“นิพิฏฐ์” เตือน “ก้าวไกล” เสนอแก้ ม.112 โดยให้ สำนักงานราชฯ แจ้งความร้องทุกข์ เป็นการนำสถาบันฯ มาเป็นคู่กรณีกับประชาชน “แก้วสรร” เทียบให้เห็น ฉบับร่างแก้ไขกับฉบับปัจจุบัน ซัด นี่คือ เล่ห์อำพรางทางกฎหมาย
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (20 พ.ค. 66) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ หัวข้อ “อย่าให้พระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีกับประชาชน” โดยระบุว่า
- ผมฟังคำให้สัมภาษณ์ของ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ฝ่ายกฎหมายพรรคก้าวไกล และมีชื่อจะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร อยู่ด้วยคนหนึ่ง กล่าวว่า มีความจำเป็นต้องแก้ ม.112 เพราะพรรคเคยหาเสียงไว้ และยกเหตุผลหลายประการในการแกั ม.112 เช่น แก้อัตราโทษ, แก้ให้เป็นกฎหมายที่ยอมความได้, แก้ให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ และ ให้นำเรื่องนี้ออกจากหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ
- ผมมีความเห็นแย้ง เกือบทุกข้อของพรรคก้าวไกล วันนี้ เอาบางข้อก่อน
- ประเด็นให้ สำนักงานราชเลขาธิการ เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ ผมเห็นแย้งว่า การให้สำนักราชฯ แจ้งความประชาชน เป็นการนำสถาบันฯ มาเป็นคู่กรณีโดยตรงกับประชาชน สถาบันฯเป็นเรื่องของความมั่นคง หากประชาชนเห็นว่า ใครทำความเสียหายให้สถาบันฯ ก็ถือว่าเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคง ประชาชนก็ควรมีสิทธิแจ้งความร้องทุกข์ได้ อย่าให้หน่วยงานของสถาบันฯ แจ้งความเป็นคู่กรณีกับประชาชนเลย เพราะสถาบันฯ ต้องอยู่เหนือความขัดแย้งกับประชาชน
- สมมติว่า มีการกระทำความผิดตาม ม.112 อยู่ในตำบล หมู่บ้าน ไกลๆ ต้องให้สำนักราชฯ เดินทางไปแจ้ง ในตำบล หมู่บ้าน นั้นเลยหรือครับ
- การแก้ไขเรื่องนี้ จึงควรมีความชัดเจน ว่าจะแก้อย่างไร อย่าหลบๆ ซ่อนๆ
- ผมไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎรกับเขาหรอก ไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองในการแสดงความเห็น ทำได้แค่นี้แหละ แต่ในฐานะประชาชน ผมยังเห็นว่า ความผิดต่อสถาบันฯ เป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ประชาชนจึงมีสิทธิปกป้องสถาบัน หากเห็นว่า ใครทำผิด ประชาชนก็ควรมีสิทธิแจ้งความร้องทุกข์ได้ ส่วนตำรวจ/อัยการ จะฟ้องหรือเปล่า นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งต้องว่าไปตามข้อเท็จจริง ผมจึงอยากขอร้องพรรคก้าวไกล ว่า ท่านได้อำนาจแล้ว ก็ขอให้ใช้อำนาจนั้นปกป้องสถาบันฯ การทำให้สถาบันฯ เป็นคู่กรณีกับประชาชน มิใช่การปกป้องเลยครับ ในความเห็นส่วนตัวของผม เป็นการบ่อนเซาะและทำลายสถาบันเสียด้วยซ้ำ จึงขอให้พรรคก้าวไกล ทบทวน/
ขณะเดียวกัน นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการ ได้เผยแพร่บทความในลักษณะถาม-ตอบเรื่อง ก้าวไกล..ทำอะไรกับ 112? โดยเนื้อหาระบุว่า
ถาม วันนี้ ก้าวไกล เขายังยืนยันนะครับว่า เขาเสนอแก้ไข 112 เท่านั้น ไม่ใช่ยกเลิก
ตอบ ถ้าเช่นนั้น ผมก็ต้องขอวิเคราะห์ฉายซ้ำให้เห็นกันอีกทีว่า จริงๆ แล้วร่างกฎหมาย ที่เขาเคยเสนอนั้น มัน “ยกเลิก” หรือ “แก้ไข” กันแน่
ถาม ขอคำอธิบายก่อนครับว่า “ความเป็น 112” ในกฎหมายอาญาปัจจุบัน คืออะไร
ตอบ เรื่องความผิดทางวาจา ไปพูดจาใส่ความให้เขาเสียหาย หรือดูหมิ่นให้เสียศักดิ์ศรีนี้ กฎหมายเรามีสองระบบ คือระบบคุ้มครองคนธรรมดา กับระบบคุ้มครองสถาบัน เช่น ถ้าดูหมิ่นคนธรรมดาก็โทษเบาแค่ลหุโทษ แต่ถ้าดูหมิ่นในหลวง ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นศาล ก็เป็นอีกระบบหนึ่งที่ถือเป็นความผิดต่อแผ่นดินข้อห้ามเคร่งครัดขึ้น หรือโทษหนักขึ้น เหตุเพราะมุ่งคุ้มครองสถาบัน ทั้งสถาบันประมุข สถาบันการปกครอง และสถาบันทางกฎหมาย
กฎหมายใหม่ของก้าวไกล คือ เลิกไม่คุ้มครองในหลวงด้วยระบบคุ้มครองสถาบันอีกต่อไป ให้ถือเป็นคนธรรมดาที่เผอิญเกิดมาเป็นในหลวงเท่านั้น เมื่อเลิกคุ้มครองแบบสถาบัน การคุ้มครองแบบคนธรรมดาก็เข้ามาแทน แต่เวลาเขียนเป็นกฎหมาย ก็ต้องแยกบัญญัติกำหนดเงื่อนไขทางปฏิบัติไว้เป็นพิเศษบ้าง
ถาม แล้วการคุ้มครองในหลวงจากปากคนจะเปลี่ยนไปอย่างไร ด้วยกฎหมายก้าวไกล
ตอบ จะเปลี่ยนไปอย่างนี้ครับ
ถาม เทียบอย่างนี้แล้ว ในหลวงก็กลายเป็นคนธรรมดาด้วยกฎหมายก้าวไกล
ตอบ ถูกต้องครับ ต่อไปนี้คนเป็นในหลวงจะถูกเล็งเป้า เสียหายจากปากคนได้ทุกวัน สำนักพระราชวังต้องจ้างเหมาสำนักงานทนายความไว้คอยแจ้งความเลย ตรงนี้คุณชวน หลีกภัยทำถูกแล้ว ที่ไม่บรรจุร่างกฎหมายของก้าวไกลเข้าวาระประชุมสภาผู้แทน โดยเหตุที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งระบุไว้ว่า ทรงเป็นที่สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ แต่ถ้าภายหน้ามีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จริง เขาคงเลิกบทนี้ด้วย
ถาม ทำไมเราถึงวิพากษ์ในหลวงไม่ได้
ตอบ สถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็น “สติของประเทศ” ที่อยู่เหนือฝักฝ่าย การเมืองมาแล้วก็ไป ในหลวงไม่ไปไหน เราจึงให้พระราชอำนาจที่จะทรงยับยั้งร่างกฎหมายได้ เรียกรัฐบาลมาสอบถามหรือให้คำแนะนำได้ ราชการสำคัญที่ริเริ่มก็ต้องกราบทูลรายงานให้ทรงทราบด้วย บ้านเมืองแตกแยกจะฆ่าแกงกัน ก็ทรงเรียกมาพูดคุยหยุดจลาจลได้
พระราชอำนาจทั้งหมดนี้ จะคุ้มแผ่นดินได้จริง ก็ต้องคุ้มครอง “บารมี” ของในหลวงด้วย จะให้วิพากษ์กันจนเละไม่ได้ เหตุผลนี้นี่เอง ที่ 112 ต้องเป็นความผิดต่อแผ่นดิน ใครที่ไม่ยอมรับองค์คุณเช่นนี้ของสถาบัน เขาก็ย่อมเห็นว่า 112 เป็นกฎหมายที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นธรรมดา จึงต้องแก้กฎหมายให้ทรงเป็นคนธรรมดาที่วิพากษ์ได้ จนทรงรับเละในที่สุด
ถาม ผมอ่านร่างกฎหมายของก้าวไกลแล้ว ทำไมเขาเอื้อมมาแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทและดูหมิ่นด้วย
ตอบ เป้าหมายของเขาจริงๆ อยู่ที่เลิก 112 ให้ในหลวงถูกใส่ความได้วิพากษ์ได้เช่นคนธรรมดาทั่วไป แต่เพื่อให้ดูดีว่านี่คือการแก้กฎหมายเพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เขาจึงเอื้อมมาแก้กฎหมายลดโทษหมิ่นคนธรรมดา หมิ่นเจ้าพนักงาน หมิ่นศาลด้วย เช่น ถ้าหมิ่นประมาทคนธรรมดา ก็เลิกโทษจำคุก 1 ปี จนเหลือแต่โทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาทเป็นต้น ต่อไปจะด่าใครมีเงินสองหมื่นก็ด่าได้สบายไม่ต้องกลัวติดคุกแล้ว ดูหมิ่นเจ้าพนักงานก็เช่นกัน มีเงินก็ด่าได้แล้ว
ถาม เอื้อมมือมาลดโทษความผิดพวกนี้ ให้คนธรรมดาด่ากันเองได้สะดวกใจขึ้นทำไม มันไม่ใช่การส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ตรงไหนเลย ยกเลิก ๑๑๒ ให้คนวิพากษ์ในหลวงได้เช่นคนธรรมดาก็สมใจแล้ว ไม่ใช่หรือ
ตอบ มันเป็นม่านกำบังให้คนหลงเชื่อว่า ร่างกฎหมายนี้ก้าวไกลมุ่งขยายเสรีภาพโดยรวม ไม่ใช่จ้องแต่จะล้มสถาบันลูกเดียวอย่างที่พูดกัน
นี่คือ เล่ห์กลอำพรางทางกฎหมายครับ เขาเชื่อจริงๆ ว่า คนไทยยังโง่อยู่