xs
xsm
sm
md
lg

พิธาที่เป็นได้แค่ว่าที่นายกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



คำถามยอดฮิตในวันนี้ที่เจอหน้าใครก็จะถามว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีไหม คำตอบของผมคือ ไม่ได้เป็นเพราะ ส.ว.ส่วนใหญ่จะไม่ยกมือให้ตราบที่พรรคก้าวไกลยังยืนยันว่าจะแก้มาตรา 112

แม้ว่าพวกที่เชียร์พรรคก้าวไกลอย่างสุดลิ่มอย่างไพศาล พืชมงคล และพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จะฝันหวานว่าพิธาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แน่ๆ ไพศาลนั้นถึงกับฝันหวานเมื่อเห็น ส.ส.งดออกเสียง 77 เสียงในการเลือกรองประธานสภาฯ ก็ถึงกับบอกว่า 77 เสียงนี้จะยกมือให้พิธาโดยไม่ต้องพึ่ง ส.ว. ทั้งที่ความจริงเสียงที่งดออกเป็น ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทยที่ยืนยันชัดเจนว่าจะไม่ยกมือให้กับพรรคที่จะแก้ไขมาตรา 112

คำถามต่อมาก็คือ แล้วจะวุ่นวายลงถนนไหม ผมก็บอกว่า การแสดงออกของพิธาให้คนเข้าใจว่า เขาเป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว การไปแสดงตัวตามสถานที่ต่างๆ ให้เขาแห่แหนนั้นก็เหมือนการปลุกระดมนั่นแหละว่า หากเขาพลาดจากตำแหน่งแล้วก็จะปลุกให้คนลุกฮือลงถนน ถามต่อว่าแล้วจะวุ่นวายไหมผมก็คิดว่า ก็ลองดูม็อบทะลุต่างๆ รูปการก็น่าจะเป็นแบบนั้น

การแสดงออกอย่างก้าวร้าวรุนแรงไร้วุฒิภาวะของม็อบที่เราได้เห็นมาแล้วนั้น ไม่อาจจะเรียกร้องการสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ได้ แม้แต่คนที่เลือกพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นคนชั้นกลางส่วนมากและเคยมีบทบาทสำคัญในการชุมนุมทางการเมืองเสมอมาก็ยากจะยอมรับม็อบแบบนี้ได้ และความเบื่อหน่ายที่ติดหล่มกับความขัดแย้งมายาวนานก็ไม่มีใครอยากจะกลับไปสู่ความวุ่นวายบนท้องถนนอีก

จริงๆ แล้วพิธาก็รู้อยู่แต่ต้นแล้วว่า กติกาของการจัดตั้งรัฐบาลนั้นจะต้องได้เสียงจากรัฐสภา 376 เสียง ดังนั้นถึงตอนนี้แม้จะใช้เครือข่ายต่างๆ ต่อสายถึงบรรดา ส.ว.แต่ถึงตอนนี้ ส.ว.ส่วนใหญ่ก็ยังยึดมั่นเพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายแก้มาตรา 112 เพราะเขาเห็นแล้วว่า เป้าหมายที่จะแก้มาตรา 112 ให้เหลือโทษน้อยกว่าคนธรรมดาในกฎหมายปัจจุบันนั้นเป็นการลิดรอนพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์

และรู้ว่านี่เป็นบันไดขั้นแรกไปสู่เป้าหมายที่เขาต้องการลดทอนบทบาทและสถานะของพระมหากษัตริย์ โดยมีเป้าหมายซ่อนเร้นที่ไปไกลกว่านั้นถ้าเราเห็นมวลชนของพวกเขาแสดงออกต่อพระมหากษัตริย์ต่างๆ นานา

ถึงวันนี้พิธาก็ยังยืนยันว่าพรรคก้าวไกลจะต้องเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ให้ได้

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเคยวินิจฉัยว่า “มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาซึ่งกำหนดลักษณะความผิดเป็นพิเศษเพื่อคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการกระทำความผิดดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐเพราะพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตย มาตราดังกล่าวจึงเป็นบทบัญญัติเพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 45 วรรคสอง (มาตรา 34 ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ อันเป็นเงื่อนไขแห่งการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น…”

ก็รอดูว่าเมื่อพรรคก้าวไกลได้ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรไป พรรคจะเสนอแก้ไขมาตรา 112 เข้าพิจารณาในสภาฯ ที่ในสมัยสภาฯ ที่แล้วเคยวินิจฉัยว่าไม่สามารถบรรจุเข้าสู่การพิจารณาได้เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

เขากล่าวกันว่า วันที่พรรคก้าวไกลยื่นแก้ไขมาตรา 112 นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อาจจะลาป่วยแล้วให้รองประธานสภาฯ คนที่ 1 คือ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สัตวแพทย์ผลักดันกฎหมายเข้าสู่สภาฯ ก็ได้ แต่อย่างไรเสียการแก้ไขก็ไม่มีทางผ่านสภาฯ เพราะถึงตอนนี้พรรคเพื่อไทยก็ยังยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยการแก้ไขมาตรา 112

พรรคก้าวไกลก็รู้แหละว่า ยากที่จะสามารถแก้ไขมาตรา 112 ได้แต่ต้องยังยืนยันที่จะแก้ไขก็เพื่อเอาใจมวลชนของตัวเองจำนวนมากที่ถูกดันหลังออกมาประท้วงและถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จำนวนมาก

และพิธาเองก็รู้ว่า การยืนยันจะแก้ไขมาตรา 112 ให้ได้นั่นแหละที่เป็นอุปสรรคจะทำให้เขาไม่ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แต่พิธาไม่มีทางเลือกอื่น เพราะเชื่อเอาว่า เสียงส่วนใหญ่ที่เลือกพรรคก้าวไกลต้องการให้พรรคดำเนินการเช่นนั้น ทั้งๆ ที่จริงแล้ว คนส่วนใหญ่ที่เลือกพรรคการเมืองนี้อาจจะมาจากต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาล 3 ป.เท่านั้นเอง

ถามว่า พิธารู้ไหมว่าเขาจะไม่ได้เป็น ก็เชื่อว่าเขาน่าจะรู้แล้วประเมินสถานการณ์ออก แต่เขาก็คงคาดหวังว่า ถ้าเขาไม่ได้เป็นมวลชนของเขาอาจจะลุกฮือลงถนนนั่นเอง

และสิ่งที่พรรคก้าวไกลอาจจะคิดเอาไว้ตอนนี้ก็คือว่า หากพวกเขาพลาดหวังจากการเป็นรัฐบาลเที่ยวนี้ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคของพวกเขาจะได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากกว่านี้พวกเขาสามารถรอไปถึงวันนั้นได้

แต่ผมกลับเห็นว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้นั้นเป็นผลพวงมาจากอารมณ์เบื่อรัฐบาล 3 ป.ของคนไทย แต่การเลือกตั้งครั้งหน้านั้นไม่มีปัจจัยนี้เหลืออยู่แล้ว การแข่งขันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจะเข้มข้นขึ้น และหากรัฐบาลใหม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างราบรื่นคนส่วนใหญ่ก็คงไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายเกิดขึ้น เมื่อรู้แล้วว่าหากพรรคก้าวไกลขึ้นมาบริหารประเทศแล้วจะเกิดความวุ่นวายตามมา

เราเห็นแล้วว่า หลังชัยชนะของพรรคก้าวไกลนั้นสิ่งที่ตามมาก็คือความฮึกเหิมที่ท้าทายต่อรูปแบบและเอกราชของชาติ เช่นความพยายามจะปลุกความขัดแย้งเรื่องชาติพันธุ์ของคนในชาติ การลุกขึ้นมาเรียกร้องการแบ่งแยกดินแดนของมวลชนของพรรคก้าวไกลใน 3 จังหวัดใต้เพื่อจะทำประชามติแยกดินแดน การเกิดขึ้นของขบวนการก่อการล้านนาใหม่ หรือการเรียกร้องให้เปลี่ยนวันชาติจากวันเกิดของกษัตริย์เป็นวันยึดอำนาจกษัตริย์

หรือนโยบายเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากนโยบายของพรรคที่เปิดตัวออกมาโดยมุ่งสู่การเป็นรัฐสวัสดิการไปทางสังคมนิยมนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นนโยบายที่ยากจะทำได้จริง ยกเว้นว่ารัฐจะรีดภาษีอย่างหนักเพื่อหาเงินมาบริหารจัดการหากไม่แล้วนโยบายของพรรคก้าวไกลไม่มีวันจะเกิดขึ้นได้จริง รวมไปถึงความเห็นของคนที่พรรคก้าวไกลวางไว้ให้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็เกิดคำถามถึงความรู้ความสามารถหลังได้ยินว่าที่รัฐมนตรีแสดงความเห็นออกมา

ตอนนี้แม้แต่ตัวของพิธาเองก็ถูกขุดคุ้ยอย่างมากเรื่องจริยธรรมในการบริหารบริษัทในครอบครัวที่มีการไซฟ่อนเงินไปทั้งหมด 117 ล้านบาท การลงนามค้ำเงินกู้ธนาคารหลายแห่งจำนวน 460 ล้านบาท แต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ขัดแย้งกับที่เคยบอกว่า พิธาสามารถบริหารบริษัทที่ย่ำแย่กลับมามีกำไรได้อย่างที่เคยเป็นข่าวออกมา

สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามว่า แท้จริงแล้วพิธามีความสามารถที่จะนำพาประเทศได้จริงหรือ คุ้มหรือไม่ที่จะปล่อยให้ประเทศอยู่ในมือของกลุ่มคนที่ล้วนแล้วแต่ไม่เคยมีประวัติการทำงานที่แจ่มชัดมาก่อน แม้ว่าพวกเขามาจากเสียงที่ประชาชนเลือกมาก็ตาม

ถึงตรงนี้ก็คงจะยังยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 คงจะไม่ใช่ชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์อย่างแน่นอน

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น