ประธานาธิบดีโจ ไบเดน บอกกับ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ผู้นำฟิลิปปินส์ที่ไปเยือนเมื่อวันจันทร์ (1 พ.ค.) ว่า คำมั่นสัญญาของสหรัฐฯ ในการเข้าป้องกันพันธมิตรของตนอย่างแดนตากาล็อกนั้น “มีความแข็งแกร่งไม่มีทางบุบสลาย” โดยครอบคลุมไปถึงในทะเลจีนใต้ ซึ่งมะนิลากำลังถูกบีบคั้นจากจีน
ด้านมาร์กอส ซึ่งกลายเป็นผู้นำฟิลิปปินส์คนแรกที่ไปเยือนทำเนียบขาวในรอบ 10 ปีมานี้ เน้นย้ำความสำคัญของสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นพันธมิตรแบบมีสนธิสัญญาผูกพันกันเพียงรายเดียวเท่านั้นของประเทศของเขา ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังอยู่ใน “สถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อนที่สุดในโลกในขณะนี้”
อเมริกา และฟิลิปปินส์ย้ำการเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงที่ยืนยาวหลายทศวรรษระหว่างการเยือนของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างกัน ขณะที่สองประเทศพยายามหาทางตอบโต้การดำเนินการที่ก้าวร้าวมากขึ้นของจีนใกล้ไต้หวัน และในทะเลจีนใต้
พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (1) ว่า ผู้นำของประเทศทั้งสองจะทำความตกลงกันเกี่ยวกับหลักปฏิบัติใหม่ๆ เพื่อความร่วมมือทางทหารที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ไบเดนกล่าวกับมาร์กอสในห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาวว่า อเมริกายังคงยึดมั่นพันธกรณีในการปกป้องฟิลิปปินส์ ซึ่งรวมถึงในทะเลจีนใต้
ในคำแถลงร่วมฉบับหนึ่งยังมีการอธิบายขยายความว่า นี่หมายความว่าหากมีการโจมตีด้วยอาวุธใดๆ ต่อกองทัพเรือหรือเครื่องบินของฟิลิปปินส์ในน่านน้ำแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงในทะเลจีนใต้ด้วย จะเป็นเหตุให้สหรัฐฯ ต้องปฏิบัติตามพันธะผูกพันแห่งการร่วมป้องกัน ตามสนธิสัญญาร่วมป้องกันปี 1951 ซึ่งวอชิงตันกับมะนิลาได้ลงนามกันไว้
วอชิงตันนั้นมองว่าฟิลิปปินส์เป็นกุญแจสำคัญสำหรับความพยายามของตนในการต่อต้านการบุกไต้หวันของจีน โดยเมื่อเร็วๆ นี้มะนิลาตกลงอนุญาตให้อเมริกาเข้าถึงฐานทัพเพิ่มอีก 4 แห่งภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมเพิ่มเติม ทว่า ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ระบุว่า อเมริกาจะนำเอาทรัพยากรทางทหารอะไรเข้าไปยังฐานทัพเหล่านั้น
จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ฐานทัพเหล่านั้นยังคงเป็นของกองทัพฟิลิปปินส์ และการดำเนินการในทุกขั้นตอนจะต้องมีการร่วมมือกันอย่างสมบูรณ์ระหว่างสองประเทศ ซึ่งเท่ากับเป็นการยอมรับว่า การประจำการของกองกำลังอเมริกันเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับฟิลิปปินส์
ในคำแถลงร่วมฉบับดังกล่าว มีการระบุว่า ผู้นำทั้งสองย้ำว่า การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันมีความสำคัญเนื่องจากเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของความมั่นคงและความมั่งคั่งของโลก
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า วอชิงตันมองฟิลิปปินส์ว่าอาจเป็นที่ตั้งที่เหมาะสมสำหรับจรวด ขีปนาวุธ และระบบปืนใหญ่เพื่อตอบโต้การยกพลบุกไต้หวันของจีน
อย่างไรก็ตาม มาร์กอสให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวระหว่างอยู่บนเครื่องบินเดินทางไปอเมริกาว่า จีนตกลงแล้วที่จะหารือเรื่องสิทธิในการทำประมงในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นกรณีพิพาทสำคัญที่มีอยู่กับมะนิลา นอกจากนั้น เขาบอกด้วยว่า เขาจะไม่ยอมให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นสถานที่ในการดำเนินการทางทหารใดๆ
ด้านเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ แจกแจงว่า หลักปฏิบัติใหม่ๆ เพื่อความร่วมมือทางทหารระหว่างวอชิงตันกับมะนิลา จะมุ่งเน้นความร่วมมือทางทหารทั้งทางบก ทะเล อากาศ อวกาศ และไซเบอร์สเปซ ขณะที่คณะบริหารของสหรัฐฯ จะส่งเครื่องบินซี-130 จำนวน 3 ลำให้ฟิลิปปินส์ รวมทั้งกำลังหาทาจัดส่งเรือตรวจการณ์ไปให้ฟิลิปปินส์เพิ่มเติมอีกด้วย
การประชุมสุดยอดระหว่างไบเดนกับมาร์กอสในวันจันทร์คราวนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการเยือนอเมริกา 4 วันของมาร์กอสที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (30 เม.ย.)
ในคำแถลงร่วมของไบเดนและมาร์กอส ไม่ได้มีการพาดพิงถึงจีนแบบเอ่ยชื่อ
นอกจากด้านความมั่นคงแล้ว คำแถลงร่วมนี้ระบุว่า ไบเดนจะส่งคณะผู้แทนด้านการค้าและการลงทุนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไปยังฟิลิปปินส์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในการเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานสะอาด อุตสาหกรรมแร่ธาตุสำคัญ และความมั่นคงด้านอาหาร
ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งสองประเทศยังจะเป็นเจ้าภาพร่วมกันในมะนิลาสำหรับการประชุมธุรกิจอินโด-แปซิฟิกประจำปี 2024 ซึ่งเป็นกิจกรรมธุรกิจขนาดใหญ่ของอเมริกาในภูมิภาคนี้ และจะส่งเสริมฟิลิปปินส์ในฐานะฮับห่วงโซ่อุปทานสำคัญในภูมิภาค
คำแถลงร่วมยังระบุว่า อเมริกาและฟิลิปปินส์เล็งเริ่มต้นความร่วมมือกับญี่ปุ่นและออสเตรเลียอีกด้วย
(ที่มา : รอยเตอร์, เอพี)