xs
xsm
sm
md
lg

Live : เกาะติดประชุมรัฐสภาเลือกนายกฯ ลุ้น “พิธา” เฮหรือแห้ว!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ติดตามการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เริ่มเวลา 09.30 น. มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภา เป็นประธานที่ประชุม ระเบียบวาระการประชุมที่สำคัญคือการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย



ทั้งนี้ นายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีสมาชิกผู้รับรอง 298 คน โดยไม่มีการเสนอชื่อผู้อื่นเพิ่มเติม หลังจากนั้นประธานในที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายเกี่ยวกับคุณสมบัติและความเหมาะสมของผู้ถูกเสนอชื่อ ก่อนที่จะลงมติในเวลาประมาณ 16.00 น. โดยผู้ที่อภิปรายคนแรกคือนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.จังหวัดอุทัยธานี เขต 2 พรรคภูมิใจไทย ซึ่งได้อภิปรายไม่เห็นด้วยกับนโยบายการแก้ไขมาตรา 112 ของนายพิธาและพรรคก้าวไกล

ต่อมา นายประพันธุ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายในประเด็นคุณสมบัติของนายพิธา ซึ่งน่าจะมีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ทั้งมาตรา 160, มาตรา 98(3) กรณีเป็นผู้ถือหุ้นการสื่อสารมวลชน การเสนอชื่อนายพิธาจึงขัดต่อข้อบังคับข้อที่ 136 และเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา กกต.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธาสิ้นสุดลงหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่านายพิธามีคุณสมบัติต้องห้าม

หลังจากนั้น นายพิธาได้ใช้สิทธิพาดพิงลุกขึ้นอภิปรายยืนยันว่าตนมีคุณสมบัติถูกต้องเนื่องจากศาลยังไม่ได้ตัดสินตามข้อกล่าวหา ตามด้วยนายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.และเลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายยืนยันว่าการแก้ไข ม.112 ไม่ได้เป็นการล้มล้างสถาบันหรือเป็นการทำลายชาติ แต่เป็นการทำให้สถาบันอยู่นอกการเมือง ไม่มีการนำสถาบันมาชนกับประชาชน และย้ำว่าสมาชิกควรจะเลือกนายพิธาเป็นนายกฯ เพื่อคืนความปกติให้การเมืองไทย

ต่อมานายศาสตรา ศรีปาน ส.ส.สงขลา พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายยืนยันว่า การเสนอแก้ไขมาตรา 112 ไม่มีความจำเป็น เพราะประชาชนทั่วไปไม่มีใครเดือดร้อนจากการมีมาตรา 112 และหากไม่แก้มาตรา 112 ประเทศชาติยังสามารถเดินหน้าไปได้เป็นอย่างดี ไม่มีความจำเป็นที่จะมาทำลายสิ่งที่บรรพบุรุษได้สร้างมา เพราะฉะนั้นนายพิธาซึ่งประกาศจะแก้ไขมาตรา 112 จึงไม่ควรที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายสนับสนุนให้นายพิธาเป็นนายกฯ พร้อมยืนยันว่าพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยเปรียบเหมือนข้าวต้มมัดถูกเส้นตอกคือเสียงของประชาชนมัดเข้าด้วยกัน จึงพร้อมสนับสนุนนายพิธาด้วยความจริงใจ

หลังจากนั้น นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ เนื่องจากยังมีความแคลงใจในเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากร่าง พ.ร.บ.ที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอไว้นั้น เป็นการลดการคุ้มครององค์พระประมุขจากการคุ้มครองเด็ดขาดเป็นการคุ้มครองอย่างมีเงื่อนไข มีการย้ายหมวดจากความผิดต่อความมั่นคงของรัฐมาเป็นความผิดต่อบุคคล เอาหลักหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดามาใช้กับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 16.00 น.ที่ผ่านมา ได้เริ่มมีการลงมติว่าจะเห็นชอบให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ โดยวิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผยด้วยการขานชื่อสมาชิกตามลำดับตัวอักษร


กำลังโหลดความคิดเห็น