xs
xsm
sm
md
lg

"พิธา-แอฟ" จิ้นกันทุกครั้งเมื่อ "ทิม" ต้องการหาเสียงเพิ่มเรตติ้ง **ส.ว.เกือบ 90% ไม่หนุนพิธา เพราะนอกจากปัญหา ม. 112 แล้วยังเสี่ยงขัดรธน. เจอโทษอาญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว

**"พิธา-แอฟ" จิ้นกันทุกครั้งเมื่อ "ทิม" ต้องการหาเสียงเพิ่มเรตติ้ง

ระหว่าง "ทิม" พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 กับ "แอฟ" ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ นางเอกสาวชื่อดัง มีความสัมพันธ์กันอย่างไรกลับมาเป็นไวรัลให้ชาวเน็ตสีส้มกรี๊ดกร๊าด กระตู้วู้ คอแหบคอแห้ง

ประโยคที่ว่า "แอฟว่ายังไง ผมก็ว่ายังงั้น " ของ "พิธา" ที่ไปออกรายการโหนกระแสของ "หนุ่มกรรชัย" ถูกสายมโนโซเชียล จับเอาไปแปลความว่า เป็นความจิ้น ฟินได้อีกของคนทั้งคู่

ตามมาด้วยการเปิดเบื้องหลังของการออกรายการดังของ “ทิม-พิธา” ทั้งๆที่ยุ่งการเมือง เพราะ “แอฟ-ทักษอร” จัดให้ ยิ่งทำให้สายมโนโห่ร้องดีใจถึงความก้าวหน้าความสัมพันธ์ระหว่าง แดดดี้ส้ม กับ นางเอกสาว ว่ายังไงเสีย คู่กันแล้วคงไม่แคล้วกัน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทั้งสองมีข่าวเป็นคู่จิ้น คราวที่แล้วกระแสลุ้นรักครั้งใหม่ของทั้งคู่ เกิดขึ้นระหว่างช่วงที่ “พิธา” เพิ่งชนะการเลือกตั้ง กำลังลุ้นจับขั้วจัดตั้งรัฐบาล ก็เป็นไวรัลให้พูดถึงกระหึ่มในโลกโซเชียลฯ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
เรียกว่า บรรดาชาวเน็ตสีส้มตอบรับกับ content คู่จิ้นเกินคาด จนเชียร์ให้ “แอฟ-ทักษอร” กับ “ว่าที่นายกฯ” ตกลงปลงใจกันเถอะ เพราะเหมาะสมราวกิ่งทองใบหยก

คล้ายๆ กับคราวนี้ ความเป็นจริงจะเป็นอย่างไรนั้นด้อมส้ม โนสน โนแคร์ ขอแค่ได้กรี๊ดๆ มันออกมา ขณะที่ “พิธา” ก็ตามน้ำ อยากกรี๊ดก็จะเล่นให้ ส่วนนางเอกสาวเจอ “หนุ่ม กรรชัย” ซัก "โสด 100% ใช่ไหมตอนนี้" ก็ตอบว่า "100 บ้างไม่ร้อยบ้าง"

เอาเป็นว่า ระหว่าง “พิธา” กับ “แอฟ ทักษอร” ถ้าจะปั้น content เป็นคู่จิ้นงานนี้ก็ปั้นกันได้ยาวๆ ปั่นกระแส เรียกเรตติ้งได้ทุกครั้งที่ต้องการ

น่าสังเกตว่า กระแสคู่จิ้นมักจะมาในเวลาที่ฝ่าย “ทิม-พิธา” ต้องการหาเสียงเพิ่มเรตติ้งทุกที และก็ได้ผลเสียด้วย

“แอฟ” ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ
ตอนนี้ “พิธา” กำลังลุ้นหนักจะฝ่าด่านส.ว.ขึ้นไปเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ ความหวังริบๆ หรี่ๆ อะไรที่ทำให้ได้เสียง ได้เรตติ้ง ก็ทำกันไป โปรแกรมเจอมวลชนด้อมส้มที่นั่น ที่นี่ มีทุกวัน พร้อมไปกับ “แอฟ ทักษอร” ออกมาช่วยครั้งนี้ ก็ไม่รู้ว่า กระแสลุ้นรักจะช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นไหม นี่ก็ต้องติดตามอย่ากระพริบตา !

**ส.ว.เกือบ 90% ไม่หนุนพิธา เพราะนอกจากปัญหา ม. 112 แล้วยังเสี่ยงขัดรธน. เจอโทษอาญา

คอการเมืองลุ้นกันระทึก เมื่อที่ประชุม กกต. วานนี้ (10ก.ค.) ได้พิจารณา กรณี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ถือครองหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ตามรธน.มาตรา 98(3) และเป็นเหตุให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลง ตามรธน. มาตรา 101(6) หรือไม่ เพื่อส่งให้ศาลรธน.วินิจฉัยตามรธน. มาตรา 82 ต่อไป

หลังการพิจารณาตลอดช่วงบ่าย “อิทธิพร บุญประคอง” ประธาน กกต. ก็ออกมาให้ข่าวว่า ยังไม่ได้ลงมติในเรื่องนี้ และจะมีการนัดประชุมต่อในวันที่ 11ก.ค. และอาจมีวันที่ 13 ก.ค.ด้วย

อิทธิพร บุญประคอง
ที่ลุ้นกันก็เพราะตามไทม์ไลน์ ที่ประชุมรัฐสภา จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีกันในวันที่ 13 ก.ค.นี้ ถ้า กกต.พิจารณาแล้วสรุปว่า “พิธา” เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามในการสมัคร ส.ส.ก็จะต้องส่งให้ศาลรธน. พิจารณาวินิจฉัย ซึ่งปกติศาล รธน.จะประชุมกันในวันพุธ ซึ่งตรงกับวันที่ 12 ก.ค. กรณีเรื่องเร่งด่วน สำคัญเช่นนี้ เมื่อกกต.ส่งเรื่องไป ก็อาจจะเข้าสู่การพิจารณาว่าจะรับไว้วินิจฉัย หรือไม่ ถ้ารับแล้วจะมีคำสั่งให้ “พิธา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ก่อนจนกว่าจะมีคำตัดสินหรือไม่

ถ้าศาลฯ สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน ก็จะกระทบกับการโหวตนายกฯในวันที่ 13 ก.ค. อย่างแน่นอน ซึ่งบรรดาส.ว.หลายคนอยากให้มีความชัดเจนในเรื่องนี้ก่อนโหวต

อย่างเช่น “ส.ว.เสรี สุวรรณภานนท์” บอกว่า ตามรธน. กำหนดให้นายกฯต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม โดยกำหนดอยู่ใน รธน.มาตรา 272 ที่ให้ ส.ส.และ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ ส่วนมาตรา 159 ส.ส.และส.ว. ต้องเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้าม คือห้ามถือหุ้นสื่อ ดังนั้น ส.ส.และส.ว.ต้องทำตามบทบัญญัติใน มาตรา 159 ให้ชัดเจน

เสรี สุวรรณภานนท์
หากไปเลือกคนมีมีคุณสมบัติขัดรธน. คนขาดคุณสมบัติ เกรงว่าจะเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง เพราะขัดมาตรา 159 โดยเฉพาะ 8 พรรคร่วมที่โหวตหนุน ระวังจะถูกตีความไปไกลถึงขั้นยุบพรรคได้ ส่วนตนเองนั้น ไม่โหวตหนุนอยู่แล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น “ส.ว.เสรี” ยังเห็นว่า ตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อ 41 ที่ระบุว่า ญัตติใดที่เสนอที่ประชุมรัฐสภา หากไม่ได้รับความเห็นชอบ ถือ ว่าตกไป และห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักกการเดียวกันขึ้นเสนออีก ในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ดังนั้น จึงมองว่าในรอบแรก ถ้า“พิธา” ไม่ได้รับเลือกจากรัฐสภา ก็จะไม่สามารถเสนอชื่ออีกในการโหวตครั้งที่ 2 และหากมีคนเสนอชื่อ “พิธา” กลับมาอีกในวันที่ 19 ก.ค. ก็จะมี ส.ว.ลุกขึ้นคัดค้านแน่นอน และหากประธานรัฐสภา ยังยืนยันให้เสนอชื่อ “พิธา” ได้ ก็ต้องรับผิดชอบด้วยแล้วกัน

เช่นเดียวกับ “ส.ว.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม” ที่ก่อนหน้านี้เคยบอกจะโหวตให้เสียงข้างมาก คือหนุน”พิธา” นั่นแหละ แต่เมื่อมาเจอปัญหาเช่นนี้ คงต้องกลับลำ

ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม
...ถ้าตรงนี้ยังไม่ชัดเจน เมื่อเปิดการประชุมรัฐสภา13 ก.ค. ที่มีวาระโหวตเลือกนายกฯ ก็จะมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง จะมีคนยก มาตรา 272 ไปโยงกับมาตรา160 และ มาตรา 98 ซึ่งจะบ่งชี้ว่า เวลานี้ข้อยุติ คืออะไร สำหรับคนที่เลือก ถ้าเลือกไปอาจขัด รธน.หรือไม่ เช่นเดียวกับโครงสร้างของคดีที่บอกว่า ถ้ารู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติ ยังจะไปสมัคร ตรงนี้ก็มีความผิด มีโทษทำนองเดียวกัน ถ้า“พิธา” ไม่มี หรือขาดคุณสมบัติ เรายังไปเลือกก็อาจจะผิดรธน.ได้ รวมถึงมีโทษทางอาญาด้วย ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญที่สมาชิกรัฐสภา จะใช้ประกอบการตัดสินใจ พิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่

จากเดิมที่บรรดา ส.ว.ตั้งใจจะงดออกเสียง หรือโหวตไม่เห็นชอบ หากพรรคก้าวไกล ไม่ลดเพดานเรื่องการแก้ ม.112 เมื่อมีประเด็นที่ส่อว่าจะขัดรธน.เช่นนี้ ล่าสุดมีข่าวว่าจากการซาวเสียง ส.ว. พบว่า เกือบ 90% บอกไม่หนุน “พิธา” มีเพียง 5-10 คนเท่านั้น ที่ยืนยันจะโหวตให้เสียงข้างมาก

เช่น “นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” ส.ว. ที่ไม่สนว่าจะแก้ 112 หรือ ถือหุ้นไอทีวี บอกว่าจะเคารพเสียงประชาชน ไม่มีเหตุผลที่จะไม่เลือก ถ้าไปเอาเหตุผลอื่นมาลบล้างเสียงข้างมาก ก็ไม่เป็นประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง

อำพล จินดาวัฒนะ
การที่แกนนำพรรคก้าวไกลอย่างเช่น ศิริกัญญา ตันสกุล , วิโรจน์ ลักขณาอดิศร รวมทั้ง ชัยธวัช ตุลาธน พยายามออกมาบอกถึงความมั่นใจว่า จะได้เสียงส.ว.มาช่วยหนุน จนเพียงพอที่จะผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำคือ 376 เสียง เพื่อส่งให้ “พิธา” เป็นนายกฯ ก็ไม่น่าจะจริง

เพราะ ถ้าพรรคก้าวไกล มั่นใจว่าได้ ส.ว. สนับสนุนครบ 65 เสียงแล้ว “พิธา” คงไม่ต้องออกเดินสาย “ปลุกม็อบ” ตามจังหวัดต่างๆ และที่กรุงเทพฯ รวมทั้งนัดเครือข่ายไปชุมนุมที่หน้าสภา ในวันที่ 13 ก.ค. เพื่อกดดัน ส.ว.ให้โหวตไปในทิศทางที่ต้องการ โดยอ้างเจตนารมณ์ของประชาชนที่เลือกมา

นอกจากนี้ยังมีพรรคการเมือง ที่อยู่ในกลุ่มพรรคเล็ก ก็ออกมาประกาศแล้วว่า จะงดออกเสียง เช่น “สุรทิน พิจารณ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ ยังมี พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคท้องที่ไทย และ พรรคใหม่ มีทิศทางเดียวกัน คือ งดออกเสียง

ถึงตอนนี้ คงชัดเจนแล้วว่า กกต.คง สรุปเรื่องเพื่อส่งศาลรธน. ไม่ทันภายในวันที่ 13 ก.ค.นี้แล้ว ก็ต้องมาลุ้นกันว่าในสถานการณ์เช่นนี้ “พิธา” จะผ่านด่าน ส.ส.ในรอบแรก ได้เป็นนายกฯไปเลยหรือไม่ มีส.ว.ท่านใดบ้างที่โหวตหนุน โดยไม่สน ม. 112 หรือเรื่องคุณสมบัติต้องห้าม


กำลังโหลดความคิดเห็น