“พริษฐ์” แจง ก้าวไกลไม่คิดล้มล้างสถาบัน แต่วางขอบเขตการบังคับให้ชัดเจน กันถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง อ้างเป็นโอกาสดีในการคืนความปกติให้ประเทศ
วันนี้ (13 ก.ค.) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ขออนุญาตใช้สิทธิชี้แจง จากการถูกพาดพิงใน 2 ประเด็น คือ ข้อกล่าวหาจาก ส.ว. ว่า นโยบายของพรรคก้าวไกลบางส่วน มีจุดมุ่งหมายในการล้มล้างการปกครอง และการพาดพิงว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบรัฐสภา แต่เป็นการปกครองด้วยระบอบประธานาธิบดี
นายพริษฐ์ ชี้แจงว่า พรรคก้าวไกลได้มีการบรรจุนโยบายในการแก้ไขมาตรา 112 เป็นหนึ่งใน 300 นโยบาย โดยขอย้อนกลับไปดูมาตรา 112 มีการระบุโทษเรื่องการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ มีเจตนาในการเสนอให้มีการแก้ไข เป็นเจตนาและเป้าหมายที่ไม่ต่างจากเจตนาของหลายท่านในรัฐสภา เพื่อพัฒนา และรักษาความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน ภายใต้บริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และภายใต้หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเสนอแก้ไข เพราะว่า
1. ขอบเขตในการบังคับใช้ ซึ่งมีหลายกรณีที่ถูกตัดสินว่ามีการกระทำความผิด ที่ดูแล้วจากสามัญสำนึกทก็ไม่น่าจะเข้าข่าย ดังนั้น หากต้องการแก้ไขปัญหานี้ เราจึงเสนอว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อเขียนขอบเขตในการบังคับใช้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
2. อัตราโทษในการทำความผิด ซึ่งมีการกำหนดโทษที่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับโทษเรื่องอื่น โดยเป็นโทษที่ไม่ได้สัดส่วนเมื่อมีนำมาเปรียบเทียบกัน
3. การจำกัดสิทธิในการร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้กฎหมายนี้ ถูกนำไปใช้กันแกล้งโดยไม่ส่งผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
“ขอยืนยันว่า การเสนอแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้มีเจตนาในการล้มล้างการปกครอง และเป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับหลักสากลในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
นายพริษฐ์ ชี้แจงอีกว่า พรรคก้าวไกล เข้าใจว่า ในระบบรัฐสภาแบบปกติเป็นอย่างไร ซึ่งคำถามที่สำคัญมากที่สุดในวันนี้ ไม่ใช่ว่าพวกเรา 750 คน มีความเห็นอย่างไรกับคุณสมบัติของนายพิธา ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือมีความคิดเห็นอย่างไรกับนโยบายของพรรค แต่ที่สำคัญที่สุดคือเราทุกคนผมเคารพเสียงของประชาชน
“การเลือกตั้งที่ผ่านมา ได้ทำหน้าที่ในการแปลงเสียงของประชาชนที่มีความหลากหลายเป็น ส.ส. ที่เป็นตัวแทนทางความคิดที่แตกต่างหลากหลายในสังคม แต่ประเทศเราไม่ได้อยู่ในสภาวะการเมืองที่เป็นปกติตั้งแต่ตั้น ส่วนนึงมาจากมาตรา 272 ที่ให้ ส.ว. มาร่วมร่วมเลือกนายกฯ เพื่อเปิดช่องให้สามารถแทรกแซงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล ที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย โจทย์ที่สำคัญคือการจำกัดความไม่ปกติที่สืบทอดมาจากอดีตเพื่อคืนความปกติให้ประเทศไทยเดินไปสู่อนาคตได้อย่างไร”
นายพริษฐ์ ระบุว่า ตอนนี้เป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้แสดงให้สังคมเห็นว่า ความเห็นที่หลากหลาย คืนความปกติให้กับสังคมไทย คืนความปกติให้กับประชาชน ซึ่งทางออกของ ส.ว. ไม่ใช่การงดออกเสียง หรือไม่อยู่ในที่ประชุม หากต้องมีการแสดงความเป็นกลางจริง ต้องเห็นชอบกับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเป็นการขานชื่อ เพื่อคืนความเห็นชอบ คืนความปกติให้สังคมไทย ให้ประชาธิปไตยได้เดินหน้าต่อ และเคารพเสียงของประชาชน ผ่านผลการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข