xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“แมวตกตึก” ทาสต้องตื่นตัว จับตาประชากร “เหมียวจรจัด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  อุบัติเหตุซ้ำรอยกรณีแมวอ้วนตกตึก เป็นเรื่องใหญ่ของคนเลี้ยงสัตว์ต้องหันกลับมาทบทวน โดยเฉพาะทาสแมวการเลี้ยงแมวบนตึกสูง การผลัดตกจากที่สูงของแมวไม่เพียงอาจมาซึ่งการบาดเจ็บเสียชีวิต ยังอาจสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินผู้อื่น เคราะห์ร้ายอาจมีคนโดนลูกหลงบาดเจ็บก็เป็นไปได้ 

ที่สังคมมองเป็นเรื่องฟิลกู๊ดได้เพราะทั้ง 2 เหตุการณ์น้องแมวรอดชีวิต ขณะที่มีเพียงรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายเล็กน้อย จากกรณีแรก  “เจ้าชิฟู” แมว อายุ 5 ปี น้ำหนักกว่า 8.5 กิโลกรัม ตกลงมาชั้นห้องพักชั้น 6 ตกใส่รถยนตร์จนแตกยับเป็นรูโบ๋ แต่เจ้าตัวรอดปฏิหาริย์ ผลตรวจเอกซเรย์กระดูกทุกส่วนไม่แตก มีเพียงเล็บหลุดห้อเลือดเล็กน้อย จนถึงกรณี  “เจ้าโมจิ”  แมว อายุ 1 ปี 6 เดือน หนัก 4 กิโลกรัม ผลัดตกจากชั้น 5 ลงใส่รถเพื่อนบ้านทำกระจกรถแตก เจ้าแมวปลอดภัยดี ไม่เจ็บหนัก แค่คางเป็นแผลนิดหน่อย

ในอีกมุมหนึ่งสะท้อนกลับไปยังความรับผิดชอบของผู้เลี้ยง เข้าใจได้ว่าอาจเผลอไปบ้าง แต่การเลี้ยงสัตว์ 4 ขา บนตึกสูงเป็นเรื่องที่ต้องระวังควรมีรั้วรอบขอบชิด

จากรายงานข่าวของสำนักข่าว BBC รายงานข่าวปัญหาแมวพลัดตกจากอาคารสูง ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเขตเมือง ที่ผู้คนส่วนใหญ่พักอาศัยอยู่ตามตึกสูง เรียกปรากฏการณ์ที่แมวตกจากตึกสูงนี้ เรียกว่า  “ไฮไรส์ ซีนโดรม high-rise syndrome”  ซึ่งแมวที่ตกจากอาคารสูง 2 ชั้นขึ้นไป (หรือราว 7 - 9 เมตรขึ้นไป) มักจะได้รับบอบช้ำทั้งทางร่างกายและจิตใจ และพบกรณีแมวในประเทศสิงคโปร์ตกจากตึกสูง ราว 5 รายต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็นประมาณ 250 ตัวต่อปี และครึ่งหนึ่งของแมวที่ตกจากตึกสูงนี้ มักตายในจุดเกิดเหตุ




ทั้งนี้ อาการบาดเจ็บที่มักพบจากการที่แมวตกจากที่สูงนี้ ได้แก่ กระดูกหัก ส่วนใหญ่มักเป็นกระดูกขากรรไกร เพราะคางแมวกระแทกกับพื้นตอนที่ตกลงมา (โดยกรณีที่พบบ่อยที่สุดคือ กระดูกขากรรไกรหักและฟันร้าว) อาการบาดเจ็บที่ขา ภาวะบาดเจ็บที่ข้อต่อ เส้นเอ็นฉีกขาด หรือขาหัก อาการบาดเจ็บภายใน โดยเฉพาะที่ปอด

ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกลายเป็นเรื่องใหญ่ของผู้เลี้ยงแมวให้หันมาตระหนักกับปัญหานี้เพิ่มขึ้น และปรับปรุงห้องพักที่อยู่ตามตึกสูง ให้มีความปลอดภัยสำหรับสัตว์เลี้ยง จนกลายเป็นธุรกิจที่กำลังเฟื่องฟูอย่างมากในสิงคโปร์

 ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ 
อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” แชร์ความรู้เกี่ยวกับกรณีแมวตกจากที่สูง ความว่า อ้างอิงการวิจัยจากนายสัตวแพทย์ Jared Diamond ที่ทำงานในโรงพยาบาลสัตว์ที่ New York ได้ศึกษาค้นคว้าและเก็บข้อมูลเชิงสถิติจากการตกตึกของแมว โดยได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาไว้ในวารสาร Nature เอาไว้อย่างน่าสนใจ ว่าจากการศึกษาแมวกว่า 115 ตัว จากการตกตึกจากชั้นที่ 2 ถึง ชั้นที่ 32 มีแมวจำนวน 11 ตัว เสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บช่วงอกหรือช็อกตาย และแมวที่รอดชีวิต มีอาการบาดเจ็บเล็กน้อยจนถึงบาดเจ็บสาหัส โดยแมวที่ตกจากชั้นที่ 7 ถึง ชั้นที่ 32 ส่วนใหญ่กลับรอดชีวิตทั้งหมด

 ผลสรุปการวิจัยพบว่า แมวเป็นสัตว์ที่มีทักษะการเอาตัวรอดแต่กำเนิด ซึ่งมีชื่อว่า “การกลับตัวกลางอากาศ” แมวสามารถจัดระเบียบร่างกายของตัวเอง ระหว่างที่อยู่กลางอากาศได้ โดยแมวจะชะลอความเร็วระหว่างตก ได้ด้วยการกางแขนขาที่มีขนนุ่มฟูเพื่อต้านแรง ไม่ว่าแมวจะตกจากชั้นไหนก็ตาม ความเร็วปลายจะอยู่ที่ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งไม่มากพอที่จะทำให้น้องแมวเสียชีวิตได้ 


แต่แมวที่ตกจากตึกชั้นที่ต่ำกว่า 7 ชั้นลงมา จะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าแมวที่ตกจากตึกที่สูงกว่า 7 ชั้น เนื่องจากแมวไม่มีเวลามากพอ ที่จะจัดระเบียบร่างกายตัวเองให้ทัน อธิบายเพิ่มการที่แมวตกจากตึกสูงไม่เกิน 7 ชั้นมีโอกาสบาดเจ็บขาหัก หรือบาดเจ็บมากกว่าตกจากที่สูงกว่านั้น เพราะเวลาที่สิ่งต่าง ๆ ตกจากตึก มันจะมีสิ่งที่เรียกว่า ความเร็วปลาย (terminal velocity) ซึ่งก็คือความเร็วที่สุดที่เกิดขึ้นได้เพราะมีแรงต้านอากาศ ทำให้สิ่งที่ตกลงมา ไม่ตกเร็วไปกว่านี้ (100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

และที่ความเร็วปลายนี้ แมวจะรู้สึกเหมือนตัวมันไร้น้ำหนักและผ่อนคลาย (คล้ายกรณีของนักกระโดดร่ม เมื่อตกลงมาถึงที่ความเร็วปลาย) ทำให้สัญชาตญาณของแมว บอกให้มันกางขาทั้งสี่ขาออก (เหมือนนักกระโดดร่มที่กางแขนขา) ส่งผลให้เพิ่มแรงต้านอากาศ ความเร็วขณะที่แมวร่วงจะช้าลง ขณะที่มันก็จะเตรียมตัวลงสู่พื้นแบบกระจายแรงกระแทกไปให้ทั่วร่างกายอันยืดหยุ่นของมัน และเนื่องจากมันมีน้ำหนักตัวค่อนข้างน้อย จึงไม่ทำให้แมวตาย

ขณะที่แมวตกจากตึกเตี้ยๆ ด้วยระยะทางที่สั้นเกินไป มันกลับไม่สามารถเปลี่ยนท่ากลางอากาศได้ทัน ร่างกายจึงกระแทกกับพื้นได้ และทั้งหมดนี้ เป็นสมมุติฐานที่นักวิจัยคาดเอาจากสถิติการบาดเจ็บของแมวตกตึก ไม่ได้มีการทดลองเอาแมวจริง ๆ โยนจากตึก

อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 กรณีแมวอ้วนตกตึก แมวได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ขณะที่ผู้เสียหายเจ้าของรถยนต์ที่แมวตกใส่ไม่ถือสาหาความ ให้เจ้าของแมวรับผิดชอบตามความเหมาะสม แต่นับเป็นบทเรียนสำคัญของคนเลี้ยงแมวโดยเฉพาะบนตึกสูง เพราะสัตว์เลี้ยงในครอบครองเป็นหน้าที่ของผู้เลี้ยงที่ต้องดูแลรับผิดชอบ

แม้แมวเป็นสัตว์หน้าตาน่ารัก แต่บรรดาผู้เลี้ยงแมวต้องทำความเข้าใจว่าแมวเราไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน ที่ผ่านมา มีตัวอย่างกรณีการร้องเรียนสัตว์เลี้ยงสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้เพื่อนบ้านมาแล้วนักต่อนัก ขับถ่ายส่งกลิ่นเหม็น เสียงดังรบกวน ดุร้ายทำร้ายผู้อื่น เป็นต้น โดยมีพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 25 ให้การคุ้มครอง รวมทั้งมีมี พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ 2557 เพื่อให้เกิดการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีมนุษยธรรม

นอกจากนั้นอีกประเด็นที่ต้องกล่าวถึง “สถานการณ์แมวจรจัด” ที่เป็นพาหะแพร่เชื้อโรคมาสู่มนุษย์ เช่น โรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งข้อมูลของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่ามีสุนัขและแมวจรจัดประมาณ 200,000 ตัว โดยปัจจุบัน กทม.กำลังสร้างฐานข้อมูลสุนัขและแมวในพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มเติม เพื่อดำเนินการด้านต่างๆ เช่น ควบคุมจำนวน ฉีดวัคซีน ส่งเสริมการเลี้ยงด้วยความรับผิดชอบ จำกัดพื้นที่ เป็นต้น

ทั้งนี้ แมวถูกเลี้ยงมากขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงโรคโควิด-19 ระบาด เพราะความน่ารักของแมว และสะดวกในเรื่องการเลี้ยงดูแลเรื่องสถานที่ ประเมินจากอาหารแมวซึ่งมีอัตราการเติบโตมากกว่าอาหารสุนัข โดยคาดการณ์ว่าตลาดธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงทั่วโลกในปี 2569 จะมีมูลค่าถึง 6.9 ล้านล้านบาท ส่วนประเทศไทยตลาดมีมูลค่าราว 40,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 10% ทุกปี

เรียกว่าตลาดยังเติบโตได้ต่อเนื่องจากไลฟ์สไตล์และมายด์เซตของคนในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โควิด - 19 ทำให้คนเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อน ซึ่งเป็นผลพวงการระบาดตั้งแต่ช่วงแรกๆ ทำให้คนต้องอยู่แต่บ้าน คนจึงมองหากิจกรรมคลายเครียดหาสัตว์มาเลี้ยง หรือคนโสดและไม่ต้องการมีลูกมากขึ้น การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทนถือเป็นอีกทางเลือก รวมทั้ง การเข้าสู่สังคมสูงวัย ไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2565 มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้น มีสัดส่วน 10% ของประชากรทั้งประเทศ การเลี้ยงสัตว์ไว้คลายเหงาก็เป็นหนึ่งในเทรนด์ เป็นต้น




กำลังโหลดความคิดเห็น