ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เส้นทาง “รัฐบาลก้าวไกล” เหมือนจะราบรื่น
โดยเฉพาะหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัดสินใจรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการก่อนครบกำหนด “เดดไลน์” เกือบเดือน แถมยัง “ปล่อยผี” รับรอง ส.ส.ครบ 500 คนในคราวเดียว
ไม่ว่า “กองเชียร์-กองแช่ง” ก็อดแปลกใจกับผลการเลือกตั้งที่ไม่มีแขวน ส.ส.แม้แต่คนเดียว ราวกับว่าการเลือกตั้งครั้งบริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจากการซื้อเสียง ทั้งที่ว่ากันว่า เป็นการเลือกตั้งที่มีการใช้ “เงิน” มากที่สุด
และอาจเป็นเพราะ กกต.เข็ดขยาดจาก “อิทธิฤทธิ์” ตัวเองเมื่อครั้งเลือกตั้ง 2562 ที่ชัก “ใบส้ม” ให้ “เฮียเส่ง” สุรพล เกียรติไชยากร ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก่อนที่ในภายหลังศาลจะตัดสินว่า “เฮียเส่ง” ไม่มีความผิด และถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
ก่อนศาลตัดสินให้ “สำนักงาน กกต.” ชำระเงิน 56.7 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ “สุรพล” ที่จนวันนี้ก็ยังไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย
เป็นเหตุให้งวดนี้ กกต.เก็บ “ใบเหลือง-ส้ม-แดง” เข้าตู้เซฟมิดชิด ไม่กล้าควักออกมาใช้ แล้วโยนภาระไปอยู่ในอำนาจของศาลแทน
เมื่อ กกต. “ตัดช่องน้อย” เช่นนั้น แล้วรับรอง ส.ส.เกินร้อยละ 95 ก็เท่ากับเป็นเปิดทางให้มีการเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายใน 15 วันหลังการรับรอง ส.ส. แบบไม่ต้องลุ้นกันให้เมื่อยตุ้ม
ตามความรู้สึก “ด้อมส้ม” ที่ภูมิอกภูมิใจว่า “กระแส” ชนะทุกสิ่ง ค่อนแคะว่า ขนาด กกต.ยังไม่อาจทานกระแสมหาชนคนไทยได้ ต้องรีบรับรอง ส.ส.ก่อนกำหนดเลย แบบนี้เส้นทาง “แด๊ดดี้ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 คงฉลุยเป็นแน่แท้
สอดรับกับท่าทีของ “แกนนำ” พรรคเพื่อไทย ที่จู่ๆ พลิก 360 องศา ยินดีประเคนตำแหน่ง “ประมุขนิติบัญญัติ” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้กับพรรคที่ได้เสียง ส.ส.อันดับ 1
น่าสนใจว่า “ข้อความ” ที่ทั้ง “เฮียเสริฐ” ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ “เสี่ยอ้วน” ภูมิธรรม เวชชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุถึงหลักการเกี่ยวกับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราาฎร เป็นข้อความเดียวกัน “เป๊ะๆ” ความว่า
“ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยยืนยันหลักการเดิมมาโดยตลอดว่า เมื่อพรรคก้าวไกล ได้ประมุขฝ่ายบริหารแล้ว พรรคเพื่อไทย ควรได้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เพื่อให้ได้ข้อยุติและไม่เกิดปัญหากับทั้งสองพรรค พรรคเพื่อไทย จึงมีจุดยืนและข้อสรุปของพรรคต่อกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้
1.เราเห็นชอบในหลักการว่าพรรคอันดับ 1 จะทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร, 2.เนื่องจากพรรคอันดับ 1 และ 2 มีจำนวนใกล้เคียงกันมาก ดังนั้นตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 2 คน จึงควรเป็นคนของพรรคลำดับ 2 และ 3.รายละเอียดการประสานงานต่างๆ จะเป็นวาระของคณะทำงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป โดยตัวแทนของ 2 พรรคควรหารือกัน
ต้องรอ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง และการประกาศรับรอง ส.ส.อย่างเป็นทางการก่อน ตัวแทนของ 2 พรรคการเมืองจะหารือกันเพื่อสรุปให้เกิดความชัดเจนต่อไป”
โดยเป็นข้อความที่ทั้ง “ประเสริฐ-ภูมิธรรม” ปล่อยออกมาก่อนที่ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง และการประกาศรับรอง ส.ส.อย่างเป็นทางการ อย่างเป็นทางการเพียงวันเดียว
การที่ 2 คีย์แมนพรรคเพื่อไทยให้ข่าวโดยการระบุ ข้อความเดียวกันแบบเป๊ะๆ ขนาด แสดงว่า เป็นข้อความที่ผ่านการหารือ และร่างออกมาก่อนที่จะผ่านการ “อนุมัติ” ของ “ผู้มีอำนาจในพรรคเพื่อไทย” เป็นที่เรียบร้อย
แม้จะ “เล่นลิ้น” เล็กน้อย โดยไม่เอ่ยชื่อพรรคอันดับ 1-2 แต่แปลไทยเป็นไทย พรรคอันดับ 1 ก็ไม่พ้น “ค่ายสีส้ม” พรรคก้าวไกล และพรรคอันดับ 2 ก็คือ “ค่ายดูไบ” พรรคเพื่อไทย
ทำเอาสื่อน้อยใหญ่ต่างประโคมข่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า พรรคเพื่อไทยยอม “ถอย” ให้พรรคก้าวไกลได้โควตาประธานสภาผู้แทนราษฎรกันอย่างพร้อมเพรียง
ทั้งที่เดิมทีบนโต๊ะเจรจาตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยยืนกราน “หลักการ” ว่า เมื่อพรรคก้าวไกลได้ “ประมุขฝ่ายบริหาร” หรือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว พรรคเพื่อไทยควรได้ “ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ” มาตลอด
จนมีการวิเคราะห์ว่า ปมเก้าอี้ประธานสภาฯ อาจเป็น “จุดแตกหัก” ที่พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยอาจไปกันไม่ได้ด้วยซ้ำ
ท่าทีของ “ประเสริฐ” เลขาธิการพรรคคนปัจจุบัน กับท่าทีของ “ภูมิธรรม” อดีตเลขาธิการพรรค จึงถูกตั้งคำถามอย่างหนักจากทั้งแฟนคลับเพื่อไทย และคนในพรรคเพื่อไทยเอง ที่ต่างมองว่า พรรคเพื่อไทยมีสิทธิ์ที่จะได้เสนอชื่อบุคคลเป็นประธานสภาฯ เนื่องจากจำนวนเสียง ส.ส.ไม่ต่างกันมาก และมีบุคคลที่มีความเหมาะสมมากกว่า
แต่หลังจากการให้ข่าวดังกล่าวออกไป ก็มีเสียงโหวกเหวกจาก “หมอแคน” อดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่แสดงจุดยืนเดิมว่า เมื่อพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีใครได้เสียงข้างมากเด็ดขาดไปกว่ากัน ก็สมควรไปโหวตในสภาฯ ใครจะได้ตำแหน่งประธานสภาฯ เรื่องนี้ควรเป็นทฤษฎี “กินแบ่ง” ไม่ใช่ “กินรวบ” ถ้าอยากจะ “กินรวบ” ต้องได้เสียงขาดลอย 376 เสียง ไม่ใช่ได้แค่ 151 เสียง แล้วจะเป็นทั้งประมุขฝ่ายบริหาร และประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ถือว่าเพ้อฝัน ได้เท่านี้แต่จะเอาทั้งหมดไม่ได้
ก่อนจะนำเรื่องที่ว่าไปพูดระหว่างเปิดฟลอร์การสัมมนา ภายใต้หัวข้อ “เพื่อไทยเปิดใจ เพื่ออนาคตไทย” ของพรรคเพื่อไทย ที่โรงแรมเอสซีปาร์ค ในอีกไม่กี่วันถัดมา
“เรื่องประธานสภาฯ ผมไม่เห็นด้วยที่เรา 141 เสียง เขา 151 เสียง แต่เราไปยอมเขาทุกเรื่องราว พรรคก้าวไกลควรได้เป็นฝ่ายบริหาร แต่จะหาวเอาเดือนเอาดาว เอาประธานสภาฯ ไปด้วย ผมว่ามันจะง่ายเกินไปหน่อย ไม่เห็นเพื่อนฝูงอยู่ในสายตา
ผมยืนยันว่า ศักยภาพของเรา เรามีบุคลากรที่เหมาะสม ผมไม่อยากเห็นพระบวชใหม่มาเป็นเจ้าอาวาส เรามีบุคลากรเยอะ อย่าไปยอมให้เขาง่าย เราอย่าไปห่วงความรู้สึกเขา คุณจะเป็นพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทย เรื่องประธานสภาฯ ถึงอย่างไร ผมคิดว่าต้องเป็นของพรรคเพื่อไทย เพื่อให้รัฐบาลผสมเดินทางไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม”
ที่ว่าไปเป็นบางช่วงบางตอนที่ “อดิศร” โจมตีพรรคก้าวไกลอย่างหนัก และเป็นเพียงช่วงเดียวที่พรรคเพื่อไทยอนุญาตให้สื่อเข้าไปฟังบรรยกาศการสัมมนา จนคลิปช่วงดังกล่าวถูกแชร์ต่ออย่างกว้างขวาง
ซึ่งก็มีการมองกันว่า พรรคเพื่อไทยกำลังแสดงละคร โดยแบ่งบทบาทกันเล่น ให้แกนนำพรรคเล่นบท “สุภาพบุรุษ” ทั้ง “ประเสริฐ-ภูมิธรรม” รวมไปถึง “หมอชลน่าน” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ออกมายืนกรานว่า พรรคอันดับ 1 ควรได้ประธานสภาผู้แทนราษฎร และพรรคเพื่อไทยไม่คิดจะเสนอชื่อแข่ง
“หมอชลน่าน” ที่เดิมมีชื่อเป็นแคนดิเดตประธานสภาฯ พูดถึงขั้นว่า หากมีใครเสนอชื่อตัวเอง ก็จะลุกขึ้นประกาศถอนตัวทันที
ขณะเดียวกันก็วางตัว “อดิศร” เป็นหัวหอกในบท “นักเลง” โหวกเหวกโวยวายให้เป็นประเด็น พร้อมๆ กับการน้ำถึงเอกสิทธิ์ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ ที่แม้จะเคารพมติพรรค แต่ก็ไม่สามารถครอบงำการทำหน้าที่ ส.ส.ในสภาฯ ได้ คู่ขนานกันออกมา
พร้อมๆ กับปล่อยตัวเลข 100 ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ที่ไม่เห็นด้วยกับการประเคนเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับพรรคก้าวไกล
ไม่เท่านั้น จู่ๆ ก็มีกระแสข่าวหนาหูว่า “ค่ายลุงป้อม” พรรคพลังประชารัฐ จะเสนอชื่อ “พ่อมดดำ” สุชาติ ตันเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในการลงมติเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร แข่งกับบุคคลที่พรรคก้าวไกลจะเสนอ
แน่นอนเมื่อสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าทางพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคเพื่อไทย ต้นสังกัดของ “สุชาติ” ต่างก็ปฏิเสธในทำนองเดียว แต่ก็ไม่ลืมยก “เอกสิทธิ์ ส.ส.” มาเป็นสร้อยท้ายความเห็น
จนถูกมองว่า เป็น “กลเกม” ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ อาจ “รู้กัน”
ตามคิว “เซียนข้างสนาม” อย่าง “ตุ๊ดตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน ที่ออกมาเปิดโปง “ดีลลับ” ผ่านเกมชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า พรรคเพื่อไทยกำลังเล่นเกม “สับขาหลอก” ทำเท่ยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้พรรคก้าวไกลอย่างผู้เสียสละ แต่พอถึงเวลาโหวต พรรคการเมืองอีกฟากหนึ่งที่มี ส.ส.188 เสียง หรือขั้วว่าที่ฝ่ายค้านตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเล็ก หรืออาจส่งสัญญาณแรงโดยพรรคพลังประชารัฐจะเสนอชื่อ “สุชาติ” ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ขึ้นมาชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
“จตุพร” โชว์เหนือชั้นถึงขั้นว่า ในวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติเลือกประธานฯ “สุชาติ” ก็จะไม่เข้าร่วมการประชุม เพราะไม่ต้องการถูกกกดันให้ประกาศถอนตัว ที่สุดขั้ว 188 เสียง กับ ส.ส.เพื่อไทย “บางส่วน” เอาแค่พ้น 250 เสียง ก็จะลงมติส่ง “สุชาติ” ขึ้นเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร
เป็น “ฉากทัศน์” ที่มีน้ำหนักขึ้นทันที เมื่อตัวละครเอกอย่าง “สุชาติ” ก็เล่นบท “เสือซุ่ม” ไม่ออกมายอมรับ หรือปฏิเสธแต่อย่างใด อย่างในการสัมมนาพรรคเพื่อไทยล่าสุด มีคิวขึ้นบรรยายติวเข้ม ส.ส. ก็แจ้งลากะทันหัน ด้วยเหตุผลว่า ไปผ่าฟันคุด
แถมตรงตามสไตล์การเมืองของ “ค่ายนายใหญ่” ที่ไม่ยอมขาดทุน และไม่ยอมตกเป็นเบี้ยล่างของ “พรรครุ่นหลาน” อย่างพรรคก้าวไกลเสียด้วย
ไม่เช่นนั้นหลังจาก “อดิศร” สงบปากสงบคำไปและเอ่ยปาก “ขอโทษ” พรรคก้าวไกลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สังคมคงไม่ได้เห็น “เป็ดเหลิม-ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ออกมาร่ายยาว ในวันเดินทางเข้ารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสรุปใจความสำคัญได้ว่า “พรรค ก.อยากได้ประธานสภาแต่ไม่รู้การเมือง พรรษาน้อยเป็นได้แต่ต้องเก่ง เป็นประธานของทุกพรรค” พร้อมประกาศชัดว่า “ไม่กลัวทัวร์ลงและไม่เคยเห็นพิธาดีกว่าคนเพื่อไทย”
หากเป็นไปตามฉากทัศน์ที่ว่า จริง ก็ต้องมองต่อว่า พรรคเพื่อไทยงัดเกมนี้ขึ้นมาเล่นเพื่ออะไร และถึงขนาดไหน
ตามฉากทัศน์จัดตั้งรัฐบาลที่ว่ากัน 3 ฉากทัศน์ด้วยว่า
ฉากทัศน์ที่ 1 การจัดตั้ง “รัฐบาลก้าวไกล” ราบรื่น การเจรจากระทรวงทบวงกรมต่างๆเรียบร้อย สามารถล็อบบี้เสียง ส.ว.ได้จนครบกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา กรณีนี้นายกรัฐมนตรีก็จะชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และ 8 ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล 312 เสียงอยู่กันครบถ้วน
ฉากทัศน์ที่ 2 การจัดตั้ง “รัฐบาลก้าวไกล” ราบรื่น การเจรจากระทรวงทบวงกรมต่างๆเรียบร้อย แต่ไม่สามารถล็อบบี้เสียง ส.ว.ได้จนครบกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา พรรคก้าวไกล ยอมถอยไม่เสนอชื่อ “พิธา” เปิดทางให้พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อนายกฯในบัญชีแคนดิเดตฯ ของพรรคเพื่อไทย
โดยที่ 8 ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล 312 เสียงอยู่กันครบถ้วน และเจรจาขอเสียงจากพรรคการเมืองอื่น รวมไปถึง ส.ว.บางส่วน มาสนับสนุนนายกฯจากพรรคเพื่อไทยได้
กรณีนี้ พรรคก้าวไกลจะถูกลดระดับลงไปเป็นเพียงพรรคร่วมรัฐบาล
และฉากทัศน์ที่ 3 การจัดตั้ง “รัฐบาลก้าวไกล” สะดุด การเจรจากระทรวงทบวงกรมต่างๆเรียบร้อย แต่ไม่สามารถล็อบบี้เสียง ส.ว.ได้จนครบกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา ชื่อของ “พิธา” ไม่ผ่านการลงมติของที่ประชุมรัฐสภา พรรคก้าวไกลประกาศถอนตัว เปิดทางให้พรรคเพื่อไทยฟอร์มรัฐบาลใหม่ ดึงพรรคการเมืองอื่นในซีกเสียงข้างน้อยเข้ามาทดแทนพรรคก้าวไกล
กรณีนี้ รัฐบาลจะนำโดยพรรคเพื่อไทย แต่นายกฯ อาจเป็นคนของพรรคเพื่อไทย หรือจากพรรคการเมืองอื่นแล้วแต่บทสรุปของการเจรจา ขณะที่พรรคก้าวไกล อาจจะเป็นฝ่ายค้านพรรคเดียว หรือมีบางพรรคไปอยู่ในซึกฝ่ายค้านด้วย
ที่ว่าไปเป็น 3 ฉากทัศน์ ที่ก้าวข้ามประเด็นประธานสภาฯ และให้น้ำหนัก “จุดชี้เป็นชี้ตาย” อยู่ที่เสียงสนับสนุน “พิธา” ในที่ประชุมรัฐสภามากกว่า
แต่เมื่อเก้าอี้ประธานสภาฯ กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ก็น่ากลัวว่า การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลจะ “โต๊ะล้ม” ตั้งแต่ยกแรก
อยู่ที่ว่า พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจะเจรจาในเรื่องประธานสภาฯ ให้ลงตัวกันอย่างไร
เพราะทางพรรคก้าวไกลเอง แม้จะอ้างว่ามี “วาระ” ที่ต้องผลักดันในฝ่ายนิติบัญญัติหลายเรื่อง จึงจำเป็นต้องมีประธานสภาฯ ของตัวเอง แต่ลึกๆ แล้วก็กลัวว่าจะ “เสียโง่” หากปล่อยให้พรรคเพื่อไทยได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ไปตั้งแต่ต้น
เพราะอย่างที่ระบุข้างต้นว่า “จุดชี้เป็นชี้ตาย” อยู่ที่เสียงสนับสนุน “พิธา” ในที่ประชุมรัฐสภามากกว่า ที่สุดอาจเสียทั้งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ-ประมุขฝ่ายบริหาร แล้วต้องไปทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน แบบไม่ได้อะไรเลยด้วยซ้ำ
แม้ภายใน “ค่ายสีส้ม” ไม่ว่าพรรคก้าวไกลหรือกลุ่มก้าวหน้า ที่ว่ากลุ่มหลังว่ากันว่าเป็น “ตัวจริง” จะมีการพูดคุยกันว่า พร้อมจะทำหน้าที่ฝ่ายค้าน หากการจัดตั้งรัฐบาลไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ก็ตาม แต่มาถึงวันนี้ “เสียงส่วนใหญ่” ก็อยากที่จะลองทำหน้าที่รัฐบาลเต็มทีแล้ว
เช่นเดียวกับตัว “พิธา” ที่ก็แสดงความพร้อมในการเข้าไปทำหน้าที่ผู้นำประเทศมานานแล้ว
น่าสนใจไม่น้อยว่า ในฉากทัศน์ที่พรรคก้าวไกล-เพื่อไทย ไปกันไม่ได้ กลับมีการวิเคราะห์กันว่า ผู้เป็นนายกฯ จะไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทย แต่หวยจะไปออกที่ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้า และแคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ
โดยมีฉากทัศน์เพิ่มเติม คือ พรรคก้าวไกล-เพื่อไทย หักกันตั้งการเลือกประธานสภาฯ โดย “สุชาติ” หรือคนของพรรคเพื่อไทยคว้าตำแหน่งไปกิน จากการสนับสนุนของกลุ่มพรรคเสียงข้างน้อย
ต่อเนื่องไปตนถึงการลงมติเลือกนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภา ที่พรรคก้าวไกลก็จะเสนอชื่อ “พิธา” โดยมีพรรคเพื่อไทยให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะกี่ครั้ง แต่ก็ไม่สามารถหาเสียง ส.ว.สนับสนุนได้มากพอ
เมื่อสถานการณ์เดินเข้าสู่ “เดดล็อก” ไม่สามารถเลือกนายกฯได้เสียที ก็เป็น “ข้ออ้าง” ของฝ่ายเสียงข้างน้อยที่จะฉวยจังหวะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ แข่ง โดยมีเสียง ส.ว.รอให้การสนับสนุน
ขณะที่ พรรคเพื่อไทยคงไม่คิดสั้น เสนอชื่อนายกฯ แข่ง เพราะรู้ดีว่า เดิมพันสูงหากถูกตราหน้าว่า หักหลังพรรคก้าวไกล คงถูกกระแสถล่มจมดิม อีกทั้งถึงเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยก็จริง แต่หากมีพรรคก้าวไกลในสมการรัฐบาล “พรรค ส.ว.” ก็คงโหวตให้ไม่ลงอยู่ดี
เมื่อกวาดตาดูในตะกร้าแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคอื่นที่มีเสียงเกิน 25 เสียง ที่สามารถเสนอชื่อในที่ประชุมรัฐสภาได้ นอกเหนือของพรรคก้าวไกล-เพื่อไทย ก็จะมี “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย, “ลุงป้อม” จากพรรคพลังประชารัฐ, “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ และ “เสี่ยอู๊ด” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ จากพรรคประชาธิปัตย์
เรียกว่า อีกฟากฝั่งยังมี “ตาอยู่” รออยู่ถึง 4 ราย
ในจำนวนนี้หากพูดถึงศักดิ์ศรีในแง่จำนวน ส.ส. ก็ต้องยกให้ “อนุทิน” มีความเหมาะสม แต่เมื่อมีปัจจัยเสียง ส.ว.สนับสนุน ก็จะมาตกที่ “ลุงป้อม-ลุงตู่” ซึ่งว่ากันว่ามี ส.ว.อยู่ในมือคนละหลักร้อยเสียงขึ้น
ทว่า เมื่อมีปัจจัยในการต้องดึงพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมรัฐบาล ดูเหมือนชื่อของ “ลุงป้อม” จะเข้าทีที่สุดในจำนวนที่ว่ามา
อย่างไรก็ดี ตามรูปการณ์นี้ พรรคเพื่อไทยจะไม่สลับขั้วมาสนับสนุน “ลุงป้อม” ทันที เพราะหนีไม่พ้นโดนถล่มจนไม่มีที่ยืน
โดยจะปล่อยให้เสียงข้างน้อย 188 เสียงรวมกับเสียง ส.ว.ลงมติเกิน 376 เสียงเพื่อส่ง “ลุงป้อม” ขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 30 ก่อนจะใช้คอนเซปต์ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ดึง ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย และพรรคคอื่นในขั้ว 8 ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลขณะนี้มาร่วมรัฐบาล เว้นเพียงพรรคก้าวไกลที่อาจมี “งูเห่า” เพียงบางส่วนเท่านั้น
ฉากทัศน์ที่ว่าไป คงไม่มีใครคิดว่า พรรคเพื่อไทยจะกล้าทำ เพราะไม่ต่างจาก “ฆ่าตัวตาย” ทางการเมือง ถามคนเพื่อไทยวันนี้ก็คงมีแต่คนส่ายหน้า พร้อมสาปส่งว่า เลอะเทอะ
ถึงจะออกไปในแนวจินตนาการ แต่คนที่ต้องถามไม่ใช่ ส.ส.ในพรรค แต่ต้องไปถาม “ผู้มีอำนาจตัวจริง” ของพรรคเพื่อไทยว่า จะยอมเพื่อแลกกับเรื่องอื่นหรือไม่
ตามคิวที่ “พี่ษิณ” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ประกาศโครมๆว่า จะกลับประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2566 ผสมผเสกับดรามาน้ำตาแตกของ “น้องปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ น้องสาว ที่ออกมาพรั่งพรูถึงความรู้สึกคิดถึงบ้าน พร้อมร่ำไห้เป็นเผาเต่า ในช่วงวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 56 ปีของตัวเอง
ที่สำคัญคือ เมื่อหันมาดูอาการของ “ตาอยู่ป้อม” ก็ดูจะคึกคักขึ้นถนัดตาหลังซุ่มเงียบมาตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง แถมยังโผล่ไปรายงานตัวรับตำแหน่ง ส.ส.ตั้งแต่วันแรก ทั้งที่เดิมมีข่าวว่า “ลุงป้อม” จะสละสิทธิ์ให้ สันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรค ที่เป็นผู้สมัครบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 2 ขึ้นทำหน้าที่แทน
ยิ่งไปกว่านั้น หลังรายงานตัวเป็น ส.ส.ไม่ทันไร ตกดึกคืนเดียวกัน ก็มีรายงานว่า “ลุงป้อม” จับเครื่องเดินทางไปประเทศอังกฤษพร้อมคนใกล้ชิดทันที โดยระบุว่า ไปดูการแข่งม้าที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นกำหนดการที่วางแผนไว้นานแล้ว และมีกำหนดการเดินทางกลับในวันที่ 25 มิถุนายนนี้
ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า เหตุที่ “ลุงป้อม” ต้องลงทุนนั่งเครื่องบินข้ามคืนไปถึง “แดนผู้ดี” ประเทศอังกฤษ เป็นเพราะสัญญาณ 5G ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ เกิดขัดข้อง ทำให้พูดคุยกับ “ปลายสาย” ไม่ค่อยถนัด จนต้องบุกไปจับเข่าคุยกันแบบ “ตัวเป็นๆ”
จนอดสงสัยไม่ได้ว่า ทริปนี้จะไป “ดูม้าแข่ง” หรือ “ดู (ใจ) แม้ว” กันแน่?.