หลังจากพรรคก้าวไกลและพรรคที่จะจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลแถลงข้อตกลงร่วมกันหรือเอ็มโอยูว่า ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่าภารกิจของรัฐบาลที่ทุกพรรคจะผลักดันนั้น ต้องไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์
ดูเหมือนทุกพรรคจะเห็นร่วมกันว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นทรงอยู่เหนือการเมืองไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว
แต่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ให้สัมภาษณ์นักข่าวหลังจากนั้นว่า “ยืนยันอีกครั้งว่า ม.112 เป็นหนึ่งใน 45 ร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลได้เตรียมยื่นเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา เพื่อให้เกิดบทสนทนาอย่างมีวุฒิภาวะในสภาฯ ที่ผ่านมาบางครั้งอาจมีการฟังข้อมูลที่ไม่ตรงความเป็นจริง เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกัน จึงเป็นไปในแนวโน้มที่ดีมาก”
คำถามว่า แม้จะตกลงกันว่าแต่ละพรรคสามารถผลักดันนโยบายในนามพรรคผ่านสภาฯ ได้ก็มีเงื่อนไขว่านโยบายนั้นจะต้องไม่ขัดแย้งกับข้อตกลงร่วมกันที่ได้แถลงเอาไว้ ดังนั้นพรรคก้าวไกลจะเสนอนโยบายนี้เข้าสภาฯ ได้จริงไหม หรือว่าพิธาเพียงต้องการตอบคำถามเพื่อเป็นการระงับอารมณ์ของด้อมส้มที่ประกาศว่า “ไม่แก้ 112 ไม่มีกู” หรือเมื่อส่งเข้าสภาฯ แต่ไม่ได้บรรจุก็ถือว่าอยู่นอกเงื่อนไขที่พรรคจะควบคุมได้ แต่ได้ทำตามเจตนารมณ์แล้ว
เราต้องไม่ลืมนะครับว่า สมัยที่ชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาฯ นั้น เคยวางหลักตามแนวทางของฝ่ายกฎหมายสภาฯ ไว้ว่า การยื่นร่างแก้ไขมาตรา 112 เข้ามานั้น ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 6 การคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ จึงไม่บรรจุวาระเข้าสู่การพิจารณา
ก็อยู่ที่ว่า ประธานสภาฯ คนใหม่จะมีความเห็นอย่างไร และสำคัญว่า ประธานสภาฯ นั้นมาจากพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทย
พรรคก้าวไกลแถลงนโยบายว่าจะแก้ไขมาตรา 112 แต่พิธา พูดในต่างวาระว่าจะยกเลิกมาตรา 112 แม้เราไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วพวกเขามีเจตนาอย่างไรก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาร่างแก้ไขมาตรา 112 ที่พวกเขาพยายามยื่นเข้าสภาฯ หลายครั้งกลับพบว่า แท้จริงแล้วพวกเขาต้องการยกเลิกมาตรา 112 ในปัจจุบันนั่นเอง แม้ว่าพวกเขาจะเขียนมาตราคุ้มครองประมุขของรัฐหรือพระมหากษัตริย์ขึ้นมาใหม่ก็ไม่ต่างอะไรกับการยกเลิกเลย
เพราะบทบัญญัติที่เขาเขียนขึ้นใหม่นั้นพระมหากษัตริย์จะได้รับความคุ้มครองไม่ต่างกับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาในปัจจุบัน กฎหมายที่พวกเขาจะเขียนขึ้นใหม่ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
และจะเอาออกจากหมวดความมั่นคง หากพระมหากษัตริย์ถูกดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ก็จะเป็นคู่กรณีกับผู้กระทำผิดโดยตรง โดยให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษแทน
แต่พระมหากษัตริย์มิใช่บุคคลธรรมดาแม้จะเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันกับบุคคลอื่น แต่ทรงดำรงสถานะเป็นพระประมุขของประเทศที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้
สถานะประมุขของประเทศก็ย่อมจะเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ดังนั้น กฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” จึงถูกบัญญัติไว้ในหมวดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ
การดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์จึงเป็นความผิดต่ออาญาแผ่นดิน คือ ความผิดที่หากมีการกระทำแล้วนอกจากจะมีผลกระทบต่อผู้ที่ถูกกระทำโดยตรงแล้ว ยังมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวมอีกด้วย ดังนั้น รัฐจึงต้องเข้าดำเนินการเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แม้ผู้ที่ถูกกระทำนั้นจะไม่ติดใจเอาความหรือดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไปแล้วก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันสังคมโดยรวม และใครก็ตามเมื่อเห็นมีผู้กระทำความผิดต่ออาญาแผ่นดินก็มีสิทธิ์ที่จะร้องทุกข์หรือแจ้งความดำเนินคดีได้
ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว จะให้สำนักพระราชวังไปเดินขึ้นโรงพักขึ้นศาลฟ้องหมิ่นประมาทผู้กล่าวหาก็จะเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนโดยตรงซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น
พวกนี้มักกล่าวหาว่าปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเหตุผลเพราะมีผู้กระทำผิดมากขึ้นนั่นเอง ถ้าไม่มีผู้กระทำผิดมากขึ้น มาตรา 112 คงไม่สามารถไปบังคับใช้กับใครได้
แล้วถ้าเราติดตามคดี 112 ในปัจจุบันจะเห็นว่า ศาลมีการบังคับใช้อย่างเป็นธรรม ทุกคดีศาลจะให้ประกันตัวนอกจากเมื่อได้ประกันตัวไปแล้วจะกระทำผิดซ้ำอีก และหลายคดีศาลพิพากษายกฟ้อง คดีของ “หยก” เด็กอายุ 14 ปี ที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 นั้น ไม่ใช่ศาลไม่ให้ประกันตัว แต่เป็นเพราะผู้ปกครองไม่มายื่นขอประกันตัวทำให้ศาลไม่สามารถปล่อยตัวได้ แต่เมื่อมายื่นประกันตัวศาลก็สั่งปล่อยตัวทันที
คดีที่นายอิศเรศ อุดานนท์ ถูกแจ้งความดำเนินคดี มาตรา 112 โดยโพสต์ข้อความส่วนหนึ่งว่า “เกิน 24 ชม. ไม่แต่งตั้งกษัตริย์ก็คือศึกชิงบัลลังก์” ศาลจังหวัดนครพนมได้ยกฟ้องคดีนี้ ด้วยเหตุผลว่า ข้อความของจำเลยไม่ได้เป็นการดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ตามคำกล่าวหาของฝ่ายโจทก์ โดยศาลได้พิจารณาตามองค์ประกอบความผิดเกี่ยวกับการดูหมิ่น หมิ่นประมาท ที่ระบุไว้อยู่ในข้อกฎหมาย ซึ่งการตัดสินว่าข้อความแบบไหนเข้าข่ายองค์ประกอบความผิด ศาลจะพิจารณาตามความรู้สึกนึกคิดของบุคคลทั่วไป ไม่ได้พิจารณาแค่ความรู้สึกของฝ่ายผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหาเพียงอย่างเดียว
ความจริงแล้วสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นวิพากษ์วิจารณ์ได้ตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๙ แต่เราจะพบว่าคนหนุ่มสาวที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จำนวนมากไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุและผล หลายคนใช้ถ้อยคำที่หยาบคายมาก และเราสามารถพบเห็นคำพูดที่ท้าทายความผิดตามกฎหมายได้มากมายในโซเชียลมีเดีย ถ้าสถาบันพระมหากษัตริย์วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์เสมอมาคงจะถูกดำเนินคดีไปหลายคดีแล้ว
มาตรา 112 นั้นห้าม “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” นั้นแท้จริงแล้วเป็นการห้ามสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นไม่ว่ากับผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์หรือไม่ เป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิ์ความเป็นมนุษย์ที่ไม่ควรจะถูกหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายจากบุคคลอื่น ยิ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐและทรงอยู่เหนือการเมืองจึงไม่ควรจะถูกกระทำดังกล่าวแต่อย่างใด
แปลกมากที่เมื่อมีผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 จำนวนมากแล้วกลับไปโทษว่ากฎหมายผิด หรือไปกล่าวว่าใช้กฎหมายมาตรา 112 มากลั่นแกล้งกัน ทั้งๆ ที่ไม่ว่ากฎหมายมาตราไหนก็ตามหากมีบทบัญญัติห้ามใดๆ เอาไว้แล้วไม่ไปฝ่าฝืนก็ไม่มีทางมีความผิดหรือนำมากลั่นแกล้งกันได้
แต่เข้าใจนะครับว่า ด้อมส้มจำนวนมากนั้นถูกปลูกฝังกันมานานให้มองสถาบันกษัตริย์เป็นส่วนเกินของระบอบประชาธิปไตย พวกเขาจึงกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย การที่พรรคก้าวไกลมุ่งเป้าไปที่มาตรา 112 นั้น แท้จริงแล้วมีเจตนาที่ซ่อนเร้นอย่างไร
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan