็น 90% ย้ำให้มายื่นคำร้องขอรับสิทธิโดยเร็ว หวั่นไม่ทันกำหนดแม้ขยายเวลาถึง 16 ก.ค.67

วันนี้ ( 8 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ทางคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินได้มีการรับแจ้งจากทางกรมการปกครองเรื่องมีประชาชนผู้มีกรรมสิทธิถือครองที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ยังไม่ได้มาลงทะเบียนขอรับที่ดิน ส.ป.ก. จากผู้ที่เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทางคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจึงได้มีการออกระเบียบให้ประชาชนที่มีสิทธิในการรับโอนที่ดิน ส.ป.ก. จากผู้เสียชีวิต มาลงทะเบียนซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2564 ที่ระบุว่า ใครก็ตามที่พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เป็นผู้ได้รับจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. และท่านเหล่านั้นเสียชีวิตลงทายาทจะต้องยื่นคำขอรับมรดกสิทธิในที่ดิน ส.ป.ก. ภายในไม่เกิน 2 ปี ส่วนกรณีที่การเสียชีวิตนั้นเกิดก่อน 16 กรกฎาคม 2564 ทายาทจะต้องยื่นคำขอภายใน 15 กรกฎาคม 2566 แต่จากระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้มาลงทะเบียนจำนวนน้อย ทำให้ทางคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินได้มีการขยายเวลาออกไปจนถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2567


ล่าสุด นายอัครเดช เรียนหิน ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สำหรับจังหวัดนครราชสีมา มีที่ดิน ส.ป.ก.ทั้งหมด 3,235,411 ไร่ มีทายาทของเกษตรกรที่ยังไม่ได้มายื่นขอรับสิทธิถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ทั้งหมด 12,074 ราย เป็นที่ดินทั้งหมด 16,916 แปลง คิดเป็น 215,294 ไร่ ซึ่งล่าสุดมีทายาทมายื่นขอรับสิทธิดังกล่าวเพียง 1,146 ราย เป็นที่ดิน 1,651 แปลง คิดเป็น 23,268 ไร่ ยังคงเหลือทายาทอีกจำนวน 10,928 ราย ที่ยังไม่ได้มายื่นคำร้องขอรับสิทธิถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ต่อจากเกษตรกรที่เสียชีวิต หรือคิดเป็นร้อยละ 90

นายอัครเดช เรียนหิน ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา
ดังนั้น แม้ว่าจะมีการขยายเวลาออกไปจนถึง 16 กรกฎาคม 2567 แต่อยากให้เร่งมายื่นคำร้องขอรับมรดกที่ดินทำกิน ส.ป.ก. ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อจะได้ไม่เสียประโยชน์ เพราะหากภายในกำหนดระยะเวลายังไม่ได้ไปยื่นคำร้องฯ ทายาทนั้นจะหมดสิทธิถือครองที่ดิน ส.ป.ก. และถ้ายังทำกินในที่ดินดังกล่าว ก็จะต้องไปยื่นขอเช่าที่ดินทำกินจาก ส.ป.ก.แทน












กำลังโหลดความคิดเห็น