แก้วสรร อติโพธิ เขียนบทความ "พรรคก้าวไกล...แก้ไขหรือยกเลิก มาตรา 112?" ชี้ หมดความเป็นสถาบัน เหลือแต่ความเป็นคนธรรมดาเท่านั้น ทำให้เป็นเรื่องส่วนตัว กษัตริย์ต้องร้องทุกข์เอง กฎหมายก้าวไกลเขียนให้ สำนักพระราชวังร้องทุกข์ในสามเดือน ปรับเท่านั้นก็ได้ ถ้าจำคุกก็ไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสน
วันนี้ (10 พ.ค.) มีการเผยแพร่บทความในหัวข้อ "พรรคก้าวไกล...แก้ไขหรือยกเลิก มาตรา 112?" ซึ่งเขียนโดย นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อดีตเลขาธิการคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งกล่าวถึงนโยบายพรรคก้าวไกล เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ระหว่างนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ระบุว่า
ถาม : ตกลงพรรคก้าวไกล เขาจะยกเลิกหรือแก้ไข มาตรา 112 กันแน่ พิธาบอกยกเลิก แต่ธนาธรกลับบอกว่าแก้ไข
ตอบ : พิธาพูดความจริงครับ วันนี้ผมเพิ่งได้ดูร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอเข้าสภาแล้ว ชัดเจนว่าเป็นการเลิกการคุ้มครองพระบารมี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทิ้งไปเลย คงเหลือแต่การคุ้มครองชื่อเสียงของกษัตริย์ด้วยกฎหมายหมิ่นประมาทเช่นคนทั่วไปเท่านั้น โดยเขาเขียนกฎหมายเพิ่มเติมทางปฏิบัติเป็นพิเศษขึ้นมาบ้าง เช่น ให้ในหลวงไม่ต้องร้องทุกข์เอง ให้สำนักพระราชวังร้องทุกข์แทนได้ เป็นต้น
ถาม : ในหลวงก็กลายเป็นคนธรรมดาไปเลย ตามกฎหมายใหม่ของเขา
ตอบ : ครับ ... คือการคุ้มครองศักดิ์ศรีของคนนี่ กฎหมายไทยเรามีการคุ้มครองสองระบบ ถ้าเป็นคนธรรมดา ก็ห้ามหมิ่นประมาทคือใส่ความให้เขาเสียหาย ถ้าดูหมิ่นก็ห้ามเฉพาะ ดูหมิ่นซึ่งหน้าให้เขาเจ็บใจเท่านั้น แต่ถ้าลับหลังเช่นเดินตามถนนกระทืบรูปไอ้แก้วสรร ไปเรื่อยๆ อย่างนี้ไม่ผิด
สำหรับในหลวงนั้นเราคุ้มครองไปถึง “พระบารมี” ไม่ใช่แค่ศักดิ์ศรีเหมือนคนธรรมดา ข้อห้ามจึงห้ามทั้งหมิ่นประมาท ห้ามทั้งดูหมิ่นไม่ว่าซึ่งหน้าและลับหลัง ถือเป็นความผิดต่อแผ่นดิน คือแผ่นดินเสียหาย ตำรวจดำเนินคดีได้เลยโดยไม่ต้องให้ในหลวงร้องทุกข์
ถาม : ช่วยเปรียบเทียบหน่อยครับ ว่าความคุ้มครองจะเปลี่ยนไปอย่างไร
- ประเด็น
(1) ความคุ้มครองพระบารมีตามมาตรา 112
(2) ก้าวไกลยกเลิก 112 จนเหลือแต่ คุ้มครองศักดิ์ศรี เท่านั้น
- กรอบคุ้มครอง
(1) กว้างกว่าหมิ่นประมาท ดูหมิ่นลับหลังก็ไม่ได้ แสดงความอาฆาตมาดร้ายก็ไม่ได้
(2) กษัตริย์ถูกมองเป็นคนธรรมดา เหลือแต่ความคุ้มครองชื่อเสียงเท่านั้น
- คนคุ้มครอง
(1) เป็นความผิดต่อแผ่นดินยอมความไม่ได้ รัฐดำเนินคดีได้เอง กษัตริย์ไม่ต้องร้องทุกข์ ชาวบ้านกล่าวโทษเองได้
(2) เป็นเรื่องส่วนตัว กษัตริย์ต้องร้องทุกข์เอง กฎหมายก้าวไกลเขียนให้ สำนักพระราชวังร้องทุกข์ในสามเดือน
- โทษ
(1) มีแต่จำคุก 3-15 ปี ไม่มีปรับ
(2) กฎหมายก้าวไกลเขียนให้ ปรับเท่านั้นก็ได้ ถ้าจำคุกก็ไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสน
- ข้อแก้ตัว
(1) แก้ตัวไม่ได้เลย อ้างว่าจริงเป็นประโยชน์ก็ไม่ได้ อ้างว่าวิพากษ์โดยสุจริตก็ไม่ได้
(2) อ้างว่าวิพากษ์โดยสุจริตเพื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ อ้างว่าจริงและไม่ใช่เรื่องส่วนตัวได้
- สรุป
(1) นับถือให้เป็นสถาบันส่วนรวมที่ต้องคุ้มครองโดยส่วนรวม
(2) หมดความเป็นสถาบัน เหลือแต่ความเป็นคนธรรมดาเท่านั้น
ถาม : ถ้าเหลือแต่ความเป็นคนธรรมดาอย่างนี้ นี่ก็คือการยกเลิกสินะครับ
ตอบ : นี่คือการยกเลิกแน่นอนครับ ถ้ายังคง 112 ไว้แล้วแก้ให้ชัดเจนขึ้นแกล้งกันยากขึ้น อย่างนี้จึงจะเป็นการแก้ไขเพราะหลักการคุ้มครอง ”พระบารมี” ยังดำรงอยู่
ถาม : ทำไมกฎหมายอาญาไทย ต้องคุ้มครอง “พระบารมี” ด้วย
ตอบ : เพราะรัฐธรรมนูญไทยกำหนดให้เรามีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญนั้นจะขาดพระบารมีไม่ได้ เราให้สถาบันนี้เป็นเช่นสติของสังคมที่อยู่เหนือความขัดแย้ง ให้ทรงยับยั้งร่างกฎหมายได้ เรียกรัฐบาลมาแนะนำสอบถามได้ จะยุบสภาก็ต้องถวายเหตุผล บ้านเมืองขัดแย้งจะฆ่ากันตาย ก็ทรงเป็นคนกลางยับยั้งได้ ทั้งหมดนี้ถ้าไม่มี “พระบารมี” แล้ว พระราชอำนาจจะสิ้นไปเลย
ถาม : การเลิกความคุ้มครองตาม 112 จึงเป็นการทำลายความเป็นสถาบัน
ตอบ : เป็นเช่นนั้นครับ ประธานชวน หลีกภัย ทำถูกแล้ว ที่ไม่บรรจุร่างกฎหมายนี้เข้าวาระสภาผู้แทนราษฎร เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดแจ้งว่า
“พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้”
ถ้าใครอยากดูหมิ่น หรือวิพากษ์ในหลวงได้ตามถนัด ก็ต้องรอให้เขาชนะเลือกตั้งก่อน