xs
xsm
sm
md
lg

จุดจบของประชาธิปไตย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทนง ขันทอง

เมื่อเร็วๆ นี้ The Economist Intelligence Unit ได้ทำเซอร์เวย์ผ่านรายงานดัชนีประชาธิปไตย เพื่อตรวจสอบสถานภาพของระบอบประชาธิปไตยในโลกนี้ว่า มีความก้าวหน้า ทรงตัว หรือถอยหลังอย่างไร

ถ้าหากมองให้ลึกลงไป จะเห็นได้ว่า การทำรายงานดัชนีประชาธิปไตยของ The Economist Intelligence Unit ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของนิตยสาร The Economist ของอังกฤษมีเป้าหมายในการยกยอระบอบประชาธิปไตยที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกลุ่มแองโกลอเมริกันให้เป็นโมเดลของโลก

The Economist Intelligence Unit ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของนิตยสาร The Economist ของอังกฤษสรุปในรายงาน Democracy Index Report สำหรับปี 2022 ว่า มีเพียง 8% ของประชากรโลกเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่ทำงานจริงๆ อย่างเต็มที่

ในขณะเดียวกัน 37% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ภายใต้ประชาธิปไตยที่บกพร่อง (flawed democracy) ส่วนอีก 55% ที่เหลือของประชากรโลกไม่ได้อยู่ในประชาธิปไตยเลย

ถ้าหากมองให้ลึกลงไป จะเห็นได้ว่า การทำรายงานดัชนีประชาธิปไตยของ The Economist Intelligence Unit มีเป้าหมายในการผูกขาดการให้คำจำกัดความ หรือการเป็นเจ้าของโมเดลประชาธิปไตยของโลกใบนี้ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกลุ่มแองโกลอเมริกัน


The Economist Intelligence Unit ใช้ตัวชี้วัด 60 ตัวจาก 5 หมวดหมู่ด้วยกันคือ

ขบวนการเลือกตั้ง และความหลายหลาก

วัฒนธรรมทางการเมือง

การมีส่วนร่วมของประชาชน

การทำงานของรัฐบาล

เสรีภาพของประชาชน


แต่ละหมวดหมู่จะมีคะแนนให้ตั้งแต่ 0 ถึง 10 ในขั้นตอนสุดท้าย คะแนนจะได้จากการเฉลี่ยค่าของคะแนนของทั้ง 5 หมวดหมู่

ประเทศที่ได้คะแนน 8-9 ถือว่ามีประชาธิปไตยเต็มใบ

ประเทศที่ได้คะแนน 6-7 ถือว่ามีประชาธิปไตยที่บกพร่อง

ประเทศที่ได้คะแนน 4-5 ถือว่าเป็นประเทศไฮบริดระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย

ประเทศที่ได้คะแนน 1-3 ถือว่าเป็นประเทศเผด็จการหรืออำนาจนิยม

เหตุการณ์ใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามยูเครน หรือมาตรการคุมเข้ม

ตั้งแต่มี Democracy Index Report ในปี 2006 คะแนนประชาธิปไตยเฉลี่ยของโลกได้ลดจาก 5.52 เป็น 5.29 ในปี 2022

สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั่วโลกมองว่าเป็นเสาหลักของระบอบประชาธิปไตย The Economist Intelligence Unit จัดได้คะแนน 7.8 หรือมีอันดับที่ 30 หรือลดลง 4 อันดับจากปี 2021 เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

คะแนนระดับนี้ทำให้สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยที่บกพร่อง โดย The Economist Intelligence Unit ให้เหตุผลว่า สหรัฐฯ มีปัญหา ไล่เลียงมาจากวัฒนธรรมทางการเมืองที่ตกต่ำจากความแตกแยก จนไปถึงเรื่องธรรมาภิบาล แม้ว่าจะมีประชาธิปไตยที่บกพร่อง แต่สหรัฐฯ จะยังคงมีการเลือกตั้งที่เสรี และยุติธรรม รวมทั้งประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ

ความจริงแล้วจะบอกว่าสหรัฐฯ มีประชาธิปไตยที่บกพร่องไม่ถูกต้องเลยทีเดียว เนื่องจากในระบบ 2 พรรคการเมืองของสหรัฐฯ ที่มีพรรครีพับรีกันและพรรคเดโมแครตไม่ได้มีความแตกต่างอะไรโดยทั้งในเรื่องอุดมการณ์ นโยบาย หรือแนวทางการบริหารประเทศ เพราะว่าต่างก็มีผลประโยชน์ร่วมกันในการดูแลผลประโยชน์ของพวก Military Industrial Complex ที่ก่อสงครามที่ไม่มีวันสิ้นสุด และพวกแบงเกอร์ที่เป็นตัวแทนของวอลล์สตรีทที่สร้างระบบหนี้ที่ไม่มีวันชดใช้หมดให้กับทั้งรัฐบาลกลาง และสังคมอเมริกัน ทำให้ชนชั้นกลาง และชนชั้นล่างอเมริกันนับวันจะถูกทอดทิ้งข้างหลังให้เผชิญกับความแร้นแค้นทางเศรษฐกิจ

เบื้องหลังรัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีรัฐลึกควบคุมอยู่

นายโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ หลานชายของอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเพื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้กล่าวว่า : “เราต้องกำจัดการควบคุมรัฐบาลโดยพวกบริษัท ประชาธิปไตยของเรากำลังพัฒนาไปเป็นอำนาจเงินตราของบริษัท เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ บอกคนอเมริกัน 30 ล้านคนว่า กำลังจะโดนตัดคูปองอาหารไป 90% คนอเมริกัน 15 ล้านคนถูกยกเลิก Medicare เดือนมีนาคม รัฐบาลให้เงิน $300 ล้านให้กับธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ และให้ยูเครน $113,000 ล้าน ในขณะที่คนอเมริกัน 57% ไม่มีเงิน $1,000 สำรองในกรณีฉุกเฉิน”

นอกจากนี้ สหรัฐฯ มีการส่งออกประชาธิปไตยผ่านการก่อสงครามในประเทศต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นสงครามเกาหลี เวียดนาม ยูโกสลาเวีย อัฟกานิสถาน อิรัก ลิเบีย ซีเรียที่ผ่านมา เพื่อไปครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ หรือสร้างอิทธิพลทางการเมือง ทำให้สหรัฐฯ โดยเนื้อแท้เป็นจักรวรรดินิยมทางทหาร มากกว่าที่จะเป็นปราการของประชาธิปไตยโลก

จะเห็นได้ว่า การทำดัชนีประชาธิปไตยของ The Economist Intelligence Unit ให้คำนิยามของประชาธิปไตยตามเนื้อผ้าในเชิงแคบ โดยไม่มองโลกของความเป็นจริงว่า ประชาธิปไตยสหรัฐฯ ถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายความมั่นคง ทหาร ธุรกิจ และการเงินที่ชักใยนักการเมืองให้บริหารประเทศเพื่อผลประโยชน์ของรัฐลึก โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม ทำให้การเลือกตั้ง หรือการมีส่วนร่วมของประชาชนในขบวนการทางการเมืองเป็นเพียงพิธีกรรมที่ฉาบฉวย หาสาระไม่ได้เท่านั้น

ดัชนีประชาธิปไตยของ The Economist Intelligence Unit ให้คะแนนแคนาดา 8.88, ให้คะแนนเครือจักรภพอังกฤษ 8.28, ให้คะแนนออสเตรเลีย 8.71, ให้คะแนนนิวซีแลนด์ 9.61

ในกลุ่ม Five Eyes ที่ประกอบด้วยสหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีการแชร์ข้อมูลหรือข่าวกรองลับระหว่างกัน มีเพียงสหรัฐฯ เท่านั้นที่มีประชาธิปไตยที่บกพร่องตามดัชนีประชาธิปไตย ส่วนที่เหลือเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยที่เต็มใบ

เรื่องนี้ช่างน่าขบขันเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าเป็นการให้คะแนนตัวเองสำหรับผู้ออกข้อสอบ โดย The Economist Intelligence Unit ที่มีตระกูลรอธส์ไชลด์ที่ทรงอิทธิพลทางการเงินที่สุดในโลกเป็นเจ้าของ

แคนาดาได้คะแนนประชาธิปไตยเต็มใบได้อย่างไรในเมื่อมีการจับตัวเมิ่ง หว่านโจว ลูกสาวผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ยของจีนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่เธอไม่ได้ทำผิดกฎหมายของแคนาดา แต่สหรัฐฯ สั่งให้แคนาดาจับกุมเมิ่ง หว่านโจวในข้อหาที่คลุมเครือว่าเธอละเมิดกฎหมายแซงชั่นอิหร่านของสหรัฐฯ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองกับจีน ต่อมามีการปล่อยตัวลูกสาวหัวเว่ยหลังจากการเจรจาลับระหว่างสี จิ้นผิง กับโดนัลด์ ทรัมป์ โดยที่แคนาดาไม่ได้รับรู้ แค่เป็นสมุนรับใช้เท่านั้น

รัฐบาลแคนาดา โดยนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโดมีการใช้มาตรการบังคับให้ชาวแคนาดาต้องฉีดวัคซีนทุกคน มีการประท้วงโดยสิงห์รถบรรทุกด้วยการปิดถนนหนทาง และถูกทางเจ้าหน้าที่แคนาดาใช้กำลังปราบปราม นอกจากนี้ ผู้ที่ให้เงินสนับสนุนผู้ชุมนุมประท้วงมาตรการวัคซีนถูกอายัดบัญชีธนาคาร ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

ที่ตลกไปกว่านั้นคือดัชนีประชาธิปไตยให้คะแนนเครือจักรภพอังกฤษว่ามีประชาธิปไตยเต็มใบ ทั้งๆ ที่สกอตแลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือจักรภพอังกฤษต้องการแยกตัวออกเป็นรัฐอิสระ มีการทำประชามติเพื่อแยกเป็นรัฐอิสระในปี 2014 อังกฤษทำทุกอย่างเพื่อขัดขวางไม่ให้สกอตแลนด์ได้อิสรภาพ เพราะว่าถ้าแยกตัวออกไป จะทำให้อังกฤษเสียผลประโยชน์อย่างมากเหลือคณา ปรากฏว่าคะแนนประชามติให้สกอตแลนด์คงอยู่ใต้อังกฤษต่อไป ท่ามกลางความแตกแยกอย่างรุนแรงในสกอตแลนด์เอง สกอตแลนด์เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยเต็มใบ แต่ไม่มีอำนาจอธิปไตยหรือมีอิสรภาพ

ไอร์แลนด์เหนือ และเวลส์ก็ไม่พอใจนักที่ต้องอยู่ภายใต้เครือจักรภาพอังกฤษ รอวันประกาศเอกราช

ส่วนออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ไม่ต้องพูดถึงมีมาตรการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดในช่วงการควบคุมการระบาดของโควิด-19 เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียใช้มาตรการรุนแรงต่อผู้ประท้วงการล็อกดาวน์ที่ไม่สมเหตุสมผล ส่วนนิวซีแลนด์ล็อกดาวน์ทั้งเมืองเพียงแค่มีผู้ติดเชื้อไวรัสเพียงรายเดียว

พิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 สะท้อนให้เห็นว่าอังกฤษยังคงปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยที่เหนียวแน่น มั่นคงโดยใช้ระบอบประชาธิปไตยบังหน้า

สหรัฐฯ และอังกฤษในฐานะผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สร้างระเบียบการเงินโลกใหม่ ผ่านการให้ดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก, ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ผ่านระบบทุนนิยมเสรีนิยม, และระเบียบการเมืองโลกใหม่ผ่านระบอบประชาธิปไตย เพื่อความสะดวกในการครอบงำโลก

มีการสร้างค่านิยมของประชาธิปไตย โดยเน้นการมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชน การเลือกตั้ง ความหลายหลาก สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ผ่านสื่อและระบบการศึกษาที่กลุ่มแองโกลอเมริกันควบคุมเพื่อให้ชาวประชาทั่วโลกยอมรับว่าระบบประชาธิปไตยเป็นระบบการเมืองในอุดมคติที่ดีที่สุดในโลก หรืออย่างน้อยก็เลวน้อยที่สุดในโลก

สิ่งที่ตามมาคือประชาชนในประเทศต่างๆ ถูกชักจูงให้หันหลังให้กับระบบกษัตริย์ หรือระบบเผ่าพันธุ์ดั้งเดิมที่เข้มแข็งอยู่แล้วในการรักษาความมั่นคงของชาติ แล้วไปรับเอาระบอบประชาธิปไตย พร้อมกับเสรีนิยมทุนนิยมที่มาพร้อมกันเหมือนคู่แฝด ที่ดูเหมือนว่าดี แต่กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ระบอบประชาธิปไตย+เสรีนิยมทุนนิยมสร้างแต่ความแตกแยก การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย การสร้างความเหลื่อมล้ำ สร้างความไร้เสถียรภาพทางการเมืองทำให้ง่ายที่มหาอำนาจจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายใน

ประชาธิปไตยทำให้เกิดนักการเมือง และนายทุนพ่อค้าพันธุ์ใหม่ที่มุ่งสร้างผลประโยชน์ ความมั่งคั่งให้ตัวเอง ผ่านการเข้ามาแสวงหาอำนาจทางการเมือง และลดอำนาจของระบบการปกครองแบบดั้งเดิม โดยมีผลประโยชน์ร่วมกับทุนนอกผ่านขบวนการโลกาภิวัตน์

Democracy Index Report 2022 ให้คะแนนประชาธิปไตยเต็มใบสูงสุดให้กับนอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย นอร์เวย์มั่งคั่งจริง มีสวัสดิการทางสังคมสูงเพราะว่ามีทรัพยากรพลังงานที่อุดมสมบูรณ์ กองทุนมั่งคั่งของนอร์เวย์มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมากกว่า $1 ล้านล้าน เพียงพอที่จะดูแลประชากรของตัวเองที่มี 5 ล้านกว่าคนให้กินอยู่อย่างสบายๆ ในอนาคต แต่นอร์เวย์ถูกกล่าวหาโดยนักข่าวที่มีชื่อเสียงนายSeymour Hersh ว่าร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการก่อวินาศกรรมระเบิดท่อก๊าซ Nord Stream 1, 2 ที่รัสเซียใช้ส่งก๊าซไปยังเยอรมนี ทำให้นอร์เวย์ได้ประโยชน์จากการขายพลังงานราคาแพงกว่าให้ยุโรป นอร์เวย์ต้องได้รับผลกระทบที่ตามมาอย่างแน่นอนจากรัสเซีย

สวีเดน และฟินแลนด์ถูกจัดอันดับให้มีประชาธิปไตยเต็มใบเหมือนกัน แต่การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของนาโต ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือทางทหารของทั้งสองประเทศไม่ได้มีการทำประชามติล่วงหน้า แต่เป็นการขับเคลื่อนผ่านผู้นำทางการเมืองที่ได้รับอิทธิพลอีกทอดหนึ่งจากสหรัฐฯ หรืออังกฤษ ท่ามกลางความขัดแย้งทางทหารที่รุนแรงระหว่างนาโตกับรัสเซียในสงครามตัวแทนที่ยูเครน แทนที่จะวางตัวเป็นกลาง สวีเดนกับฟินแลนด์กลับเลือกข้างไปอยู่กับนาโต ทำให้รัสเซียวางขีปนาวุธเล็งใส่ทั้งสองประเทศที่อยู่ดีๆ ก็เอาความมั่นคง หรือความปลอดภัยของประเทศไปเสี่ยงกับภาวะสงครามโดยที่ประชาชนไม่รู้เห็นเป็นใจด้วย

ความเป็นประชาธิปไตยของกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียที่เป็นที่อิจฉาของคนทั่วโลกว่ามีรัฐสวัสดิการที่ดีที่สุด หรือมีระบบการปกครองที่สมบูรณ์ที่สุดต้องได้รับการตีความใหม่

เยอรมนีได้คะแนนประชาธิปไตยเต็มใบหรือ 8.8 แต่เอาเข้าจริง เยอรมนีเป็นประเทศที่ไม่มีอำนาจอธิปไตย เพราะว่ามีฐานทัพอเมริกันตั้งอยู่ และมีอาวุธนิวเคลียร์ของอเมริกันประจำการอยู่ ทำให้ไม่สามารถดำเนินนโยบายต่างประเทศหรือความมั่นคงที่เป็นอิสระได้ แม้ว่าเยอรมนีจะเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของยุโรปก็ตาม

ส่วนฝรั่งเศสได้คะแนนประชาธิปไตยเต็มใบเหมือนกันที่ระดับ 8.07 ที่น่าสนใจคือนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ได้ออกมากล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ได้เวลาแล้วที่ยุโรปจะมีนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับผู้ใด เท่ากับว่านายมาครงยอมรับว่า ยุโรปที่มีประชาธิปไตยระดับสูงแท้ที่จริงแล้วเป็นขี้ข้าทางการเมืองของสหรัฐฯ

รัสเซียเป็นประเทศเผด็จการตามนิยมของดัชนีประชาธิปไตย เพราะว่าได้คะแนน 2.28 น้อยกว่ายูเครนที่ได้คะแนน 5.42 ทั้งๆ ที่ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียมีอำนาจเต็มเปี่ยมในการบริหารประเทศที่มีความมั่นคงสูง และมีเอกภาพภายในสูง ความแตกแยกน้อย ในขณะที่นายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ผู้นำยูเครนเป็นแค่หุ่นเชิดของนาโต ต้องพึ่งพานาโตทางการเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์เกือบ 100% ได้นำพายูเครนสู่หายนะของสงครามโดยไม่มีการเจรจาสันติภาพ จนยูเครนอาจจะถูกลบออกจากแผนที่ได้ในอนาคต

เบลารุสได้คะแนนประชาธิปไตยต่ำสุดในยุโรปที่ 1.99 เพราะถูกมองว่าเป็นบริวารประเทศของรัสเซีย

จีนได้คะแนนประชาธิปไตย 1.94 หรือถูกมองว่าเป็นประเทศเผด็จการ ทั้งๆ ที่จีนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลก โดยไม่ต้องพึ่งพาระบอบประชาธิปไตย เพราะว่าใช้ระบบสังคมนิยม และมีพรรคการเมืองคือพรรคคอมมิวนิสต์เพียงพรรคเดียวที่สามารถสร้างจีนให้พ้นจากความล้าหลังและความยากจน

ในเวลานี้ เทคโนโลยีจีน ระบบอุตสาหกรรมการผลิตของจีน แสนยานุภาพทางทหารของจีนไม่เป็นรองใครในโลก ทำให้เห็นชัดเจนว่าประชาธิปไตยไม่ใช่ทางออกที่แท้จริงในการพัฒนาประเทศ

แน่นอนที่ได้คะแนนประชาธิปไตยต่ำสุดในเอเชียคือเมียนมา เนื่องจากถูกแซงชั่นโดยตะวันตกมาตลอด และมีรัฐบาลทหารปกครอง

ส่วนไทย และประเทศอาเซียนจะมีคะแนนประชาธิปไตยครึ่งใบเท่าๆ กันในระดับ 6-7 คะแนน แต่มันไม่ได้บอกอะไรมาก เพราะว่าอาเซียนต่างก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของตะวันตกแทบทั้งนั้น ยกเว้นเมียนมา ลาว กัมพูชา

อินเดียได้คะแนน 7.04 ซึ่งสมน้ำสมเนื้อ แต่อินเดียมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตัวเอง ไม่เหมือนญี่ปุ่นที่ได้ 8.33, เกาหลีใต้ที่ได้ 8.03, ไต้หวันที่ 8.99 แต่ไม่มีอำนาจอธิปไตยของตัวเอง เพราะดำเนินนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงตามใบสั่งของสหรัฐฯ

สำหรับตะวันออกกลาง หรือแอฟริกามีระดับประชาธิปไตยต่ำ และไม่ค่อยจะมีความมั่นคง เนื่องจากถูกลัทธิล่าอาณานิคมทำลายมาหลายร้อยปี หลังจากได้รับเอกราช ก็ถูกแบ่งแยกและปกครอง เกิดสงครามกลางเมือง สงครามระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการแทรกแซงของมหาอำนาจ

ความจริงแล้วจะเอาประชาธิปไตยเป็นไม้บรรทัดมาวัดความศิวิไลซ์ของประเทศไม่ได้ เนื่องจากอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) มีความสำคัญ หรือสูงกว่าประชาธิปไตย มีประชาธิปไตยแต่ไม่มีอำนาจอธิปไตยก็ไม่มีความหมาย เปรียบเหมือนขี้ข้าของผู้อื่น เช่นเยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้มีคะแนนประชาธิปไตยสูง แต่สอบตกเรื่องอำนาจอธิปไตย ส่วนจีน รัสเซียสอบตกคะแนนประชาธิปไตย แต่ได้คะแนนเต็มด้านอธิปไตยที่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง

ทุกวันนี้ เราเรียนรู้ หรือรับรู้ประชาธิปไตยเหมือนกับว่าเป็นเป้าหมายที่ต้องเดินทางไปให้ถึง หรือเป็นจุดจบด้วยตัวมันเอง ความจริงแล้ว ประชาธิปไตยที่ไม่ให้ความสำคัญของจารีตประเพณีเป็นอุปสรรคของการไปสู่ธรรมาธิปไตยที่เป็นระบบการปกครองในอุดมคติ

ธรรมาธิปไตย คือถือธรรมเป็นใหญ่ ถือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ความยุติธรรม การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การไม่เบียดเบียนกัน การไม่ประสงค์ร้ายต่อกัน การไม่ทำสงครามฆ่ากัน

จะเห็นได้ว่าประเทศที่อ้างประชาธิปไตยส่วนมากจะไม่มีธรรมาธิปไตย ที่ต้องไปควบคู่กับอำนาจอธิปไตย เมื่อไม่มีธรรมาธิปไตยในท้ายที่สุดจะนำมาซึ่งความเสื่อม

ประเทศไทยดั้งเดิมดีอยู่แล้วที่มีระบอบกษัตริย์ที่หวงแหนในอำนาจอธิปไตยของชาติ และมีเป้าหมายที่จะนำพาสังคมไทยไปสู่ธรรมาธิปไตย แต่ถูกรัฐประหารให้อ่อนแอลง มีการนำเอาประชาธิปไตยมาใช้ เพื่อควบคุมไทยให้อยู่ในระบบโลกที่ถูกวางกฎเกณฑ์เอาไว้แล้ว

ประชาธิปไตยกลายเป็นตัวถ่วง หรือเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาสังคมไทยไปสู่สังคมอุดมคติของธรรมาธิปไตย

ถ้าจะวัดกันให้ถูกต้อง ต้องใช้ดัชนีอำนาจอธิปไตย หรือดัชนีธรรมาธิปไตยถึงจะถูกในการวัดความเป็นประเทศที่สมบูรณ์มีสง่าราศี แทนที่จะใช้ดัชนีประชาธิปไตยที่ฉาบฉวย และเต็มไปด้วยความบกพร่อง แต่โดยเนื้อแท้เป็นเครื่องมือของชาติตะวันตกที่จะแบ่งแยกและปกครองโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น