xs
xsm
sm
md
lg

หนังชีวิต! สื่อนอกชี้เกมจัดตั้ง รบ.ไทยยังไม่แน่นอน แม้ 'ก้าวไกล' คว้าชัยศึกเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยหลังศึกเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ (14 พ.ค.) ระบุแม้ 2 พรรคที่คว้าเก้าอี้ได้มากที่สุดกำลังหาทางเอาชนะความได้เปรียบที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อกลุ่มก้อนที่ได้รับการสนับสนุนจากทหาร แต่ในความเป็นจริงแล้วการจัดตั้งรัฐบาลอาจเป็นเรื่องยาก และบางส่วนถึงขั้นมองว่าคณะบริหารชุดใหม่อาจจบลงด้วยการที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ

รอยเตอร์ระบุว่า การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน และท้ายที่สุดแล้วยังไม่อาจรับประกันได้ว่ามันจะประสบความสำเร็จ

ผู้นำพรรคก้าวไกล ซึ่งคว้าชัยชนะได้อย่างน่าประหลาดใจ บอกว่าพรรคของเขาร่วมกับพรรคการเมืองฝักใฝ่ประชาธิปไตยอื่นๆ หลายพรรค รวมกันแล้วมีคะแนนเสียง 310 เสียง ในสภาผู้แทนราษฎรที่มีทั้งหมด 500 เสียง

สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า ในประเทศอื่นๆ เกือบทุกชาติ คะแนนเสียงดังกล่าวจะเป็นเส้นทางที่ชัดเจนสำหรับจัดตั้งรัฐบาล แต่ในไทย ดินแดนที่กองทัพผู้ทรงอิทธิพลก่อเหตุรัฐประหารโค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2014 ได้จัดตั้งวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง 250 เสียง ซึ่งจะมีส่วนร่วมในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเช่นกัน

พวกนักวิเคราะห์บอกกับรอยเตอร์ว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในลำดับถัดไป หรือบางทีอาจกำลังเกิดขึ้นแล้วนั่นก็คือ การเจรจาหลังฉากในการดึงพรรคอื่นๆ เข้าร่วมรัฐบาลผสม เพื่อให้ได้ 376 เสียง ที่จำเป็นสำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาล

รายงานข่าวของรอยเตอร์ระบุว่า ในขณะที่ก้าวไกลกำลังเฉลิมฉลองชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ในสัปดาห์นี้ และพันธมิตรอย่างเพื่อไทย แสดงความยินดีกับพวกเขาและเรียกร้องให้ฝ่ายอื่นๆ เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล แต่หลายเชื่อว่าความเป็นจริงแล้วพรรคเพื่อไทยมีทางเลือกมากที่สุดในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล

"มีความแตกต่างกันในแง่ของยุทธศาสตร์การเมืองของ 2 พรรคนี้" รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความเห็นกับรอยเตอร์ "พรรคก้าวไกลเลือกโหมดแห่งการเปลี่ยนแปลงแบบไม่ประนีประนอม ส่วนเพื่อไทยเลือกโหมดแห่งการเปลี่ยนแปลงแบบประนีประนอม"

รอยเตอร์ระบุด้วยว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเป็นแคนดิเดตคนเดียวของพรรคก้าวไกล อาจถูกตัดสิทธิหากคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นพ้องคำร้องเรียนที่ยื่นเอาผิดกับเขา กรณีไม่ยอมขายหุ้นในบริษัทสื่อมวลชนแห่งหนึ่งก่อนศึกเลือกตั้ง ซึ่งละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง อันเป็นชะตากรรมเดียวกับผู้ก่อตั้งพรรคของเขาเคยเผชิญมาก่อนในปี 2019

สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า กุญแจสำคัญสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลใดๆ ที่มีเสียรภาพ อาจเป็น 2 พรรคอื่นๆ ในรัฐสภา ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย ของอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีสาธารณสุข ที่มี 70 ที่นั่ง และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี 25 เสียง ซึ่งเคยเลือกข้างรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนโดยทหารในอดีตที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมี 40 เสียงของพรรคพลังประชารัฐ ที่นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐประหารที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยึดอำนาจในปี 2014 ทั้งนี้ พล อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ แยกทางกันก่อนถึงศึกเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม พวกนักวิเคราะห์มองว่าทั้ง 3 พรรค ดูเหมือนจะไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล สืบเนื่องจากคำสัญญาระหว่างหาเสียงเลือกตั้งอันเป็นที่ถกเถียงเกี่ยวกับการปรับแก้กฎหมายอันเข้มงวดต่อการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์

พรรคก้าวไกลอ้างว่าพวกเขาแค่ต้องการแก้กฎหมายเพื่อป้องกันการตีความผิด ขณะที่มีประชาชนมากกว่า 240 คน จำนวนมากเป็นผู้ที่เคยเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐบาลปัจจุบันที่ได้รับการสนับสนุนจากทหาร ถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี

รายงานของรอยเตอร์ระบุว่าในช่วงเย็นวันพุธ (17 พ.ค.) พรรคภูมิใจไทยแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน โดยเผยแพร่ถ้อยแถลงว่าจะไม่มีวันสนับสนุนนายกรัฐมนตรีรายใดก็ตามที่สนับสนุนปรับแก้กฎหมายหมิ่นสถาบัน เท่ากับเป็นการปฏิเสธเข้าร่วมในรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคก้าวไกลโดยปริยาย

พรรคเพื่อไทยมีความระมัดระวังมากกว่าในการสื่อสารของพวกเขาเกี่ยวกับประเด็นสถาบัน และอาจทำให้พวกเขามีทางเลือกมากกว่า ตามรายงานรอยเตอร์

"เพื่อไทยถือไพ่อุบแผนเอาไว้" ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ "เพื่อไทยอาจยังคงไม่ต้องการเป็นรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคก้าวไกล เพราะว่าวาระของพรรคก้าวไกลในประเด็นกฎหมายหมิ่นสถาบันและปฏิรูปสถาบัน"

รอยเตอร์ระบุว่า เรื่องแปลกๆ อาจเกิดขึ้นได้เหมือนกัน นั่นคือรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคเพื่อไทย โดยมีพรรคพลังประชารัฐเข้าร่วม แม้ฝ่ายหลังจะนำโดย พล.อ.ประวิตร นายทหารที่เกี่ยวข้องกับการโค่นรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชานิยม ซึ่งก่อตั้งโดยทักษิณ ชินวัตร มหาเศรษฐีโทรคมนาคม ถึง 2 ครั้ง ในปี 2006 และปี 2014

สำนักข่าวรอยเตอร์ตั้งข้อสังเกตว่า ทักษิณ ซึ่งลี้ภัยตนเองในต่างแดน เมื่อเร็วๆ นี้บอกว่าเขาจะเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน และการทำข้อตกลงกับพรรคพลังประชารัฐอาจทำให้เรื่องดังกล่าวมีความเป็นไปได้ และวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งจากทหารอาจเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม โจชัว เคอร์แลนต์ซิค เจ้าหน้าที่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขององค์กรสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council on Foreign Relations) มองว่าพรรคเพื่อไทยไม่น่าจะเลือกรัฐบาลผสมทางเลือกอื่น "ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยจะยึดมั่นอยู่กับพรรคก้าวไกล" เขากล่าว พร้อมบอกว่าพันธมิตรของพวกเขาอาจทำให้พรรคเพื่อไทยดูเหมือนกำลังทรยศเจตจำนงของประชาชน

อีกหนึ่งในความเป็นไปได้ แม้ดูเหมือนจะไม่มีทางเป็นได้แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ในทางคณิตศาสตร์ นั่นคือ สมาชิกวุฒิสภาและบรรดาพรรคการเมืองฝักใฝ่กองทัพที่พ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ (14 พ.ค.) อาจจับมือลงคะแนนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอนุรักษนิยมที่พวกเขาเลือก อย่างไรก็ตามชัดเจนว่ามันเป็นการปฏิเสธเจตจำนงของประชาชนและเสี่ยงลากผู้ประท้วงกลับสู่ท้องถนน ซึ่งเคยฉุดไทยดำดิ่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

กระนั้นก็ตาม ซาคารี อาบูซา ศาสตราจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ ในวอชิงตัน บอกว่ามันเป็นสถานการณ์ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด "ผมยังคงคิดว่ารัฐบาลอนุรักษนิยม ด้วยการสนับสนุนจากวุฒิสภา มีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะปรากฏรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคฝักใฝ่ประชาธิปไตย" อาบูซากล่าว "เจตจำนงของประชาชนดูเหมือนจะถูกขัดขวางอีกครั้ง"

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น