“ปานเทพ” ชี้ชัด ม.112 เงื่อนไขสำคัญตั้ง รบ.ก้าวไกล สำเร็จหรือไม่ แค่ยอมถอย 1 เรื่อง ก็จะได้แสดงฝีมือ 299 เรื่อง แต่ที่ไม่ยอมเพราะหวังแค่เรื่องนี้ใช่หรือไม่ ระบุ ร่างแก้ 112 ที่เคยเสนอ เนื้อหาเหมือนยกเลิก ให้โทษน้อยกว่าหมิ่น ปชช.ทั่วไป ปรับสถาบันเป็นคู่กรณีโดยตรงกับประชาชน ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว สมาชิกรัฐสภาควรต้องทบทวนว่าจะยังสนับสนุน “พิธา” เป็นนายกฯ อยู่หรือไม่
วันนี้ (19 พ.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กส่วนตัวในเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยมีเนื้อหาดังนี้
เมื่อจะยังเดินหน้าแก้ไข ม.112 สมาชิกรัฐสภาคนไหนจะสนับสนุนพิธา เป็นนายกฯ ต่อไป? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
8 พรรคการเมืองได้เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเสนอให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะเป็นพรรคการเมืองที่มีรายงานเบื้องต้นว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่ มี ส.ส.มากที่สุดประมาณ 152 เสียง โดยมีเสียง ส.ส. ที่รวบรวมได้แล้วประมาณ 313 เสียง และยังต้องการรวบรวมเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาอีกประมาณ 63 เสียง
โดยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งคาดว่า น่าจะมี ส.ส.ประมาณ 141 เสียง ได้แถลงฐานะเป็นพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลในจุดยืนต่อการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในความตอนหนึ่งว่า
“อะไรที่เป็นเงื่อนไขข้อจำกัดที่จะต้องตกลงพูดคุยกันได้ก็ต้องจบใน MOU แต่ถ้าไม่จบ มันก็ต้องมีทางออก เช่น ประเด็นที่อ่อนไหว มาตรา 112 ที่ต่างฝ่ายต่างมีความเห็นกันเยอะ”
เช่นเดียวกันกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งมีรายงานเบื้องต้นว่าน่าจะมี ส.ส.ประมาณ 6 เสียงได้แถลงข่าวในทำนองเดียวกันความตอนหนึ่งว่า
“หน้าที่ของทุกพรรคการเมือง คือ ต้องรักษาตามรัฐธรรมนูญเลย รักษาชาติ ศาสน์ กษัตริย์ การทำอะไรแล้วไปเกิดการกระทบและทำให้สถาบันฯ เกิดความเสื่อมเสีย เป็นหน้าที่ของทุกพรรคต้องปกป้อง”
ในขณะที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ซึ่งมีรายงานเบื้องต้นว่า น่าจะมี ส.ส.ประมาณ 9 เสียง ได้แถลงความตอนหนึ่งว่า
“เรื่องมาตรา 112 คิดว่า ไม่เป็นปัญหา เพราะไม่ได้อยู่ในสิ่งที่ต้องทำเร่งด่วน แต่คงอยู่ใน MOU และต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้มันเป็นไปได้”
ส่วน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งมีรายงานเบื้องต้นว่าน่าจะมี ส.ส.ประมาณ 1 เสียง ได้แถลงเอาไว้ความตอนหนึ่งว่า
“แม้จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันแล้ว ทำงานร่วมกัน มีแนวทางไปในทิศทางใดที่ร่วมกันได้ ก็สนับสนุนเต็มที่ แต่ถ้ามีปัญหา หรือบางสิ่งบางอย่างในประเด็นที่ถามขึ้นมา เราก็ต้องคิดทบทวนอีกครั้ง”
จากความเห็นข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นว่าจุดยืนที่กำลังจะเป็นปัญหาสำคัญของการจัดตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกลนั้น คือ ประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลเอง
การจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องฟังเสียงพรรคร่วมรัฐบาล ปรับนโยบายจึงจะสามารถได้รับการยอมรับในการเป็นนายกรัฐมนตรีที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลได้
โดยเฉพาะประเด็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังกล่าวนี้มีความละเอียดอ่อน และเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ในเรื่องจุดยืนของแต่ละพรรคการเมืองที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ความจริงเพียงแค่พรรคก้าวไกลประกาศทบทวนหรือถอยจากการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในสมัยนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็คงจะมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ทันที เพราะจะไม่มี “ข้ออ้าง” ใดๆ (หรือถ้ามีข้ออ้างก็จะน้อยลง) ที่ ส.ว.หรือพรรคการเมืองใดอีก 63 เสียงจะไม่ร่วมสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี
และถ้าพรรคก้าวไกลยอมถอย ก็จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยสามารถแสดงฝีมือที่จะปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอย่างเต็มที่ ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความเดือดร้อน และลดความยากจนของประชาชนในประเทศตามที่ได้หาเสียงเอาไว้อย่างเต็มที่
ถ้าถอยเพียง 1 เรื่อง แต่ทำสำเร็จ 299 เรื่อง แล้วเกิดประโยชน์ต่อประเทศได้ ประชาชนก็คงจะได้รับประโยชน์ตามที่หาเสียงไว้ โดยเฉพาะถ้านโยบายเหล่านั้นทำได้จริงและเกิดประโยชน์จริง
ทั้งๆ ที่พรรคก้าวไกลก็น่าจะรู้อยู่แก่ใจว่า หากเสนอแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีเนื้อหาไม่ต่างจากการยกเลิกมาตรา 112 นั้น จะไม่สามารถผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรได้
แต่การยืนยันในเรื่องจุดยืนที่จะไม่ถอย หรือไม่ปรับข้อความการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เชื่อว่าจะสร้างปัญหาสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลได้ และยังอาจจะเป็นข้ออ้างที่มีความชอบธรรมของพรรคเพื่อไทยที่อาจถึงขั้นจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลสูตรไขว้ได้
ถึงเวลานั้นพรรคก้าวไกลจะยอมทิ้ง 299 เรื่อง เพื่อ 1 เรื่อง คือ การไม่ถอยการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ? ทั้งๆ ที่ประตูการลงมือทำตามนโยบาย 299 เรื่องอยู่แค่เอื้อม
หรือจริงๆ แล้วที่ไม่ยอมถอย การหาเสียงที่ทำมาทั้งหมด 299 เรื่อง เพื่อเป้าหมายสุดท้ายเพียง 1 เรื่อง คือ การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ได้ ใช่หรือไม่?
ตัวแทนพรรคก้าวไกลเคยหาเสียงเอาไว้ว่าไม่ได้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่จะเพียงแค่ “แก้ไข” เท่านั้น
แต่ถ้า “แก้ไข” ไม่สำเร็จก็จะ “ยกเลิก” ใช่หรือไม่ !!!?
คำถามมีอยู่ว่าเหตุใดแนวคิด “การแก้ไข” ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถึงได้มีเนื้อหาเหมือนการ “ยกเลิก” ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปได้
แต่ที่น่าแปลกกว่านั้น คือ การแก้ไขกฎหมายให้การกระทำความผิดต่อพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นมีบทลงโทษต่ำกว่าการหมิ่นประมาทที่กระทำต่อประชาชนทั่วไปได้อย่างไร?
โดยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติว่า
“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี”
จากข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการกระทำความผิดจะเกิดขึ้นเฉพาะ “หมิ่นประมาท”, “ดูหมิ่น” หรือ “แสดงความอาฆาตมาดร้าย” เท่านั้น ไม่ได้แปลว่าการวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความเห็นทางวิชาการเป็นความผิดอย่างที่หลายคนเข้าใจ หรือไป “บังคับใช้กฎหมาย” แบบผิดๆ
แต่เว็บไซต์ของพรรคก้าวไกล ได้เคยเผยแพร่เอาไว้เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ถึง 2 จุดยืนต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความว่า
จุดยืนแรก พรรคก้าวไกลระบุว่าให้ลดอัตราโทษลงอย่างมาก ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำ รวมทั้งสามารถพิจารณาลงโทษปรับแทนการจำคุก เพื่อให้ได้สัดส่วนกับความผิด
ลดโทษ จากเดิมจำคุก 3-15 ปี : แก้ไขโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 1 ปี หรือมีเพียงโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ (สำหรับการกระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์)
ลดโทษ จากเดิมจำคุก 3-15 ปี : แก้ไขโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 6 เดือน หรือมีเพียงโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ (สำหรับการกระทำความผิดต่อ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)
สำหรับจุดยืนแรกของพรรคก้าวไกลนี้ แสดงให้เห็นว่าลดบทลงโทษการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และอาฆาดมาดร้าย มีโทษจำคุกเหลือเพียง 1 ปี เหมือนบทลงโทษข้อหาหมิ่นประมาทของบุคคลทั่วไป แต่มีค่าปรับสูงกว่าหมิ่นประมาท (คือถ้ามีเงินหรือรวยมากหน่อยก็สามารถดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาดมาดร้าย ได้มากกว่าคนทั่วไป เพราะสามารถจ่ายค่าปรับได้มากกว่า)
เมื่อเปรียบเทียบแล้วก็มีบทลงโทษเหมือนข้อหาหมิ่นประมาทของบุคคลทั่วไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 (ต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี, ปรับไม่เกิน 20,000 บาท) และข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 (ต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี, ปรับไม่เกิน 200,000 บาท)
แต่ที่แปลกว่านั้นคือจุดยืนนี้ของพรรคก้าวไกลให้การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาดมาดร้ายต่อพระราชินี หรือรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกเหลือเพียง 6 เดือน “ต่ำกว่า” คดีหมิ่นประมาทของบุคคลทั่วไปที่ต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี
จุดยืนที่สอง พรรคก้าวไกล อ้างว่า เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลทั่วไปนำฐานความผิดนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กลั่นแกล้งผู้อื่น หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต
จากเดิมประชาชนทั่วไปสามารถฟ้องร้องคดีนี้ได้ : แก้ไขให้เฉพาะสำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ รวมถึงกำหนดให้ความผิดในลักษณะนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
คำถามนี้เป็นการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีโดยตรงกับประชาชนนั้นถูกต้องแล้วจริงหรือ แทนที่จะใช้ในรูปของคณะกรรมการในการ “กลั่นกรอง” คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ไม่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์
บทบัญญัติของกฎหมายที่เป็นความผิดต่ออาญาแผ่นดิน (ใครดำเนินคดีก็ได้) ไม่ใช่มีเฉพาะการให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่ยังมีกฎหมายลักษณะเดียวกันในการคุ้มครองผู้นำของรัฐ ทูตานุทูต เจ้าพนักงาน และศาล รวมทั้งการคุ้มครองชาติและศาสนา ก็ล้วนแต่ถือว่าเป็นความผิดอาญาแผ่นดินเช่นเดียวกัน
คำถามมีอยู่ว่า ถ้าสมมติว่า พระมหากษัตริย์ถูกผู้ใด ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาดมาดร้าย จะให้สำนักพระราชวังก็ต้องไปฟ้องเอาเอง และสำนักงานพระราชวังก็จะต้องทำหน้าที่นี้ ใช่หรือไม่? และถ้าทำอย่างนั้น พระมหากษัตริย์ย่อมต้องเป็นคู่กรณีกับประชาชนเป็นประจำหรือไม่ และการทะเลาะกับประชาขน และทำให้ทรงพระเกียรติเป็นประมุขแห่งรัฐต่อไปได้หรือ?
ในทางตรงกันข้าม หากสำนักพระราชวังไม่ต้องการทะเลาะกับประชาชน ปล่อยให้มีการดูหมิ่น หมิ่นประมาท ให้ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ก็ต้องถูกดูหมิ่นด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไปเรื่อยๆ จะเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างไร?
ด้วยเหตุผลนี้กฎหมายจึงให้การคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์โดยกลไกอย่างอื่นที่ไม่ควรให้พระมหาษัตริย์มาเป็นคู่กรณีกับประชาชน
และในความเป็นจริงแล้วหากมีการ “ยกเลิก” ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หากมีผู้ใดดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ สำนักพระราชวังก็จะต้องเป็นผู้ฟ้องดำเนินคดีแทนพระองค์ใช่หรือไม่
ดังนั้น ในความจริงแล้ว การแก้ไขที่พรรคก้าวไกลเสนอ จึงไม่ต่างจากการยกเลิกจริงหรือไม่?
เพียงแต่เป็นการอำพรางว่าเป็นแค่การ “แก้ไข” แต่ความจริงเนื้อหาก็แทบจะไม่ต่างจาก “ยกเลิก” เลย เพราะ
1. สำนักพระราชวังเป็นผู้ดำเนินคดีความเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขของพรรคก้าวไกลและยกเลิก มาตรา 112
และ
2. บทลงโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี ไม่ต่างกันระหว่างการแก้ไขของพรรคก้าวไกลกับการยกเลิกมาตรา 112 ยกเว้นความผิดต่อพระราชินีและรัชทายาท บทลงโทษ 6 เดือน ต่ำกว่าคดีหมิ่นประมาทประชาชนทั่วไป
ยังไม่นับคำถามว่าเหตุใดการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลจึงให้พระมหากษัตริย์จึงเป็นบุคคลที่สามารถถูกดูหมิ่น หมิ่นประมาทได้เหมือนบุคคลธรรมดา?
เหตุใดบทลงโทษการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไทย พระราชินีไทย และรัชทายาทไทย จึงมีบทลงโทษต่ำกว่าการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาดมาดร้าย ผู้แทนรัฐต่างประเทศ ที่ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง “5 ปี” หรือปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 134
ถามจริงๆ ว่า ข้อเสนอแก้ไขดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นการปกป้องหรือบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์กันแน่?
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า พรรคก้าวไกล เป็น “พรรคการเมืองเดียว” ที่เสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมี ส.ส.รวมทั้งสิ้นประมาณ 152 เสียง จาก ส.ส.ทั้งหมด 500 เสียง “พรรคก้าวไกลจึงไม่ใช่เสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”
ไม่เช่นนั้น พรรคการเมืองที่กำลังร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล พร้อมใจกันแสดงความห่วงใยในเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้อย่างไร?
และในความเป็นจริง ส.ส. ของพรรคก้าวไกล จำนวน 152 เสียง ด้วยประชาชนผู้ลงคะแนนจำนวน 14.2 ล้านเสียงนั้น ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของคนในประเทศ เพราะยังมีอีก 37 ล้านเสียงที่ไม่ได้เลือกพรรคก้าวไกล จึงไม่ได้แปลว่าคนเหล่านี้เขาจะเห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
เช่นเดียวกันกับเสียงจำนวน 14.2 ล้านเสียง ที่เลือกพรรคก้าวไกล ก็ไม่ได้แปลว่า “ทุกคน” จะเห็นด้วยกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เช่นกัน เพราะผู้ลงคะแนนเสียงเหล่านั้นอาจจะต้องการเลือกเพื่อหยุดพรรคลุงทั้ง 2 ให้ยุติบทบาททางการเมือง หรือเห็นด้วยกับนโยบายอื่นๆ ที่เขาสนใจ
พรรคการเมืองอื่นๆ และ รวมถึง ส.ว.ที่จะสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นพร้อมจะรับผิดชอบผลกระทบที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ตามมา หรือไม่?
การที่ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ทรงอิทธิพลต่อพรรคเพื่อไทย อ้างว่าหากร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล จะไม่ให้มีการกระทำใดๆ ให้มีการกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น นายทักษิณแน่ใจหรือว่าเมื่อจัดสรรกระทรวงและรัฐมนตรีไปให้พรรคก้าวไกลแล้ว จะไม่อาศัยอำนาจที่บริหารกระทรวงและกรมต่างๆ โดยไม่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้จริงหรือ เช่น กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงศึกษาธิการ, หรือแม้แต่กระทรวงวัฒนธรรม ฯลฯ
และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในวันข้างหน้า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกลควรจะเริ่มต้นฟังเสียงของพรรคร่วมและประชาชน 37 ล้านเสียงในประเทศที่ไม่ได้เลือกพรรคก้าวไกล หรือแม้แต่คนที่เลือกพรรคก้าวไกลที่ไม่ได้เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
พรรคก้าวไกลลองพิจารณาเคารพเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาก่อน ด้วยการถอยการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีเนื้อหาที่ซ่อนอำพรางไม่ต่างจากการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก่อนดีหรือไม่?
หาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แล ะพรรคก้าวไกล ไม่ถอยในประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้เห็นชัดตั้งแต่วันนี้ สมาชิกรัฐสภาก็ควรทบทวนว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังควรได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขหรือไม่?
และท่านสมาชิกรัฐสภายังคงยึดมั่นต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่?