xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมวิศวกรฯ วิเคราะห์ปัจจัยผลกระทบ-การรับมือ “แผ่นดินไหวต่ออาคารสูงในกรุงเทพฯ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สืบเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์ มีจุดศูนย์กลางที่นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา เกิดขึ้นเมื่อเวลา 8:40 วันที่ 19 มิ.ย.2566


ศ.ดร.อมร พิมานมาศ จากคณะวิศวกรรมศาตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เผยว่า จากข้อมูลที่ได้รับ คาดว่าเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดจากรอยเลื่อนสะกาย ในส่วนที่อยู่นอกฝั่งตอนใต้ของประเทศเมียนมา

แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นมีขนาด 6.0 ริกเตอร์ ถือว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง แต่เนื่องจากเกิดที่ระดับความลึกเพียง 10 กม. ซึ่งไม่ลึกมาก จึงอาจส่งผลกระทบต่ออาคารและโครงสร้างได้

สำหรับอาคารสูงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตรวจพบการสั่นไหว จนผู้อยู่อาศัยรู้สึกได้ วิเคราะห์ได้ว่าอาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น 1. แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในระดับไม่ลึก 2. ระยะห่างระหว่างจุดเกิดเหตุจนถึงกรุงเทพฯ ประมาณ 400-500 กม. 3. สภาพชั้นดินของกรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นชั้นดินเหนียวอ่อน สามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้รุนแรงขึ้น 4. เกิดการกำทอนหรือการสั่นพ้องระหว่างโครงสร้างกับชั้นดิน โดยเฉพาะอาคารสูงจึงเกิดการสั่นสะเทือนมากกว่าอาคารเตี้ย

อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวในครั้งนี้ มีขนาด 6.0 ริกเตอร์ ถือว่าไม่ใหญ่มาก จึงไม่น่าส่งผลกระทบให้โครงสร้างอาคารเสียหายรุนแรง แต่เจ้าของอาคารก็ไม่ควรประมาท หากตรวจพบรอยร้าว หรือการกะเทาะของปูนซึ่งเป็นสัญญานเตือนภัย ก็ควรให้วิศวกรเข้ามาตรวจสอบในรายละเอียดต่อไป

ในอนาคตข้างหน้า รอยเรื่อยสะกายอาจสร้างความรุนแรงได้ถึงระดับ 8.0 ริกเตอร์ ซึ่งเป็นระดับที่รุนแรงมาก อาจทำให้โครงสร้างเสียหายมากกว่านี้หลายเท่าจึงต้องเตรียมการโครงสร้างให้รับมือได้

"ในแง่ของกฎหมายควบคุมอาคาร มีกฎกระทรวงฯ ปี 2550 และปรับปรุงปี 2564 บังคับให้อาคารต้องออกแบบให้ต้านแผ่นดินไหว แต่ถ้าเป็นอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 จะมีความเสี่ยงมากกว่า เนื่องจากก่อสร้างมาก่อนที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท เจ้าของอาคารเก่าจึงควรจัดหาวิศวกรประเมินและเสริมความแข็งแรงอาคารเพื่อรองรับแผ่นดินไหวที่อาจจะรุนแรงกว่านี้ในอนาคต"


กำลังโหลดความคิดเห็น