รัฐสภาเปิดฉากถกคุณสมบัติก่อนโหวต “พิธา” นั่งนายกฯ “ชาดา” ฉะจ้องจะล้มสถาบัน จะแก้ ม.112 ท่าเดียว เกิดมาเพื่อสิ่งนี้หรือ ลั่นหากปล่อยให้แก้ ม.112 มียิงกันระเบิด ถ้าอย่างนั้นเสนอออก กม.ยิงคนหมิ่นสถาบัน ไม่ติดคุกได้ไหม ด้าน “พิธา” ย้ำ มีคุณสมบัติสมเป็นนายกฯ ตอก ส.ว.อย่าให้มีศาลเตี้ยในรัฐสภา ด้าน “ชัยธวัช” แจงเลือกก้าวไกลไม่ใช่ล้มล้างสถาบัน “ประพันธุ์” งัดข้อกฎหมาย ชี้ “พิธา” ขาดคุณสมบัติ ขู่คนโหวตให้ ระวังถูกร้องทำผิด รธน.- ส.ว.ทำผิดจริยธรรม
วันนี้ (13 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้เป็นประธานการประชุมรัฐสภา หลังจากมีสมาชิกมาจำนวน 390 คน โดยได้แจ้งต่อสมาชิกว่าผู้ที่มีสิทธิจะเสนอรายชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น
ต่อมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน สมาชิกรัฐสภา ลุกขึ้นเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีสมาชิก ส.ส. รับรองด้วยการเสียบบัตรแสดงตน จำนวน 302 คน
จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นต่อคุณสมบัติของนายพิธากับตำแหน่งดังกล่าว
โดย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย เปิดอภิปรายคนแรก ว่า ไม่เห็นชอบที่มีการเสนอชื่อ นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยย้ำจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย ที่แถลงไปก่อนหน้านี้ว่าไม่เลือกนายกรัฐมนตรี ที่แก้ไข หรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะเป็นพรรคการเมืองที่มียึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตรย์ทรงเป็นประมุข แม้การจับมือพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ในข้อตกลงจะไม่มีการแก้มาตรา 112 แต่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศว่า เป็นพรรคที่จะมี ส.ส.ผลักดันแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยอ้างเพื่อรักษาสถาบันพระมหากษตริย์
“ผมและพรรคภูมิใจไทยไม่เชื่อ และเป็นสิทธิที่จะไม่เชื่อ ว่า ความคิด มาตรา 112 เป็นอย่างไร ถ้าอ้าง 14 ล้านเสียง ผมอยากฝากว่าคนไทยไม่ได้มี 14 ล้าน ไม่ได้มี 25 ล้าน ท่านต้องเป็นนายกรัฐมนตรีของคน 60 ล้านคน ของประเทศไทย”
นายชาดา กล่าวด้วยว่า ไม่ทราบว่า พรรคก้าวไกล มองพระมหากษัตริย์ มองพระราชินี และรัชทายาท เป็นเช่นไร จากกรณีที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่แล้ว มีการลดโทษผู้ละเมิดหมิ่นประมาท พระมหากษัตรยิ์ กำหนดโทษจำคุก 1 ปีเท่าคนทั่วไป และกำหนดโทษผู้ที่ละเมิด พระราชินี พระรัชทายาท เพียง 6 เดือนน้อยกว่าคนทั่วไปธรรมดา และแก้ไขว่าการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชนิ รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการ ไม่มีความผิด ถ้าอ้างเพื่อผลประโยชน์ประชาชน และให้เพียงสำนักพระราชวังเป็นผู้ฟ้อง เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่สำนักพระราชวังจะมาฟ้องคนของท่านเป็นไปไม่ได้
“ผมไม่เชื่อว่า ท่านจะปกป้องพระมหากษัตริย์ เพราะการลดการคุ้มครอง ลดโทษผู้ละเมิด ไม่เอาผิดไม่เอาโทษ ผู้ละเมิดด้วยเหตุผลเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ยังขัดมาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์ เป็นบุคคลสำคัญ ผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องมิได้”
นายชาดา ระบุว่า ที่เจ็บปวดมากกว่านั้น มีคำพูดของผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคก้าวไกลว่า ถ้า นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ให้ไปลงนามกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ สามารถฟ้องผู้เป็นประมุขได้ เป็นสิ่งที่รับไม่ได้
“ผมทำใจไม่ได้ ว่า พระมหากษัตริย์ ที่คุ้มกะลาหัวเรา จะถูกฝรั่งมาฟ้อง ท่านคิดไหมครับว่า ถ้าแก้ไขมาตรา 112 บ้านเมืองนี้จะสงบ บ้านเมืองนี้จะเจริญ ท่านได้รับเลือกตั้งมาแล้ว เก็บเรื่องนี้ไว้ในกระเป๋าไม่ได้เหรอ ท่านละเพียงเรื่องเดียว ท่านได้เป็นนายกฯ แน่ ถ้าไม่มี 112 ถ้าไม่แก้แล้ววันนี้ประเทศนี้จะล่มจมเหรอ ไม่ใช่ครับ ทำเรื่องที่ลุงตู่ทำแล้วไม่มีทำสิ แต่วันนี้ท่านยืนอย่างเดียว กูไม่ยอม นี่คือจุดยืน เหมือนทำให้ผมคิดว่า พรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล เกิดมาเพื่อแก้ตรงนี้เหรอ ไม่ใช่ครับ 200-300 นโยบายที่ออกมา การแก้ไข มาตรา 112 ชาวบ้านไม่รู้หรอกจะแก้อะไร แต่ถูกใจท่านนโยบายอื่นๆ เป็นความหวังของคนไทยว่าพรรคก้าวไกล คนรุ่นใหม่ มาพัฒนาประเทศ ถ้าท่านชี้คำเดียว ไม่แก้ 112 พรรคภูมิใจไทยจะโหวตให้ท่าน แล้วเราไม่เป็นรัฐบาล”
นายชาดา กล่าวว่า หากพรรคก้าวไกล ยืนยันจะแก้ไขมาตรา 112 ตนและพรรคภูมิใจไทย ถือว่าเป็นพันธกิจของที่จะคัดค้านทุกทาง ตราบใดที่ยังมีชีวิต
“ตาผมมา มีโสร่งผืนเดียว ได้อยู่อุทัยธานี มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารได้อยู่ดีกินดีกว่าคนไทยหลายล้านคน ถ้าผมไม่สำนึกความเป็นคน ก็ไม่สมควรเป็นคน บ้านเรามีเจ้าของ เรามาอาศัยเขาอยู่ ตั้งแต่สงครามสมัยพม่า ให้เขาอยู่ แล้วลูกหลานมาไล่เขา สำหรับผมถ้าไม่มีบารมีพระมหากษัตริย์ ท่านไม่ได้เลือกตั้งหรอก ประเทศนี้ ถ้าไม่มีในหลวง ไม่มีสถาบัน ลุงตู่ ลุงป้อม ไม่กลับบ้านง่ายๆ มีแต่จะลาก M16 ออกมาเล่นกับพวกคุณ”
นายชาดา กล่าวด้วยว่า ตนเองพูดด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่ที่บ้านตนเองที่ 100 กว่าไร่ รับรถทัวร์ได้เยอะมาก พร้อมย้ำ พรรคก้าวไกลมีส่วนนำปมความขัดแย้งในบ้านเมือง ใครก็รักพ่อรักแม่ตัวเอง ถ้าปล่อยให้มีการแก้กฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ยิงกันระเบิด ประเทศไทยจะยิงกันฉิบหาย ถ้าอย่างนั้นขอเสนอออกกฎหมายใหม่ ยิงคนที่หมิ่นสถาบันแล้วไม่ติดคุก อย่าให้คิดเลยว่าก้าวไกลอนาคตใหม่ เกิดมาเพื่อล้มล้างหรือไม่ ทำไมท่านไม่ยอมสักนิด ถอยสักหน่อย แต่ท่านยืนเด่น จะแก้เรื่องนี้ ไม่ใช่บุคลิกของผู้บริหารประเทศ ท่านบริหารประเทศก่อน ผลประโยชน์ของรัฐบาล ไม่ใช่ผลประโยชน์ของประเทศ รัฐบาลเอาประโยชน์ให้ ครม.อยู่ไปแต่ประเทศชาติฉิบหายอย่างไร ไม่สน
ด้าน นายวันมูหะมัดนอร์ ได้ขอให้ นายชาดา ถอนคำพูด นายชาดา จึงถอนคำว่าฉิบหาย
ในขณะที่ นายชาดา อภิปรายอย่างดุเดือด นายพิธา และ ส.ส.พรรคก้าวไกล ต่างตั้งใจฟัง และมีสีหน้าตกใจเมื่อนายชาดา กล่าวถึงการเสนอกฎหมายให้ยิงคนที่หมิ่นสถาบันโดยไม่ติดคุก แต่ไม่มีการประท้วง
นายประพันธุ์ คูณมี ส.ว. อภิปรายต่อที่ประชุมรัฐสภา เพื่อคัดค้านชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ โดยระบุว่า นายพิธา เป็นบุคคลที่มีคุณสมบติและลักษณะต้องห้าม ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และ มาตรา 160 ประกอบกับมาตรา 98(3) การเสนอชื่อดังกล่าวถือว่าขัดกับข้อบังคับข้อ 136
นายประพันธุ์ กล่าวด้วยว่า กรณีของ นายพิธา ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยประเด็นสมาชิกภาพของนายพิธา ได้สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ลงรับในทางธุรการ และเตรียมเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาสัปดาห์ เป็นข้อเท็จจริงที่ปราศจากข้อสังสัยว่า นายพิธา มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
“การพิจารณาของสภา มีหน้าที่พิจารณาว่าหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอชื่อนายพิธานั้น เป็นการเสนอชื่อบุคคลที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับหรือไม่และมีปัญหาคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ แม้มีคนแย้งว่าคำชี้ขาดของศาลไม่เป็นที่สุดจะพิจารณาแบบนั้นไม่ได้ แต่ผมมองว่า ปัญหานี้ไม่จำเป็นต้องรอคำวินิจฉัย เพราะปัญหาคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. เป็นคุณสมมบัติเดียวกันกับคนที่เป็นนายกฯ เป็นเรื่องที่วิญญูชน บุคคลทั่วไปวินิจฉัยได้ ไม่จำเป็นต้องถามศาล เพราะมีวิจารณญาณพิจารณาได้เองซึ่งท่านสามารถรู้ได้เองเหมือนกับว่าท่านจบ ม.6 หรือไม่” นายประพันธุ์ กล่าว
นายประพันธุ์ กล่าวด้วยว่า รัฐสภาไม่อาจรับชื่อของนายพิธาไว้พิจารณาลงคะแนนเสียงได้ เพราะคุณสมบัติขัดต่อกฎหมายและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธารมนูญ หากรัฐภาลงมติพิจารณา ย่อมขัดกับรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เพราะคนที่พิจารณาย่อมถือว่ารู้อยู่แล้วว่าและจงใจทำผิดและฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับของการประชุมรัฐสภา หากดึงดันอาจจะถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231(1) จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ส่วนกรณีที่ ส.ว.จะลงมติอาจจะมีปัญหาต่อการทำผิดประมวลจริยธรรมเช่นเดียว
ต่อมา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภา ตามประเด็นที่ถูกพาดพิงในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า ประเด็นดังกล่าวไม่อยู่ใน MOU ของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล เพราะการแก้ไขกฎหมายอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะพิจารณา ทั้งนี้ การยื่นร่างกฎหมายแล้วจะไม่มีการผูกขาดชุดความผิด ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชน ที่มีความคิดเห็นแตกต่าง พูดกันแบบวุฒิภาวะไม่หยาบคาย ใช้เหตุผล คือ ทางออกของประเทศในชุดความคิดที่ขัดแย้งที่เกิดขึ้น
“ผมไม่เห็นด้วยที่บอกว่า ใครหมิ่นสถาบันให้เอาปืนไปยิงเลย ซึ่งเท่ากับไม่รู้ถึงวัฒนธรรมรับผิดรับชอบ ทั้งนี้ ในประเด็นของกฎไอซีซี ที่มีหลักการว่า อาชญากรรรมทางสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ขณะนี้มีประเทศที่ปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวม 27 ประเทศ ซึ่งมีบางประเทศลงนามรรับรองแล้ว ทั้งนี้ องค์พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ใช้อำนาจผ่าน ครม.” นายพิธา ชี้แจง
นายพิธา ชี้แจงด้วยว่า ตนยืนยันกับสมาชิกรัฐสภา 750 คน ว่า ตนมีคุณสมบัติที่สมบูรณ์แบบ และมีความชอบธรรม แม้กระบวนการที่กล่าวหาตน ทั้งที่ตนไม่รู้ว่าข้อกล่าวหานั้นคืออะไร เห็นแค่มติผ่านสื่อมวลชน ดังนั้น ตามสมมติฐานของทนายหรือนักกฎหมายต้องสมมติฐานว่าบริสุทธิ์ไว้ก่อน อย่าให้มีศาลเตี้ยในรัฐสภา
“ในปี 2562 ที่มีประเด็นเดียวกัน ขั้นตอนการเลือกนายกฯ ยังไม่กระทบหากจำไม่ผิด มีคนบอกว่าจะเลือกรัฐบาลเสียงข้างมากแบบไม่แตกแถว ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น ไม่ต้องกังวล ผมยืนยันว่า มีความรัดกุมเกี่ยวกับคุณสมบัติ ทุกครั้งที่เป็น ส.ส. ตั้งแต่ครั้งแรก และต่อไป ผมยอมรับการตรวจสอบ ยังดีกว่าบางคนที่ไม่อยู่ในกระบวนการตรวจสอบ ทั้ง ป.ป.ช. และ กกต.” นายพิธาชี้แจง
นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายย้ำว่า ต้องลงมติให้นายพิธาเป็นนายกฯ คนต่อไปแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เพื่อให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยปกติของรัฐสภา เพราะได้เสียงข้างมากในสภา 312 เสียง ทั้งนี้ การอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาต่อความกังวลใจที่ถูกอภิปรายเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือไม่ หรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นสถาบันหลักของชาติ เจตนาที่แท้จริงของการแก้ไขปรับปรุงมาตรา 112 เป็นอย่างไร ตนไม่ขอลงรายละเอียด แต่ประเด็นสำคัญ คือ ข้อเสนอของพรรคก้าวไกล อยู่บนฐานความคิด สถาบันหลักของชาติ หรือสถาบันการเมืองใดๆ ดำรงอยู่ได้ ด้วยความยินยอมของประชาชน ไม่มีสถาบันใดดำรงอยู่ได้ด้วยการกดขี่ ปราบ บังคับ ทั้งนี้ ต้องการเตือนสติทุกฝ่าย ทั้งสมาชิกรัฐสภา และทุกฝ่าย ขอให้ตั้งสติ และมองการณ์ไกลในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้สถาบันดำรงอยู่ได้ภายใต้ความเปลี่ยนแปลง
“การลงมติให้นายพิธาจากพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ เป็นการล้มล้างสถาบัน ไม่รักชาติ เป็นตัวอย่างที่พวกผมพยายามบอกว่า ไม่ควรเกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตย เพราะสถาบันในระบอบประชาธิปไตย ต้องอยู่เหนือการเมืองและความขัดแย้งทางการเมือง อันตรายมาก หากต่างฝ่ายต่างดึงเรื่องนี้ เข้ามาพัวพันความขัดแย้งทางการเมืองไม่สมควร ที่จะดึงสถาบันเข้ามาปะทะกับผลการเลือกตั้ง ซึ่งใครจะรับผิดชอบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น” นายชัยธวัช กล่าว
นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า ขอให้รัฐสภาลงมติคืนความปกติให้รัฐสภาไทย และแสดงความเคารพต่อประชาชน รวมถึงให้โอกาสครั้งใหม่ให้กับสังคมไทย เป็นจุดเริ่มต้นของการแสวงหาคำตอบของยุคสมัยร่วมกันให้ได้ ขอให้ปะชาชนซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์ในระบอบประชาธปไตย คุ้มครองสมาชิกรัฐสภา ให้ตัดสินใจตามมโนธรรมสำนึกและยึดตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566.