xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” ชี้ “ก้าวไกล” กำลังจะเป็นฝ่ายค้าน “ภูมิใจไทย-พลังประชารัฐ” คือ ตัวแปรสำคัญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปานเทพ” วิเคราะห์ “ก้าวไกล” มีโอกาสเป็นฝ่ายค้านสูง โดย “ภูมิใจไทย-พลังประชารัฐ” เป็นตัวแปรสำคัญ ชี้เงื่อนไขหลักทำให้ไม่มีใครอยากร่วมด้วย เพราะการประกาศแก้ไขมาตรา 112

วันที่ 16 พ.ค. 2566 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ...

ทำไมก้าวไกลกำลังจะเป็นฝ่ายค้าน โดย “ภูมิใจไทย” และ “พลังประชารัฐ” คือ ตัวแปรสำคัญที่สุด /ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ถึงแม้ว่าผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว แต่ก็ยังมีความไม่แน่ไม่นอนอยู่หลายประการ เช่น การรับรองผลการเลือกตั้ง การจับการทุจริตเลือกตั้งทั้งให้ใบแดงหรือใบเหลือง การกระทำความผิดของผู้สมัครรับเลือกตั้งและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รวมถึงคดียุบพรรคทั้งหลาย ทำให้สถานการณ์ที่เห็นอยู่ในขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอนอยู่

แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาปรากฏว่า พรรคภูมิใจไทย ได้คะแนนลำดับที่ 3 และมี ส.ส.จำนวนประมาณ 70 คน แม้จะไม่ใช่ มี ส.ส.ที่มากที่สุด แต่ก็เป็นจำนวนที่ชี้ขาดว่าใครจะเป็นรัฐบาล

“สมมติว่า กกต. รับรองผลการเลือกตั้งดังที่เป็นข่าวอยู่” โดยฝ่ายค้านเดิม 6 พรรค รวมกันได้ 310 ที่นั่ง แม้จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก แต่ก่อนจะเป็นรัฐบาลได้จะต้องมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากเสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา 376 เสียง แปลว่า ยังขาดอยู่อีก 66 เสียง ซึ่งต้องมาจาก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลเดิม และหรือ ส.ว.รวมกันให้ได้ 66 เสียง

ซึ่งหลายคนเชื่อว่า ลำพัง ส.ว. 250 เสียง หากพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล การจะให้มี ส.ว.สนับสนุนนั้น ยากมากกว่าให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

เพราะเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะมี ส.ว.มากถึง 66 เสียง ที่จะสนับสนุนผู้แทนพรรคก้าวไกลที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเดิมรวมกันได้ประมา​ณ 183 เสียงเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะเป็นรัฐบาลได้ เพราะมีเสียงรวมกันน้อยกว่า 250 เสียง และยังขาดอีกมากถึงประมาณ 68 เสียง จึงจะเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก

โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี ส.ส.ประมาณ 36 เสียง และเมื่อไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐที่มี ส.ส. ประมาณ 41 เสียง แปลว่า 2 พรรคลุงรวมกันได้ 77 ที่นั่ง ซึ่งพรรคก้าวไกลประกาศมาตลอดว่าจะไม่นำมาร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลเด็ดขาด มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง

ดังนั้น พรรคก้าวไกลหากจะจัดตั้งรัฐบาล คงเหลือเสียง ส.ส. ให้ย้ายขั้วจากฝ่ายรัฐบาลได้อีกเพียง 106 เสียง หากย้ายมาโดยไม่มีพรรคภูมิใจไทยซึ่งมี 70 เสียง ก็จะได้เพียงแค่ 36 เสียงเท่านั้น ทำอย่างไรก็ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้อยู่ดี และเมื่อรวมกับ ส.ว.ก็ไม่น่าจะถึง 66 เสียงเช่นกัน

เป็นอันว่า พรรคก้าวไกลโอกาสสูงมากที่จะจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ หากคิดจะยอมถอยว่าจะไม่แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็จะผิดคำพูดต่อมวลชนด้วย ดังนั้นเชื่อว่าพรรคก้าวไกลก็คงถอยไม่ได้เช่นกัน ในขณะที่พรรคภูมิใจไทย และ ส.ว.ก็คงไม่สามารถสนับสนุนพรรคก้าวไกลได้ในหลักการนี้

และเมื่อพรรคก้าวไกลถอยออกจากสัญญาประชาคมในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้ ก็เป็นอันว่าเตรียมตัวไปเป็นฝ่ายค้านได้ เพราะรวมเสียงในรัฐสภาอย่างไรก็ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น จึงเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคลำดับที่ 2 คือ พรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาลในลำดับถัดมา

คำถามที่สำคัญคือ เมื่อวาระที่พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลแล้วไม่สำเร็จ เมื่อพรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาลแทน พรรคก้าวไกลพร้อมจะโหวตกลับให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยหรือไม่

ถ้าถามเพียงแค่นี้ พรรคก้าวไกลคงบอกว่าไม่มีปัญหา ใช่หรือไม่?

แต่ถ้ามีคำถามต่อไป (ซึ่งพรรคเพื่อไทยอาจไม่บอก) คือ พรรคก้าวไกล พร้อมจะโหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยฟรีๆ หรือไม่ “หากพรรคก้าวไกลจะต้องไปเป็นฝ่ายค้าน”

เพราะถ้าพรรคเพื่อไทย ต้องการมีแนวร่วมที่กว้างขึ้นกว่าการจัดตั้งรัฐบาลแบบพรรคก้าวไกล ก็แปลว่า พรรคเพื่อไทยจะต้องไปเจรจาจัดตั้งรัฐบาล โดยจะต้องให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านเสียก่อน (ไม่ว่าจะบอกพรรคก้าวไกลหรือไม่?)

หากพรรคก้าวไกลไม่มีปัญหา การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยก็อาจจะจัดตั้งรัฐบาลง่ายขึ้น

เพราะไม่มี “พรรคฝ่ายรัฐบาลเดิม” พรรคใดจะไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลที่จะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

การที่จะให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน หากพรรคก้าวไกลไม่โหวตกลับให้พรรคเพื่อไทย ก็ย่อมต้องทำให้เสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยที่จะจัดตั้งขึ้นหายไป 153 เสียง

แต่ถ้าผู้แทนพรรคเพื่อไทยเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังเป็นไปได้มากว่า พรรคก้าวไกลจะสนับสนุนพรรคเพื่อไทยให้รวมกันได้ 310 เสียง ถ้ามีเสียงพรรคภูมิใจไทยเติมให้อีก 70 เสียง ก็จะทำให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีรวมได้ 380 เสียง โดยไม่ต้องพึ่งพาเสียงจาก ส.ว.เลย

เมื่อได้ 380 เสียง หากรัฐบาลให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน และได้พรรคภูมิใจไทยเข้ามาแทน ก็จะทำให้เสียงรัฐบาลจากพรรคก้าวไกลหายไป 153 เสียง ก็จะมีเสียงรวมกัน 227 เสียง เท่านั้น ยังไม่พอต่อการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสียงกึ่งหนึ่ง (251 เสียง) ของสภาผู้แทนราษฎร ในสูตรนี้จึงยังต้องการเสียงจากฝ่ายรัฐบาลเดิมอีกอย่างน้อย 24 เสียง ซึ่งหากไม่ต้องการพรรคลุงร่วมรัฐบาล ก็ต้องได้รับจากพรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง และพรรคชาติไทยพัฒนาอีก 10 เสียง รวมกันได้ 262 เสียง ก็พอไปได้

แต่สูตรข้างต้นนี้จะเกิดขึ้นเมื่อพรรคก้าวไกลยอมโหวตให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลเท่านั้น

โดยเกิดการข้ามขั้วโดยที่ไม่มีพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคก้าวไกลต้องโหวตฟรี และยอมให้ตัวเองเป็นฝ่ายค้าน

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สมการนี้ พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคตัวแปรที่สำคัญที่สุด และสำคัญกว่าพรรคพลังประชารัฐ

แต่ถ้าหากพรรคก้าวไกลไม่โหวตให้พรรคเพื่อไทยที่ร่วมมือกับพรรคภูมิใจไทย และจะทำให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ก็จะบีบให้พรรคเพื่อไทยจำใจต้องร่วมกับพรรคพลังประชารัฐตามมา

ซึ่งหลายคนเชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะไม่ทำเช่นนั้น !!!!

เพราะถ้าพรรคก้าวไกลไม่ยกมือให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากเพื่อไทย การจะจัดตั้งรัฐบาลให้มี ส.ส.ได้เกิน 251 เสียงขึ้นไปนั้น พรรคเพื่อไทยที่เดิมมีอยู่ 141 เสียง ก็ต้องอาศัยการรวบรวมเสียง ส.ส. อีกจำนวน 110 เสียงขึ้นไป เพื่อให้เกินกึ่งหนึ่ง (251 เสียง) ของสภาผู้แทนราษฎร

หากพรรคเพื่อไทยจะไม่ร่วมพรรค 2 ลุง ที่มีเสียงรวมกัน 77 เสียง โดยผลักให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านหายไปอีก 153 เสียง และหากพรรคก้าวไกลไม่โหวตฟรีๆ ให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยด้วย เสียงในสภาผู้แทนราษฎรจะหายไปมากถึง 230 ก็จะคงเหลือเพียง 129 เสียงให้พรรคเพื่อไทยได้รวบรวม

ดังนั้น การที่พรรคเพื่อไทยจะรวบรวมอีก 110 เสียง จาก 129 เสียงนั้น เป็นจำนวน ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทยอยู่ในนั้นประมาณ 70 เสียง

ดังนั้น หากปราศจากพรรคภูมิใจไทยก็ย่อมทำให้พรรครัฐบาลไม่สำเร็จแน่นอน

พรรคภูมิใจไทยจึงเป็นพรรคตัวแปรที่สำคัญในการรวบรวมเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยอีกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สูตรนี้ หากพรรคก้าวไกลไม่โหวตฟรีๆ ให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ก็ยังไม่น่าจะเพียงพอ เพราะเนื่องจากหากไม่ได้มีพรรค 2 ลุงเข้าร่วมรัฐบาลด้วย ก็จะไม่สามารถรวบรวมเสียงให้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภา 376 เสียงอยู่ดี

เพราะหากไม่มีพรรค 2 ลุง และพรรคก้าวไกลไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ส.ส.รวบรวมกันทั้งหมดก็ได้เพียงแค่ 270 เสียง โดยยังไม่สามารถมีนายกรัฐมนตรีได้ เพราะยังขาดเสียงสนับสนุนอีก 106 เสียง ซึ่งต้องมาจาก ส.ว.เท่านั้น

ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า หากพรรคก้าวไกลไม่โหวตกลับให้พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยจะได้การสนับสนุนจัดตั้งรัฐบาลได้นั้นจำเป็นต้องมีเสียง ส.ว.ด้วย

ทำให้พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว. เป็นตัวแปรที่สำคัญอีกพรรคหนึ่งตามมาด้วย จึงจะทำให้พรรคเพื่อไทยมีโอกาสที่จะจัดตั้งรัฐบาลพร้อมเสียง ส.ว.

เพราะหากไม่มีพรรคก้าวไกล (153 เสียง) เป็นพรรคร่วมรัฐบาลและไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย และไม่มีพรรค 1 ลุง คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ (36 เสียง) และหากไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ (24 เสียง) โดยให้ 3 พรรคนี้ไปเป็นฝ่ายค้าน เสียงก็จะหายไปจากการจัดตั้งรัฐบาล 213 เสียง “พรรคที่เหลือ” ก็มี ส.ส.รวมกันอีกจำนวน 287 เสียง

โดยมีพรรคพลังประชารัฐ (41 เสียง) พรรคภูมิใจไทย (70 เสียง) และพรรคเพื่อไทย (141 เสียง) เป็นแกนหลักรวมกันได้ 252 เสียงไปก่อนที่ทำให้เกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่า พรรคที่เหลือจะมารวมกันได้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรประมาณ 287 เสียง (ซึ่งมีความมั่นคงเพียงพอในสภาผู้แทนราษฎร) แต่ก็ยังต้องการเสียงจาก ส.ว.อีกประมาณ 89 ที่นั่ง ซึ่งไม่เกินกำลังสำหรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่จะรวบรวมได้อย่างแน่นอน

แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามสมการการเมืองนี้ จะมีความลงตัวได้อย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี และจะทำอย่างไรให้พรรคเพื่อไทยจะอธิบายต่อสังคมได้ว่าไม่ผิดคำพูดที่จะไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐนั้นยังน่าคิดอยู่มาก

โดยเฉพาะเงื่อนไขอะไรที่จะทำให้พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคพลังประชารัฐหันมาโหวตไขว้ขั้ว เพื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยนั้น แลกกับอะไร?

เพราะหากยังตกลงจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ทั้งพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ต่างก็ยังคงรักษาการรัฐมนตรีในหลายกระทรวง และล้วนเป็นกระทรวงสำคัญทั้งสิ้นจริงหรือไม่?

โดยทั้ง 3 พรรคนี้ คือ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย จะต้องไปเจรจาตกลงกันเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ในที่สุด

แต่แสดงให้เห็นว่าพรรคภูมิใจไทยสำคัญที่สุดในทุกกรณี

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ เพราะมี ส.ว. จะเป็นตัวแปรที่สำคัญเฉพาะในกรณีที่พรรคก้าวไกลไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

และพรรคพลังประชารัฐที่มี ส.ว. อยู่ในมือแล้วทำได้เช่นนี้ ย่อมมีความสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ ร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย สามารถกำหนดแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนอื่นที่ไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทยได้ด้วย โดยไม่ต้องสนใจคะแนนเสียงจากพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ นายอนุทิน ชาญวีรกุล ด้วย จริงหรือไม่?

พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี ส.ว.อยู่ในมือ จึงเป็นพรรคการเมือง ที่จะทำให้รัฐบาลแบบไขว้ขั้วมีเสถียรภาพ โดยปราศจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ปราศจากพรรคก้าวไกล หรือปราศจากพรรคประชาธิปัตย์

ส่วนความคิดการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปก่อนแล้วไปดูดงูเห่าภายหลังเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะนอกจากการจะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ฝืนกระแสสังคมแล้ว ยังต้องอาศัยเสียง ส.ส.อย่างน้อย 126 ที่นั่งขึ้นไป เพื่อรวมกับ ส.ว.อีก 250 ที่นั่ง (สมมติว่ามีการลงมติเป็นเอกภาพ) เพื่อจะรวมกันในรัฐสภาให้ได้ 376 ที่นั่งไปก่อน

ลำพังเพียงพรรค 2 ลุงรวมกัน คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 ที่นั่ง และพรรคพลังประชารัฐ 41 ที่นั่ง รวมกันมีเพียงแค่ 77 ที่นั่ง ยังขาดอีก 49 ที่นั่งเพื่อให้ถึง 126 ที่นั่ง ดังนั้น ในฝ่ายรัฐบาลเดิมนั้นพรรคภูมิใจไทยซึ่งมีอยู่ 70 ที่นั่ง จึงเป็นเพียงพรรคเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เกิดสูตรนี้ได้

ดังนั้น พรรคภูมิใจไทยก็เป็นพรรคการเมืองตัวแปรที่สำคัญที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปก่อนอีกเช่นกัน

แต่สมมติว่า เกิดอุบัติเหตุโชคร้ายเกิดการยุบพรรคก้าวไกล และหรือยุบพรรคเพื่อไทยเกิดขึ้น ก็จะเป็นผลทำให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 พรรคหายไป หรือแม้แต่หัวหน้าพรรคก้าวไกลถูกตัดสินให้ขาดคุณสมบัติด้วยคดีใดคดีหนึ่งแล้ว หรือจำนวน ส.ส. เปลี่ยนไปตามเขตต่างๆ พรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทยก็จะยังคงเป็นตัวแปรที่สำคัญยิ่งขึ้นไปอีกเช่นกัน

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่า พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมืองตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ในทุกสมการการเมืองอย่างแน่นอน ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐจะมีความสำคัญในบางสมการเช่นกัน แต่เงื่อนไขเรื่องการที่พรรคเพื่อไทยลั่นวาจาว่าจะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐนั้น

ใครบอกว่า ไม่ร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทย ก็เตรียมตัวเป็นฝ่ายค้านสถานเดียว
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

16 พฤษภาคม 2566

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=782555259904843&id=100044511276276


กำลังโหลดความคิดเห็น